เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/พ.9172
วันที่: 5 พฤศจิกายน 2552
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีใบกำกับภาษีที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษี
ข้อกฎหมาย: มาตรา 82/5(2) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          บริษัท ก. (มหาชน) (บริษัทฯ) เป็นนิติบุคคลตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ประกอบกิจการขายอุปกรณ์ไฟฟ้า ในระบบแรงดันสูงถึงปานกลาง บริษัทฯ ได้จดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชน เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2552 และได้ยื่น แบบแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 09) เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2552 แต่บริษัทฯ ยังคงได้รับ ใบกำกับภาษี จากบริษัทคู่ค้ารวมถึงกรมศุลกากรสำหรับสินค้าหรือบริการที่ต้องผ่านพิธีการทางศุลกากร จึงขอ ทราบว่า ใบกำกับภาษีที่ระบุชื่อเดิมของบริษัทฯ โดยไม่มีคำว่า "มหาชน" ที่บริษัทฯ ได้รับมาแล้ว จะนำภาษีซื้อ ตามใบกำกับภาษีดังกล่าวมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้หรือไม่
แนววินิจฉัย          กรณีบริษัทฯ ได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงสถานะเป็นบริษัทมหาชน ตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชน จำกัด พ.ศ. 2535 และแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 09) เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2552 หากบริษัทฯ ยังคงได้รับใบกำกับภาษีที่ระบุชื่อเดิมของบริษัทฯ โดยไม่มีคำว่า "มหาชน" หลังวันที่ 11 สิงหาคม 2552 บริษัทฯ ไม่มีสิทธินำใบกำกับภาษีดังกล่าวไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มของบริษัทฯ ได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 82/5(2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 3 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 17) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษี ตามมาตรา 82/5 (1) (2) (3) และ (4) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2534 และไม่อาจอนุโลมให้บริษัทฯ นำใบกำกับภาษีดังกล่าวไปถือเป็น ภาษีซื้อได้ อย่างไรก็ดี บริษัทฯ สามารถชี้แจงให้บริษัทคู่ค้าและกรมศุลกากรแก้ไขใบกำกับภาษีให้ถูกต้อง และนำใบกำกับภาษี ที่แก้ไขถูกต้องแล้วไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้
เลขตู้: 72/36966

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020