เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/13569
วันที่: 16 กันยายน 2541
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีเงินมัดจำค่าเช่าและค่าบริการจากการให้เช่าพื้นที่ในอาคาร
ข้อกฎหมาย: มาตรา 78/1(1), มาตรา 79, มาตรา 81(1)(ต), คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.73/2541ฯ
ข้อหารือ: บริษัทฯ ประกอบธุรกิจให้เช่าพื้นที่ในอาคารในการประกอบกิจการให้เช่าพื้นที่ดังกล่าว
บริษัทฯ มีการให้บริการที่ต่อเนื่องกันโดยเริ่มประกอบกิจการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 บริษัทฯ ได้ยึดถือ
ขนบธรรมเนียมประเพณีทางธุรกิจ โดยการเรียกเงินมัดจำค่าเช่าและเงินมัดจำค่าบริการเป็นจำนวน 3
เท่าของค่าเช่าและค่าบริการรายเดือน เพื่อประกันการเช่าและประกันความเสียหายจากการใช้บริการ
ของผู้เช่า ซึ่งเงินมัดจำจำนวนดังกล่าวจะไม่ใช้ทดแทนการชำระค่าเช่าและค่าบริการรายเดือน และ
บริษัทฯ จะคืนให้แก่ผู้เช่าเมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลง โดยผู้เช่ามิได้ค้างชำระค่าเช่าและค่าบริการ หรือมิได้
ทำความเสียหายแก่ทรัพย์สินของบริษัท ทั้งนี้บริษัทฯ มิได้นำเงินมัดจำดังกล่าวมาคำนวณชำระ
ภาษีเงินได้นิติบุคคล
ต่อมากรมสรรพากรได้มีคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.73/2541 วางแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับ
การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการเรียกเก็บเงินจ่ายล่วงหน้า เงินประกัน
เงินมัดจำ หรือเงินจอง โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2541 เป็นต้นไปนั้นมีผลกระทบต่อการ
ประกอบธุรกิจของบริษัทฯ ในส่วนที่เกี่ยวกับการให้เช่าพื้นที่ในอาคารและบริการต่อเนื่องกับการเช่าพื้นที่
ในอาคารดังกล่าว บริษัทฯจึงขอทราบว่า
1. เงินมัดจำค่าเช่า และเงินมัดจำค่าบริการ ที่บริษัทฯ เรียกเก็บเมื่อปี พ.ศ. 2534
โดยที่มิได้นำไปคำนวณเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปี บริษัทฯ ปฏิบัติถูกต้องหรือไม่
2. เงินมัดจำค่าบริการที่บริษัทฯ เรียกเก็บตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา บริษัทฯ ต้อง
เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยหรือไม่
3. เงินมัดจำค่าเช่าที่บริษัทฯ เรียกเก็บเป็นจำนวน 3 เท่าของค่าเช่า และสัญญามีอายุ
ไม่เกิน 3 ปีอยู่ในข่ายยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และไม่ต้องนำมารวมคำนวณเสีย
ภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามข้อ 3(2) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.73/2541 หรือไม่
4. หากการปฏิบัติของบริษัทฯ ไม่ถูกต้องในข้อใดข้อหนึ่งข้างต้น คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.
73/2541 ซึ่งระบุว่ามีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2541 บริษัทฯ จะได้รับประโยชน์จากคำสั่ง
ดังกล่าวโดยไม่ถูกประเมินย้อนหลังหรือไม่ ประการใด และหากถูกประเมินย้อนหลังได้จะย้อนหลังได้กี่ปี
แนววินิจฉัย: 1. กรณี ตาม 1. และ 3. บริษัทฯ ต้องนำเงินมัดจำค่าเช่า และเงินมัดจำค่าบริการตาม
สัญญาระยะยาวที่เรียกเก็บหรือพึงเรียกเก็บในลักษณะเป็นเงินก้อน เพื่อตอบแทนการให้เช่าทรัพย์สิน หรือ
การให้บริการทั้งจำนวนมาเสียภาษี ตามหลักเกณฑ์ในข้อ 2 (1) (ก) แห่งคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.
73/2541 เรื่อง การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการเรียกเก็บเงินจ่ายล่วงหน้า
เงินประกัน เงินมัดจำ หรือเงินจอง ลงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.74/2541 ฯ ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2541 เว้นแต่เงินมัดจำค่าเช่า
อสังหาริมทรัพย์ในกรณีดังต่อไปนี้ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล คือ
(ก) โดยขนบธรรมเนียมประเพณีทางธุรกิจได้มีการเรียกเก็บเงินประกันหรือเงินมัดจำ
(ข) ต้องมีการคืนเงินประกัน หรือเงินมัดจำให้แก่ผู้เช่าทันทีที่สัญญาสิ้นสุดลงโดยไม่มี
เงื่อนไข แต่กรณีเกิดความเสียหาย ผู้ให้เช่ามีสิทธิหักกลบลบหนี้ได้
(ค) เงินประกัน หรือเงินมัดจำที่เรียกเก็บต้องไม่เกิน 3-6 เท่าของค่าเช่ารายเดือน
และ
(ง) สัญญาให้เช่าทรัพย์สินมีอายุสัญญาไม่เกิน 3 ปี
ทั้งนี้ ตามข้อ 3 (2) แห่งคำสั่งกรมสรรพากรดังกล่าว
2. กรณีตาม 2. บริษัทฯ จะต้องนำเงินมัดจำค่าบริการทั้งหมดที่ได้รับหรือพึงได้รับมารวม
คำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษี ตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร โดยถือว่าความรับผิดในการเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นในขณะได้รับชำระเงินดังกล่าว ตามมาตรา 78/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
ประกอบกับ ข้อ 2 (3) (ข) แห่งคำสั่งกรมสรรพากรดังกล่าว
สำหรับเงินมัดจำค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ ถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ได้
รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 (1) (ต) แห่งประมวลรัษฎากร
3. กรณีตาม 4. หากบริษัทฯ มิได้ปฏิบัติตามคำสั่งกรมสรรพากรดังกล่าวข้างต้น
เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีย้อนหลังได้ 2 ปี กล่าวคือ ประเมินภาษีได้ตั้งแต่ปี 2539
เป็นต้นไป
เลขตู้: 61/27094

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020