เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/6009
วันที่: 30 กรกฎาคม 2552
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้จากการออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40() แห่งประมวลรัษฎากร และประกาศกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52)ฯ
ข้อหารือ          นาย ว. อายุ 55 ปี 4 เดือน 5 วัน (ขณะลาออก) ประกอบอาชีพเป็นพนักงานของบริษัท ท. จำกัด (มหาชน) และเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเวลา 10 ปี ได้ลาออกจากงานตามประกาศบริษัทฯ เรื่อง โครงการเกษียณอายุก่อนอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2551 ตามข้อตกลงเมื่อปี 2551 และบริษัทฯ ได้มีคำสั่งอนุมัติให้ออก ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2551 ตามคำสั่งฯ เรื่อง พนักงานลาออกตามโครงการเกษียณอายุก่อนอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ตาม ข้อตกลงปี 2551 ลงวันที่ 20 มีนาคม 2551 นาย ว. ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 91) ปีภาษี 2551 เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2552 แสดงเงินได้ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร เงินเดือนจำนวน 230,654.78 บาท ภาษีหัก ณ ที่จ่าย จำนวน 15,559.06 บาท ภาษีที่ชำระไว้เกินและขอคืนตามแบบจำนวน 15,559.06 บาท และตาม= ใบแนบ ภ.ง.ด. 91 แสดงเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานจำนวน 1,387,382 บาท มีภาษีที่ต้อง ชำระจำนวน 90,578.40 บาท ภาษีหัก ณ ที่จ่าย จำนวน 90,578.40 บาท ไม่มีภาษีที่ต้องชำระหรือชำระเกินตามใบแนบ และได้รับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จำนวน 962,615.73 บาท ไม่มีภาษีหัก ณ ที่จ่าย และไม่นำมารวมคำนวณภาษีตาม ใบแนบ จึงขอทราบว่า เงินได้ที่นาย ว. ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย          กรมสรรพากรได้วางแนวทางปฏิบัติกรณีการออกจากงานเพราะครบกำหนดหรือสิ้นกำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่เป็นลายลักษณ์อักษรไว้ว่า จะต้องเป็นกรณีที่นายจ้างมีข้อบังคับกำหนดให้ลูกจ้างเกษียณอายุก่อนกำหนดไว้ตั้งแต่แรกการที่นายจ้างตกลงให้ลูกจ้างเกษียณอายุก่อนกำหนดในภายหลัง ไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และหากตามข้อบังคับของบริษัทฯ กำหนดไว้ว่า ให้พนักงานเกษียณอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ หรือเกษียณอายุก่อนครบ 60 ปีบริบูรณ์ ตามเงื่อนไขที่บริษัทฯ กำหนดต่อมาบริษัทฯ กับพนักงานมีการตกลงกันภายหลังเพื่อให้พนักงาน ออกจากงานตามโครงการลาออกก่อนเกษียณอายุแล้ว เข้าหลักเกณฑ์ที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ดังนั้น หากตามข้อเท็จจริงปรากฏว่าตามข้อบังคับมิได้กำหนดให้พนักงานเกษียณอายุก่อนครบ 60 ปีบริบูรณ์มาตั้งแต่แรกแล้ว ต่อมามีการตกลงกันภายหลังเพื่อให้พนักงานออกจากงานตามโครงการลาออกก่อนเกษียณอายุดังกล่าว ย่อมไม่เข้า หลักเกณฑ์ที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการ ตามข้อ 1(1) ของประกาศ อธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52)ฯ ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 เงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่พนักงานหรือลูกจ้างของบริษัทฯ ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามข้อ 2(36) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ
เลขตู้: 72/36762

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020