เมนูปิด

พระราชกฤษฎีกา

ออกตามความในประมวลรัษฎากร

ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 454)

พ.ศ. 2549

   ----------------------

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ 1  เมษายน พ.ศ. 2549

เป็นปีที่ 61 ในรัชกาลปัจจุบัน

 

                          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

 

                          โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล และการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ บางกรณี

 

                          อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 221 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 3(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 35 และมาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

 

                         มาตรา  1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 454) พ.ศ. 2549”

 

                         มาตรา  2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

                         มาตรา  3  ให้ยกเลิก

                                      (1)  มาตรา 5 เอกาทศ มาตรา 5 ทวาทศ และมาตรา 6(20) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 259) พ.ศ. 2535

                                      (2) พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 260) พ.ศ. 2535

                                      (3) พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 270) พ.ศ. 2537

                                      (4) พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 306) พ.ศ. 2540

                                      (5) มาตรา 5 เตรส แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร

 

ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 307) พ.ศ. 2540

                                      (6) พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้น

รัษฎากร (ฉบับที่ 308) พ.ศ. 2540

 

                         มาตรา 4 ในพระราชกฤษฎีกานี้

                                    “ธนาคารพาณิชย์” หมายความว่า ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์

 “การรับฝากหรือการกู้ยืมเงินตราจากต่างประเทศเพื่อให้กู้ยืมในต่างประเทศ” หมายความว่า

                                       (1) การรับฝากหรือการกู้ยืมเงินตราต่างประเทศจากต่างประเทศจากบุคคลดังต่อไปนี้ เพื่อนำไปให้กู้ยืมเป็นเงินตราต่างประเทศในต่างประเทศ

                                             (ก) บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทยและมีภูมิลำเนาหรือมีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศ

                                             (ข) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ และมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย

                                             (ค) ธนาคารต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงธนาคารต่างประเทศที่มีสาขาหรือสำนักงานผู้แทนในประเทศไทย

                                             (ง) สาขาในต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์

                                             (จ) นิติบุคคลอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

                                        (2) การรับฝากหรือการกู้ยืมเงินบาทจากธนาคารต่างประเทศในต่างประเทศหรือสาขาในต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์ เพื่อนำไปให้กู้ยืมเป็นเงินบาทแก่ธนาคารต่างประเทศในต่างประเทศหรือสาขาในต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์

 

                          มาตรา 5  ให้ลดอัตราภาษีเงินได้ตาม (ก) ของ (2) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล แห่งบัญชีอัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร และคงจัดเก็บในอัตราร้อยละสิบของกำไรสุทธิ ให้แก่ธนาคารพาณิชย์สำหรับเงินได้จากการรับฝากหรือการกู้ยืมเงินตราจากต่างประเทศเพื่อให้กู้ยืมในต่างประเทศ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

 

                          มาตรา 6  ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 2 และส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นดอกเบี้ยเงินฝากหรือดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่ได้รับจากธนาคารพาณิชย์ เฉพาะการรับฝากหรือการกู้ยืมเงินตราจากต่างประเทศเพื่อให้กู้ยืมในต่างประเทศ ให้แก่

                                      (1) บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทยและมีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศ

                                      (2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย

                                      (3) ธนาคารต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงธนาคารต่างประเทศที่มีสาขาหรือสำนักงานผู้แทนในประเทศไทย

 

                          มาตรา 7  ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้ดังต่อไปนี้

                                      (1) เงินกำไรหรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากเงินกำไร หรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไรที่ธนาคารพาณิชย์จำหน่ายออกไปจากประเทศไทย ตามมาตรา 70 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ เฉพาะที่ได้จากการรับฝากหรือการกู้ยืมเงินตราจากต่างประเทศเพื่อให้กู้ยืมในต่างประเทศ

                                      (2) ค่าธรรมเนียมที่ธนาคารพาณิชย์ได้รับจากการเป็นผู้จัดการในการจัดหาเงินกู้ในลักษณะการร่วมให้กู้ โดยเงินกู้ดังกล่าวได้จากการรับฝากหรือการกู้ยืมเงินตราจากต่างประเทศเพื่อให้กู้ยืมในต่างประเทศ รวมถึงค่าธรรมเนียมอื่นที่เกี่ยวกับการร่วมให้กู้นั้น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

