เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/17110
วันที่: 18 ธันวาคม 2540
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการเรียกเก็บเงินประกันการเช่า
ข้อกฎหมาย: ประเด็นปัญหา
ข้อหารือ

: บริษัทได้เรียกเก็บเงินประกันการเช่าจำนวนหนึ่ง เพื่อเป็นประกันว่าผู้เช่าจะปฏิบัติตามสัญญาเช่าทุกประการตามสัญญาเช่า ดังนี้
    เงินประกัน ผู้เช่าตกลงที่จะมอบเงินประกันการเช่าให้แก่ผู้ให้เช่าเพื่อเป็นการประกันว่าผู้เช่า
จะปฏิบัติตามสัญญาเช่านี้ทุกประการ หากผู้เช่าเดิมผิดสัญญาเช่าและ/หรือบอกเลิกสัญญาเช่าก่อนวันครบกำหนดอายุสัญญาเช่า ผู้ให้เช่ามีสิทธิ์ริบเงินประกันการเช่านี้โดยเต็มจำนวนโดยไม่ตัดสิทธิ์ของผู้ให้เช่าที่จะได้รับชดใช้ค่าเสียหายอื่น ๆ อนึ่ง เงินประกันการเช่านี้ มิให้ถือหรือใช้เป็นการชำระเงินค่าเช่าหรือเงินอื่น ๆ ไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น ในกรณีที่ผู้เช่าปฏิบัติตามเงื่อนไข หรือข้อกำหนดหรือข้อตกลงหรือข้อผูกพันใด ๆ ดังที่ระบุไว้ในสัญญาเช่านี้โดยถูกต้องครบถ้วน ผู้ให้เช่าจะคืนเงินประกันดังกล่าวโดยปราศจากดอกเบี้ยให้กับผู้เช่าหลังจากที่ได้หักค่าเสียหาย (ถ้ามี) ภายในระยะเวลา 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ผู้เช่าส่งมอบอุปกรณ์และพื้นที่เช่าคืนให้แก่ผู้ให้เช่าในสภาพเรียบร้อยพร้อมทั้งชำระเงินหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ที่ค้างชำระทั้งหมดครบถ้วนแล้ว

  นอกจากนั้นบริษัทยังเรียกเงินประกันการรับบริการอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อการประกันว่าผู้รับบริการจะปฏิบัติตามสัญญาบริการนี้ทุกประการ ตามสัญญาบริการ ดังนี้
    เงินประกันการรับบริการ ผู้รับบริการตกลงที่จะมอบเงินประกันเพื่อเป็นการประกันว่าผู้รับ
บริการจะปฏิบัติตามสัญญาบริการนี้ทุกประการ หากผู้รับบริการผิดสัญญาบริการ และ/หรือบอกเลิกสัญญาบริการก่อนกำหนดระยะเวลาผู้ให้บริการมีสิทธิ์ริบเงินประกันนี้โดยเต็มจำนวนโดยไม่ตัดสิทธิ์ของผู้ให้เช่าที่จะได้ชดใช้ค่าเสียหายอื่น ๆ อนึ่ง เงินประกันดังกล่าวนี้มิให้ถือหรือใช้เป็นการชำระเงินค่าบริการหรือเงินอื่น ๆ ไม่ว่ากรณีใด ๆทั้งสิ้น ในกรณีที่ผู้รับบริการปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือข้อกำหนดหรือข้อตกลง หรือข้อผูกพันใด ๆ ดังที่ระบุไว้ในสัญญาบริการนี้โดยถูกต้องครบถ้วน ผู้ให้บริการจะคืนเงินประกันดังกล่าวนี้โดยปราศจากดอกเบี้ยให้กับผู้รับบริการหลังจากที่ได้หักค่าเสียหาย (ถ้ามี) ภายในระยะเวลา 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ผู้รับบริการในฐานะผู้เช่าได้ส่งมอบพื้นที่เช่าคืนให้แก่ผู้ให้เช่าโดยสมบูรณ์ตามสัญญาเช่า นั้น
    1. บริษัทฯ ต้องนำเงินประกันมาคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในขณะที่ได้เงินประกันนั้นมาหรือไม่
    2. บริษัทฯ ไม่ต้องนำเงินประกันมาคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลในขณะที่ได้เงินประกันนั้นมาเพราะเงินประกันนั้นยังไม่ตกเป็นสิทธิ์ของลูกค้าของบริษัทหรือเป็นเงินที่ลูกค้าของบริษัทฯ พึงได้รับแต่ประการใด ถูกต้องหรือไม่

แนววินิจฉัย: บริษัทฯ ประกอบกิจการให้เช่าอาคาร อุปกรณ์ และให้บริการอื่น โดยมีการเรียกเก็บเงินประกันการเช่าและการรับบริการจำนวนหนึ่ง เพื่อเป็นการประกันว่าผู้เช่าจะปฏิบัติตามสัญญา และผู้ให้เช่าจะคืนเงินประกันดังกล่าวโดยไม่มีดอกเบี้ยภายใน 30 วันนับแต่วันที่ผู้เช่าส่งมอบอุปกรณ์ และพื้นที่เช่าคืนให้แก่ผู้ให้เช่าในสภาพเรียบร้อยโดยไม่ตัดสิทธิ์ผู้เช่าที่จะได้รับชดใช้ค่าเสียหายอื่น ๆ (ถ้ามี) เงินประกันดังกล่าว บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มดังนี้
    1. กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล เงินประกันดังกล่าวถือเป็นค่าเช่าและค่าบริการรับล่วงหน้าจึงเป็นรายได้ที่บริษัทฯ ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
    2. กรณีภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
      ก. ผู้จ่ายเงินประกันการเช่า ค่าเช่าพื้นที่อาคารและค่าเช่าอุปกรณ์ ถือเป็นการจ่ายค่าเช่าทั้งจำนวน จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 5.0 ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
      ข. สำหรับการจ่ายเงินประกันการรับบริการ และค่าบริการ ถือเป็นการจ่ายค่าบริการทั้งจำนวน ถ้าเป็นบริการรับจ้างทำของ ผู้จ่ายมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
    3. กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม
      ก. กรณีการเรียกเก็บเงินประกันการเช่าพื้นที่อาคาร ถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าเช่าอาคาร ซึ่งเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้น ทั้งเงินประกันการเช่าและค่าเช่าพื้นที่อาคารจึงไม่ต้องนำไปเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด ตามมาตรา 81(1)(ต) แห่งประมวลรัษฎากร
      ข. กรณีการเรียกเก็บเงินประกันการเช่าอุปกรณ์ และบริการอื่น ถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าเช่าอุปกรณ์และค่าบริการ จึงต้องนำเงินประกันค่าเช่าอุปกรณ์และค่าบริการไปเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 78/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 60/26220

 

 

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020