เมนูปิด
เลขที่หนังสือ : กค 0702/875
วันที่: 31 มกราคม 2561
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินที่พนักงานได้รับจากการเลิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40 (1) และมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ

         บริษัทฯ หารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากรณีเงินที่พนักงานได้รับจากการเลิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยบริษัทฯ แจ้งว่า บริษัทฯ ตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (กองทุนฯ) ต่อมาบริษัทฯ ได้แจ้งถอนตัวนายจ้างจากกองทุนฯ เนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจในกลุ่มธุรกิจสื่อ จึงต้องลดต้นทุนในด้านต่างๆ เพื่อให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2560 เป็นต้นไป จึงเป็นเหตุให้สมาชิกสิ้นสภาพจากกองทุนฯ แต่เนื่องจากการสิ้นสุดสมาชิกภาพนี้มิได้เกิดจากความประสงค์ของสมาชิกและมิใช่กรณีที่สมาชิกทำผิดต่อนายจ้างบริษัทฯ จึงขอให้กรมสรรพากรพิจารณาอนุญาตให้พนักงานที่มีอายุงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป สามารถนำเงินที่ได้รับจากกองทุนฯ ใช้สิทธิเลือกเสียภาษีตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร

แนววินิจฉัย          กรณีตามข้อเท็จจริงบริษัทฯ แจ้งถอนตัวนายจ้างจากกองทุนฯ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2560 เป็นต้นไป ถือได้ว่า กองทุนฯ เป็นอันเลิก ตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 เงินที่พนักงานได้รับเงินจากการเลิกกองทุนฯ ดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยไม่อาจถือเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน เนื่องจากพนักงานที่ได้รับเงินจากกองทุนฯ ยังปฏิบัติหน้าที่ตามปกติโดยมิได้ลาออกจากงานแต่ประการใด พนักงานจึงต้องนำเงินได้ดังกล่าวไปรวมคำนวณกับเงินได้พึงประเมินประเภทอื่นๆ ตามมาตรา 48 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ต่อไป โดยไม่มีสิทธิเลือกเสียภาษี ตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด
เลขตู้: 81/40559

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020