เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/02466
วันที่: 18 มีนาคม 2542
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายเงินได้ภายใต้โครงการเงินกู้ต่างประเทศให้แก่บริษัทซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและกฎหมายต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 9, มาตรา 40, มาตรา 52, มาตรา 66, มาตรา 69 ทวิ, คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.
71/2541, พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505
ข้อหารือ: กรมอาชีวศึกษา ได้ดำเนินโครงการพัฒนาเครื่องมือ-อุปกรณ์และบุคลากรในสถานศึกษา
สังกัดกรมอาชีวศึกษา ด้วยเงินกู้จากกองทุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจโพ้นทะเลแห่งญี่ปุ่น (OECF) และ
เงินบาทสมทบโดยคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ดำเนินโครงการ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2537 เป้าหมายหลัก
ประการหนึ่งในการดำเนินงาน คือ การจัดซื้อจัดหาเครื่องมือ-อุปกรณ์ ในการเรียนการสอนสาขาวิชา
ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ปิโตรเคมี เทคนิคการผลิต และอุตสาหกรรมการต่อเรือ ให้แก่ วิทยาลัยเทคนิค 20
แห่ง และสถาบันพัฒนาครูอาชีวศึกษาโดยวิธีประกวดราคานานาชาติ ตามข้อกำหนดของแหล่งเงินกู้ ขณะนี้
การประกวดราคาได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยคู่สัญญาเป็นบริษัทจากประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐ
เยอรมัน ญี่ปุ่น และไทยในการจ่ายเงินค่าสินค้าให้แก่บริษัทคู่สัญญานั้น แหล่งเงินกู้ OECF เป็นผู้จ่ายด้วย
การเปิด Letter of Credit (L/C) กับธนาคารผ่านธนาคารโตเกียวมิตซูบิชิ ในประเทศญี่ปุ่น โดย
ความเห็นชอบของกรมอาชีวศึกษา จึงขอทราบว่า
1. กรณีที่คู่สัญญาเป็นบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทย การจ่ายเงินค่าสินค้าและบริการด้วย
เงินกู้โดยแหล่งเงินกู้เป็นผู้จ่ายเงินโดยตรง (เป็นเงินเยน) ให้แก่บริษัทนั้น จะต้องมีการหักภาษี ณ
ที่จ่ายหรือไม่ มีระเบียบวิธีปฏิบัติในการหักภาษีและการคิดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างไร
2. กรณีที่คู่สัญญาเป็นบริษัทจดทะเบียนในต่างประเทศ ในส่วนของเงินกู้ที่จ่ายให้แก่บริษัทนั้น
จะต้องมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่ หักในอัตราเท่าใด และมีระเบียบวิธีปฏิบัติอย่างไร
3. ขณะนี้ กรมอาชีวศึกษาได้จ่ายเงินค่าสินค้าและบริการให้แก่บริษัทคู่สัญญาทั้งในและ
ต่างประเทศเป็นเงินเยนไปแล้วหลายงวด โดยมิได้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แต่ประการใด เนื่องจากพิจารณา
เห็นว่า กรมอาชีวศึกษามิได้เป็นผู้จ่ายเงินโดยตรง ดังนั้น เพื่อความถูกต้องตามระเบียบปฏิบัติของ
ทางราชการ หากต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย กรมอาชีวศึกษาจะต้องดำเนินการอย่างไร ในเรื่องการหักภาษี
ณ ที่จ่ายในแต่ละกรณีดังกล่าวข้างต้น
แนววินิจฉัย: กรณีที่กรมอาชีวศึกษาจ่ายเงินค่าซื้อสินค้าให้กับบริษัทคู่สัญญา ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว ถือ
เป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร จึงแยกพิจารณาได้ดังนี้
1. กรณีบริษัทคู่สัญญาเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย บริษัทมีหน้าที่ต้องเสีย
ภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 66 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อกรมอาชีวศึกษาจ่ายเงินได้ให้กับบริษัทจึง
มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 1 ตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ใน
กรณีที่กองทุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจโพ้นทะเลแห่งญี่ปุ่น (OECF) เป็นผู้โอนเงินให้แก่บริษัทคู่สัญญาใน
ประเทศไทยโดยตรงเป็นเงินเยน ให้บริษัทคู่สัญญาคำนวณจำนวนเงินภาษีที่ผู้จ่ายเงินได้ต้องหักและนำส่ง
ในวันที่จ่ายเงินได้เป็นหน่วยเงินตราไทย โดยให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราตามอัตราอ้างอิง (อัตรา
ขายถัวเฉลี่ย) ประจำวันที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศไว้ เป็นอัตราแลกเปลี่ยนใน
การคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยของวันถัดไป ตามมาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากร
ประกอบกับข้อ 1 แห่งคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.71/2541 ฯ ลงวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2541 แล้วให้
บริษัทคู่สัญญานำเงินตราไทยในอัตราร้อยละ 1 ที่คำนวณได้มอบให้กรมอาชีวศึกษาเป็นค่าภาษีหัก ณ ที่จ่าย
เพื่อกรมอาชีวศึกษานำส่ง ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ต่อไป
2. กรณีบริษัทคู่สัญญาเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายและมีถิ่นที่อยู่ในประเทศญี่ปุ่น และ
สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน บริษัทผู้ขายได้ขายสินค้าโดยไม่ผ่านทางสถานประกอบการถาวรใน
ประเทศไทย บริษัทผู้ขายดังกล่าว ย่อมไม่อยู่ในข่ายจะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทยจากค่า
สินค้าที่ได้รับตามข้อ 7 วรรคหนึ่ง แห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นหรืออนุสัญญาระหว่าง
ประเทศไทยกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนแล้วแต่กรณี และมาตรา 3 แห่ง
พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 ดังนั้น กรมอาชีวศึกษา ผู้จ่ายเงินได้จึงไม่มีหน้าที่ต้องหัก
ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แต่อย่างใด
3. กรมอาชีวศึกษาผู้จ่ายเงินได้ดังกล่าวแก่บริษัทซึ่งจดทะเบียนตามกฎหมายไทย ต้องหัก
ภาษีเงินได้และนำเงินภาษีที่หักไปส่ง ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ภายใน 7 วัน นับแต่วันสิ้นเดือนของเดือน
ที่จ่ายเงินได้ ไม่ว่าตนจะได้หักไว้แล้วหรือไม่ ตามมาตรา 52 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 62/27646

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020