เมนูปิด
เลขที่หนังสือ : กค 0702/พ.2582
วันที่: 20 เมษายน 2560
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการใช้สิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ข้อกฎหมาย: มาตรา 86/4 ประกาศ VAT ฉ.39
ข้อหารือ           1.บริษัทฯ ประกอบกิจการให้บริการเช่ายานพาหนะ (รถยนต์) แก่บุคคลทั่วไป ซึ่งลูกค้าของบริษัทฯ มีทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล และมีขั้นตอนในการเช่ารถยนต์ดังนี้
               1.1กรณีลูกค้าที่ประสงค์จะเช่ารถยนต์กับบริษัทฯ เป็นรายเดือนหรือรายปี เมื่อทำสัญญาเช่ากันเรียบร้อยแล้ว บริษัทฯ จะส่งมอบรถยนต์ให้แก่ลูกค้า ณ ที่ตั้งที่เป็นสถานประกอบการของลูกค้าหรือสถานที่อื่นตามที่ลูกค้าแจ้งความประสงค์ให้นำรถยนต์ไปส่งมอบ โดยบริษัทฯ จะเติมน้ำมันจนเต็มถังบรรจุก่อนส่งมอบ และทุกสิ้นเดือน บริษัทฯ จะออกใบกำกับภาษีขาย/ใบแจ้งหนี้เพื่อเรียกเก็บเงินค่าบริการเช่ารถยนต์จากลูกค้าตลอดอายุสัญญาเช่า
               1.2เมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่า ลูกค้าจะส่งมอบรถยนต์คืนให้แก่บริษัทฯ ณ สถานที่ที่บริษัทฯ ได้ส่งมอบรถยนต์ให้แก่ลูกค้าตาม 1.1 โดยลูกค้าจะต้องเติมน้ำมันให้เต็มถังบรรจุด้วย และพนักงานของบริษัทฯ จะไปตรวจสอบสภาพรถยนต์และขับกลับมาจอดที่บริษัทฯ
               1.3กรณีรถยนต์ที่ลูกค้าเช่าไปนั้น มีปัญหาขัดข้องหรือเสียหายจนใช้การไม่ได้ตามปกติอีกต่อไป เช่น เกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น บริษัทฯ จะจัดหารถยนต์คันใหม่ทดแทนให้แก่ลูกค้าทันที โดยจะส่งมอบ ณ สถานที่ที่ลูกค้าแจ้งความประสงค์ให้นำรถยนต์ไปส่งมอบ และอาจมีบางกรณีที่รถยนต์ถึงกำหนดต้องเข้าศูนย์ซ่อมบำรุงตามระยะที่กำหนด บริษัทฯ จะอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้า โดยจะนำรถยนต์ไปเข้าศูนย์บริการให้แก่ลูกค้า และนำรถยนต์อีกคันไปให้ลูกค้าใช้บริการเป็นการชั่วคราว
               1.4บริษัทฯ จำเป็นต้องเติมน้ำมันในรถยนต์ที่ให้เช่าตามที่กล่าวมาตาม 1.1 - 1.3 ให้เต็มถังบรรจุ เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงในสัญญาเช่า ซึ่งการเติมน้ำมันดังกล่าว บริษัทฯ จะชำระค่าน้ำมันด้วยบัตรฟลีทการ์ด (Fleet Card) (บัตรเครดิตประเภทหนึ่ง ออกโดยธนาคารในประเทศไทย) บัตรดังกล่าวมีไว้ใช้สำหรับจ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิงรถยนต์เท่านั้น ซึ่งข้อมูลในบัตรจะระบุหมายเลขทะเบียนรถยนต์คันที่จะใช้บัตรเอาไว้ และเมื่อมีการนำบัตรไปใช้ สถานีบริการน้ำมันจะพิมพ์ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป โดยใบกำกับภาษีดังกล่าวจะระบุหมายเลขทะเบียนรถยนต์ตามที่ปรากฏอยู่ในข้อมูลของบัตรออกมาด้วย ดังนั้น พนักงานของสถานีบริการน้ำมันจึงไม่ต้องเขียนหมายเลขทะเบียนรถยนต์ที่เข้ารับบริการด้วยหมึกลงในใบกำกับภาษีแต่อย่างใด แต่เนื่องจากบริษัทฯ มีรถยนต์ที่ใช้ในการประกอบกิจการให้เช่าประมาณ 300 คัน ซึ่งธนาคารผู้ออกบัตรฟลีทการ์ดไม่สามารถระบุข้อมูลหมายเลขทะเบียนรถยนต์คันที่จะใช้บัตรเป็นจำนวนมากเช่นนั้นได้ จึงอนุญาตให้บริษัทฯ ใช้บัตรฟลีทการ์ดเพียงใบเดียวชำระค่าน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ที่ใช้ในการประกอบกิจการของบริษัทฯ ได้ทุกคัน แต่ใบกำกับภาษีค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่ออกด้วยเครื่องออกใบกำกับภาษี (เครื่องบันทึกการเก็บเงิน) จะไม่สามารถระบุหมายเลขทะเบียนรถยนต์คันที่ใช้บริการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงไว้ในใบกำกับภาษีได้ พนักงานของสถานีบริการน้ำมันจึงต้องเขียนหมายเลขทะเบียนรถยนต์ที่เข้ารับบริการด้วยหมึกลงในใบกำกับภาษีแทน
          2.บริษัทฯ ขอทราบว่า บริษัทฯ จะนำใบกำกับภาษีซื้อค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่พนักงานของสถานีบริการน้ำมันซึ่งเขียนหมายเลขทะเบียนรถยนต์ที่เข้ารับบริการด้วยหมึกลงในใบกำกับภาษีนั้นไปใช้เป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้หรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย           กรณีบริษัทฯ ประกอบกิจการให้เช่ารถยนต์แก่บุคคลทั่วไป และได้รับใบกำกับภาษีค่าน้ำมันที่ออกด้วยเครื่องบันทึกการเก็บเงินจากสถานบริการน้ำมันที่ขายน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้เติมรถยนต์ หากใบกำกับภาษีดังกล่าวเป็นใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร สถานบริการน้ำมันที่ขายน้ำมันเชื้อเพลิงจะต้องระบุหมายเลขทะเบียนรถยนต์คันที่เติมน้ำมันไว้ในใบกำกับภาษีนั้นด้วย โดยข้อความที่เป็นหมายเลขทะเบียนรถยนต์นั้นจะตีพิมพ์ จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ประทับตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีดหรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 86/4(8) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 4 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 39) เรื่อง กำหนดข้อความอื่นในใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4(8) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2535 และหากภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ย่อมสามารถนำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีดังกล่าวไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากรได้
เลขตู้: 80/40360

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020