เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/135
วันที่: 11 มกราคม 2543
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีขอแก้ไขรายการในแบบ ภ.พ.30 ที่ได้ยื่นไปแล้ว
ข้อกฎหมาย: มาตรา 84
ข้อหารือ: สำนักงานสรรพากรภาคหารือกรณีบริษัท ส. จำกัด มีหนังสือขอให้กรมสรรพากรอนุมัติให้
บริษัทฯแก้ไขรายการในแบบ ภ.พ.30 เดือนตุลาคม 2540 ที่ได้ยื่นไปแล้ว เพื่อบริษัทฯ จะได้มีสิทธินำ
ภาษีที่ชำระไว้เกินไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนถัดไปซึ่งสำนักงานสรรพากรภาคมีความเห็นว่า ควร
อนุมัติตามคำขอของบริษัทฯ ดังมีรายละเอียดดังนี้
1. บริษัทฯ ยื่นแบบ ภ.พ.30 เดือนตุลาคม 2540 โดยลงลายมือชื่อในแบบฯ เพื่อขอคืน
ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงินสด จำนวน 11,278,010.79 บาท แต่ได้นำไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือน
พฤศจิกายน 2540 ด้วย
2. บริษัทฯ ยื่นแบบ ภ.พ.30 เดือนพฤศจิกายน 2540 เดือนธันวาคม 2540 เดือน
มกราคม 2541 และเดือนกุมภาพันธ์ 2541 โดยไม่ได้ลงลายมือชื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงินสด แต่มี
ความประสงค์นำไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนถัดไป
3. สำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ได้มีหนังสือแจ้งคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.72.1)
สำหรับเดือนตุลาคม 2540 จำนวน 11,278,010.79 บาท
4. ต่อมาสำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ได้มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม
(ภ.พ.73.1) สำหรับเดือนพฤศจิกายน 2540 โดยประเมินภาษีจากยอดเงินภาษีที่ชำระไว้เกินเดือน
ตุลาคม 2540 จำนวน 11,278,010.79 บาทพร้อมทั้งเงินเพิ่มจำนวน 338,340.32 บาท รวมเป็น
เงิน 11,616,351.11 บาท เนื่องจากขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงินสดแล้ว จึงไม่มีสิทธินำไปใช้
ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนพฤศจิกายน 2540 และได้หมายเหตุว่า ให้บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีชำระไว้เกิน
ของเดือนพฤศจิกายน 2540 ไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนธันวาคม 2540 ได้
5. บริษัทฯ ยื่นอุทธรณ์การประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยดังนี้
(1) ให้ปลดภาษีตามการประเมิน โดยมีเหตุผลว่า การนำภาษีชำระเกินยกมา
ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มสูงเกินความเป็นจริง ส่วนต่างดังกล่าวไม่ใช่การคำนวณภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อตาม
มาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่อาจประเมินภาษีจากส่วนต่างของภาษีชำระเกินยกมาสูงกว่า
ความเป็นจริงได้ การประเมินภาษีและเงินเพิ่มของเจ้าพนักงานประเมินจึงไม่ถูกต้อง
(2) กรณีเงินภาษีที่ชำระไว้แล้วตามการประเมิน ผู้อุทธรณ์มีสิทธิขอคืนได้แต่ไม่สามารถ
นำเงินภาษีดังกล่าวไปใช้เป็นเครดิตภาษีในเดือนถัดไป
คำวินิจฉัยอุทธรณ์ตาม (2) จะทำให้การยื่นแบบ ภ.พ.30 ของเดือนธันวาคม 2540
เดือนมกราคม 2541 และเดือนกุมภาพันธ์ 2541 ผิดพลาดคลาดเคลื่อน บริษัทฯ ต้องชำระภาษีเพิ่มเติม
และเงินเพิ่มตามมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร
6. บริษัทฯจึงขออนุมัติกรมสรรพากร ดังนี้
(1) ขอแก้ไขแบบ ภ.พ.30 ของเดือนตุลาคม 2540 โดยระบุว่าขอนำภาษีที่ชำระไว้
เกินไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนถัดไป และให้ถือว่าแบบ ภ.พ.30 ฉบับดังกล่าวถูกต้อง จะทำให้บริษัทฯ
มีสิทธินำภาษีที่ชำระไว้เกินของเดือนตุลาคม 2540 ไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนพฤศจิกายน 2540
และก็จะทำให้แบบ ภ.พ.30 ของเดือนอื่น ๆ ถัดไป ถูกต้องด้วย
(2) บริษัทฯ ไม่ประสงค์ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์จำนวน
11,278,010.79 บาท เพราะได้นำไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนพฤศจิกายน 2540 แล้ว แต่จะขอคืน
เงินเพิ่มจำนวน 338,340.32 บาท เท่านั้น
แนววินิจฉัย: 1. กรณีบริษัทฯ ยื่นแบบ ภ.พ.30 เดือนตุลาคม 2540 โดยได้ลงลายมือชื่อในช่อง “ จ ”
ของแบบ ภ.พ.30 แสดงว่า บริษัทฯ มีความประสงค์ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงินสด และกรมสรรพากร
ได้แจ้งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงินสด ถือว่าถูกต้องแล้ว ทั้งนี้ ตามมาตรา 84 แห่งประมวลรัษฎากร
ประกอบกับข้อ 6.1 ข้อ 16.1 ข้อ 19.1 (1) และ (2) ของระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการคืนเงิน
ภาษีมูลค่าเพิ่ม พ.ศ.2539 จึงไม่ต้องแก้ไขแบบ ภ.พ.30 เดือนตุลาคม 2540 แต่อย่างใด
2. กรณีคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ปลดภาษีตามการประเมินและให้บริษัทฯ
มีสิทธิขอคืนเงินภาษีที่ชำระไว้แล้วตามการประเมิน แต่ไม่สามารถนำเงินภาษีดังกล่าวไป
ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนธันวาคม 2540 บริษัทฯต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของ
คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
3. อย่างไรก็ดี เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่บริษัทฯ ให้สรรพากรภาคแจ้งให้
เจ้าพนักงานประเมินในท้องที่ที่สถานประกอบการของบริษัทฯ ตั้งอยู่ ตรวจปฏิบัติการทั่วไปภาษีมูลค่าเพิ่ม
สำหรับเดือนตุลาคม 2540 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2541 และดำเนินการหักกลบลบหนี้ระหว่างภาษีที่ต้อง
ชำระและภาษีที่มีสิทธิขอคืน ซึ่งสามารถกระทำได้เนื่องจากภาษีที่ต้องคืนให้แก่ผู้เสียภาษีและภาษีที่
ผู้เสียภาษีต้องชำระได้มีการตรวจสอบตัวเลขแล้ว แต่กรมสรรพากรไม่ต้องจ่ายคืนเงินให้แก่ผู้เสียภาษี
และเป็นการบรรเทาภาระของผู้เสียภาษีที่ไม่ต้องชำระภาษีตามจำนวนที่ถูกประเมิน จ่ายเพียงจำนวนสุทธิ
หลังจากหักกลบลบหนี้แล้วและให้งดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 89 แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้
ตามข้อ 11 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.81/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์การงดหรือลดเบี้ยปรับหรือ
เงินเพิ่มภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 22 มาตรา 26 มาตรา 67 ตรี
มาตรา 89 และมาตรา 91/21 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2542
เลขตู้: 63/28803

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020