เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/11530
วันที่: 25 ธันวาคม 2558
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ข้อกฎหมาย : มาตรา 40(1) และมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           1.นาย ก. ได้ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 91 สำหรับปีภาษี 2550 ทางอินเทอร์เน็ต เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2551 มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) จำนวน 996,746.74 บาท มีภาษีชำระไว้เกินและขอคืนภาษีจำนวน 24,800 บาท
          2.จากการวิเคราะห์แบบ ภ.ง.ด. 91 พบว่า นาย ก. นำเงินได้พึงประเมินมาคำนวณภาษีไม่ครบถ้วนขาดไปเป็นจำนวนเงิน 330,000 บาท เมื่อทำการปรับปรุงและคำนวณภาษีใหม่ปรากฏว่า มีภาษีต้องชำระเพิ่มเติมเป็นจำนวนเงิน 44,824.67 บาท เจ้าพนักงานฯ จึงได้ประเมินเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมจากนาย ก. ตามแบบ ภ.ง.ด. 11
          3.นาย ก. ได้มาพบเจ้าพนักงานฯ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2554 และให้การว่า นาย ก. ประกอบธุรกิจส่วนตัว ปีภาษี 2550 มีรายได้ค่านายหน้าจากบริษัท B จำกัด (ชื่อเดิม บริษัท A จำกัด) (บริษัท B ) จำนวน 996,746.74 บาท และวันที่ 24 กรกฎาคม 2550 ได้รับเงินรางวัลจากการทำยอดจำหน่ายตามเป้าที่บริษัท B กำหนดไว้จำนวน 75,000 บาท ส่วนเงินรางวัลจำนวน 255,000 บาท ที่บริษัท B ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.3 นำส่งเป็นเงินได้พึงประเมินของ นาย ก. เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2550 นั้น นาย ก. ไม่ได้รับแต่อย่างใด ต่อมาบริษัท B ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 3 เพิ่มเติมเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2554 เพื่อลดยอดเงินได้ที่นำส่งเดือนภาษีมีนาคม 2550 แล้ว โดยลดยอดเงินได้ของนายอภิชาติฯ จำนวน 255,000 บาท ภาษีหัก ณ ที่จ่าย จำนวน 7,650 บาท
          4.นาย ก. ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 ปีภาษี 2550 เพิ่มเติมเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2554 โดยได้นำเงินรางวัลจากการทำยอดจำหน่ายตามเป้าที่บริษัท B กำหนดไว้จำนวน 75,000 บาท ไปรวมคำนวณภาษี และขอคืนภาษีจำนวน 17,450 บาท
          5.สำนักงานสรรพากรพื้นที่ฯ เห็นว่า บริษัท B ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 3 เพิ่มเติมลดยอดเงินได้จำนวน 255,000 บาทแล้ว และนาย ก. ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 เพิ่มเติมปรับปรุงยอดเงินได้ถูกต้องแล้ว จึงได้ยกเลิกหนังสือแจ้งการประเมินภาษีอากรเลขที่ ภ.ง.ด.11 09320010-25510820-001-00057 ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2551
          6.สำนักงานสรรพากรภาคฯ แจ้งข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า ได้วิเคราะห์แบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90 ปีภาษี 2550 ฉบับลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2554 โดยนาย ก. แสดงเงินได้ตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร จำนวน 996,746.74 บาท ภาษีหัก ณ ที่จ่าย จำนวน 121,349.35 บาท และเงินได้ตามมาตรา 40(8) แห่ง ประมวลรัษฎากร จำนวน 75,000 บาท ภาษีหัก ณ ที่จ่ายจำนวน 7,650 บาท ซึ่งตามข้อเท็จจริงบริษัท B จ่ายเงินรางวัลให้แก่นาย ก. จำนวน 75,000 บาท ภาษีหัก ณ ที่จ่าย จำนวน 2,250 บาท ส่วนการจ่ายเงินรางวัล จำนวน 255,000 บาท ภาษีหัก ณ ที่จ่าย จำนวน 7,650 บาท นาย ก. ปฏิเสธว่า ไม่ได้รับและแสดงหลักฐานการแก้ไขข้อมูลแบบ ภ.ง.ด.3 เดือนมีนาคม 2550 ของบริษัท B ที่ได้ยื่นแบบฯ ปรับปรุงยอดแล้ว เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2554 ดังนั้น การแสดงภาษีหัก ณ ที่จ่าย จากเงินรางวัล จำนวน 7,650 บาท จึงไม่ถูกต้องและ สำนักงาน ABแจ้งว่า นาย ก. ไม่ได้นำส่งเอกสารหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร จากเงินรางวัลจำนวน 75,000 บาท เมื่อวิเคราะห์แบบแสดงรายการใหม่นาย ก. มีภาษีชำระไว้เกิน จำนวน 9,800 บาท
