เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/549
วันที่: 26 มกราคม 2552
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีกองมรดกขายที่ดินซึ่งถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 48(4)(ก) มาตรา 49 ทวิ มาตรา 50(5)ผก) และมาตรา 57 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           นาย ส. และนาย ท. ในฐานะผู้จัดการมรดกของนาย ว. (กองมรดกนาย ว.) และในฐานะผู้จัดการมรดกของนาง ต. (กองมรดกนาง ต.) ซึ่งผู้จัดการมรดกได้ทำสัญญาขายที่ดินให้กับการเคหะแห่งชาติ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2550 จำนวน 4 โฉนด ราคาประเมินทุนทรัพย์จำนวน 33,430,650 บาท ซึ่งผู้จัดการมรดกเป็นผู้มีชื่อในโฉนดทุกโฉนดมาตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2549 ตามคำสั่งศาลแพ่งธนบุรี โดยการคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ในขณะทำนิติกรรมซื้อขาย สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางขุนเทียน ได้คำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย โดยแบ่งราคาขายที่ดินมรดกดังกล่าว ออกเป็นสองส่วนเท่าๆ กัน หักด้วยค่าใช้จ่ายร้อยละ 50 และนำราคาขายที่ดินมรดกดังกล่าว แต่ละส่วนมาคำนวณภาษีของกองมรดกแต่ละกอง คือ กองมรดกนาย ว. และกองมรดกนาง ต. คำนวณภาษีตามมาตรา 48(4)(ก) และมาตรา 49 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร และได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย รวมสองกองมรดกเป็นจำนวนเงิน 1,271,534 บาท จึงขอทราบว่า การคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ของสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางขุนเทียนดังกล่าว ถูกต้องหรือไม่ กรณีไม่ถูกต้อง จะต้องมีการคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย อย่างไร
แนววินิจฉัย           1. กรณีนาย ว. เสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2514 และนาง ต. เสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2518 ทรัพย์มรดกของนาย ว. และนาง ต. ย่อมตกทอดไปยังทายาท ตามมาตรา 1599 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กองมรดกนาย ว. และกองมรดกนาง ต. มีทรัพย์มรดกที่เป็นที่ดินจำนวน 7 แปลง ที่ยังมิได้แบ่งกรรมสิทธิ์ว่า ผู้ใดมีกรรมสิทธิ์จำนวนเท่าใด เมื่อผู้จัดการมรดกได้ทำสัญญาขายที่ดินซึ่งเป็นของกองมรดกดังกล่าว ให้กับการเคหะแห่งชาติ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2550 รวมจำนวน 4 โฉนด จึงเข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ของกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่งจำนวน 2 กองมรดกคือ กองมรดกนาย ว. และกองมรดกนาง ต. ซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในนามของกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่งของแต่ละกองมรดกดังกล่าว ตามมาตรา 57 ทวิ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร
           2. การหักภาษี ณ ที่จ่าย กรณีการขายอสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดกของกองมรดก แต่ละกองมรดกดังกล่าว ต้องคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย โดยถือราคาขายตามราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งเป็นราคาที่ใช้อยู่ในวันที่มีการโอนของทรัพย์มรดกของกองมรดกนาย ว. และทรัพย์มรดกของกองมรดก นาง ต. นั้น หักด้วยค่าใช้จ่ายร้อยละ 50 ของเงินได้ เหลือเท่าใดถือเป็นเงินได้สุทธิ แล้วหารด้วยจำนวนปีที่ถือครอง ได้ผลลัพธ์เท่าใดให้คำนวณภาษีตามอัตราภาษีเงินได้ ได้เท่าใดให้คูณด้วยจำนวนปีที่ถือครอง ผลลัพธ์เป็นเงินภาษีที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ทั้งนี้ มาตรา 48(4)(ก) มาตรา 49 ทวิ และมาตรา 50 (5)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 72/36354

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020