 

                         มาตรา 8 ให้ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะตามหมวด 5 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับรายรับจากการรับฝากหรือการกู้ยืมเงินตราจากต่างประเทศเพื่อให้กู้ยืมในต่างประเทศ ให้แก่ธนาคารพาณิชย์ ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่เป็นรายรับตามมาตรา 91/5 (1) แห่งประมวลรัษฎากร

 

                         มาตรา 9  ให้ยกเว้นอากรแสตมป์ตามหมวด 6 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ธนาคารพาณิชย์ เฉพาะกรณีที่ธนาคารพาณิชย์เป็นผู้ที่ต้องเสียอากรแสตมป์จากการรับฝากหรือการกู้ยืมเงินตราจากต่างประเทศเพื่อให้กู้ยืมในต่างประเทศ

 

                         มาตรา 10  บทบัญญัติมาตรา 5 เอกาทศ แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 259) พ.ศ. 2535 ให้ยังคงใช้บังคับต่อไปอีกสามปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากหรือดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่ได้รับจากผู้ประกอบกิจการวิเทศธนกิจเพื่อการให้กู้ยืมในต่างประเทศตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การประกอบกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2535 หรือที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมต่อไป ทั้งนี้ เฉพาะการรับฝากหรือการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศซึ่งผู้ประกอบกิจการวิเทศธนกิจได้นำไปให้กู้ยืมในต่างประเทศก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ

 

                        มาตรา 11  พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 270) พ.ศ. 2537 ให้ยังคงใช้บังคับต่อไปอีกสามปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากหรือดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่ได้รับจากผู้ประกอบกิจการวิเทศธนกิจเพื่อการให้กู้ยืมในประเทศตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การประกอบกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2535 หรือที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมต่อไป ทั้งนี้ เฉพาะการรับฝากหรือการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศซึ่งผู้ประกอบกิจการวิเทศธนกิจได้นำไปให้กู้ยืมในประเทศก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ

 

                       มาตรา 12  บทบัญญัติมาตรา 5 เตรส แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 307) พ.ศ. 2540 ให้ยังคงใช้บังคับต่อไปอีกสามปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ สำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่ได้รับจากผู้ประกอบกิจการวิเทศธนกิจเพื่อการให้กู้ยืมในประเทศตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การประกอบกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2535 หรือที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมต่อไป ทั้งนี้ เฉพาะการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศซึ่งผู้ประกอบกิจการวิเทศธนกิจได้นำไปให้กู้ยืมแก่รัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังให้ความเห็นชอบในการกู้เงินนั้น ก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ

 

                       มาตรา 13  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร.

        นายกรัฐมนตรี

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่ได้มีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรแก่ผู้ประกอบกิจการวิเทศธนกิจ ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การประกอบกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2535 แต่เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไป จึงสมควรปรับปรุงการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรแก่ผู้ประกอบกิจการวิเทศธนกิจ โดยยกเลิกสิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ประกอบกิจการวิเทศธนกิจตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การประกอบกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2535 แต่ยังคงให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรแก่ธนาคารพาณิชย์ซึ่งกู้ยืมเงินตราจากต่างประเทศมาให้กู้ยืมในต่างประเทศ และปรับปรุงการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ธนาคารพาณิชย์สำหรับเงินได้จากการรับฝากหรือการกู้ยืมเงินตราจากต่างประเทศเพื่อให้กู้ยืมในต่างประเทศ รวมทั้งปรับปรุงการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทยและมีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศ และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรแก่บุคคลดังกล่าวสำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นดอกเบี้ยเงินฝากหรือดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่ได้รับจากธนาคารพาณิชย์เฉพาะการรับฝากหรือการกู้ยืมเงินตราจากต่างประเทศเพื่อให้กู้ยืมในต่างประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎกานี้

 

    (ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 123 ตอนที่ 38 ก  วันที่ 17 เมษายน 2549)

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022