แนววินิจฉัย           1.นาย ก. ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 91 ปีภาษี 2550 มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร จำนวน 996,746.74 บาท ภาษีหัก ณ ที่จ่ายจำนวน 121,349.35 บาท เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2551 โดยขอคืนภาษีที่ถูกหักไว้เกินไปจำนวน 24,800 บาท แม้ภายหลังการยื่นแบบและขอคืนภาษีดังกล่าว เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2550 เพิ่มเติม เพราะเห็นว่านาย ก. นำเงินได้ไปยื่นแบบแสดงรายการไม่ครบถ้วน จำนวน 330,000 บาท แต่เนื่องจากเงินได้พึงประเมินที่เจ้าพนักงานประเมินใช้ในการคำนวณภาษีเงินได้นั้น นาย ก. ไม่ได้รับเงินได้ดังกล่าวในบางส่วน และบริษัท B ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 3 เพิ่มเติม เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2554 เพื่อลดยอดเงินได้ที่นำส่งเดือนภาษีมีนาคม 2550 แล้ว โดยลดยอดเงินได้ของนาย ก. จำนวน 255,000 บาท ภาษีหัก ณ ที่จ่าย จำนวน 7,650 บาท เจ้าพนักงานประเมินจึงได้ยกเลิกการประเมิน หลังจากที่นาย ก. ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 91 ปีภาษี 2550 เพิ่มเติมแล้ว ดังนั้น การยื่นแบบ ภ.ง.ด. 91 โดยขอคืนภาษีที่ถูกหักไว้เกินของภาษีหัก ณ ที่จ่าย ของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร ที่ได้ยื่นไว้ในวันที่ 29 มีนาคม 2551 นั้น จึงเป็นการยื่นคำร้องขอคืนภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งปีที่ถูกหักภาษีเกินไปตามมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร
          2.กรณีนาย ก. ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 ปีภาษี 2550 เพิ่มเติมเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2554 เนื่องจากไม่ได้นำเงินรางวัลจากการทำยอดจำหน่ายตามเป้าจำนวน 75,000 บาท ภาษีหัก ณ ที่จ่าย จำนวน 7,650 บาท ที่ได้รับเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2550 ไปรวมคำนวณภาษีภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด โดยได้นำเงินได้ดังกล่าวพร้อมภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย ไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งได้ยื่นรายการไว้ตามแบบ ภ.ง.ด. 91 ตาม 1. แล้ว และขอคืนภาษีตามแบบที่ยื่นเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่ง จำนวน 17,450 บาท ซึ่งเป็นการยื่นคำร้องขอคืนเมื่อเกินกำหนด 3 ปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งปีภาษีที่ถูกหักภาษีเกินไป
          3.กรณีตาม 1. และ 2. กรณีนาย ก. ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 91 สำหรับปีภาษี 2550 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2551 โดยได้ลงชื่อแสดงความประสงค์ขอคืนภาษีที่ชำระไว้เกินตามแบบฯ ดังกล่าวแล้ว แม้ต่อมานาย ก. ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 ปีภาษี 2550 เพิ่มเติมโดยได้เพิ่มยอดเงินรางวัลตามที่ได้รับจริง ไปรวมคำนวณภาษีเป็นเงินได้พึงประเมินและลงชื่อขอคืนภาษีที่ชำระไว้เกิน เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2554 กรณีดังกล่าว นาย ก. ได้ยื่นแบบฯ เพิ่มเติม เพื่อปรับปรุงเงินได้พึงประเมินให้ถูกต้อง ดังนั้น การขอคืนภาษีที่ชำระไว้เกินตามแบบฯ ที่ได้ยื่นเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2551 เป็นการยื่นคำร้องขอคืนภายในกำหนดเวลา 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งปีซึ่งได้ถูกหักภาษีเกินไป ตามมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 78/39963

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020