เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/9196
วันที่: 5 พฤศจิกายน 2552
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อที่ดิน และผลกำไรหรือขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนของเงินกู้เพื่อซื้อที่ดิน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ทวิ (5)(ก) และมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          1. บริษัทฯ จดทะเบียนนิติบุคคลเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2534 ประกอบกิจการซื้อขายที่ดินเพื่อค้ากำไร และให้เช่า โดยมิได้จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ
          2. บริษัทฯ มีที่ดิน 48 แปลง เนื้อที่รวม 1,620 ไร่ ตั้งอยู่ จังหวัดนครราชสีมา บริษัทฯ บันทึกบัญชีเป็นทรัพย์สินทั้งหมด ดังนี้
               (1) ที่ดินส่วนที่ยังไม่ก่อให้เกิดรายได้ จำนวน 27 แปลง เนื้อที่ประมาณ 1,048 ไร่ ไม่มีทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้างใด ๆ หากมีผู้สนใจซื้อที่ดินดังกล่าว และให้ราคาตามที่บริษัทฯ ต้องการบริษัทฯ ก็จะขาย
               (2) ที่ดินส่วนที่ก่อให้เกิดรายได้ จำนวน 21 แปลง เนื้อที่ประมาณ 572 ไร่ บริษัทฯ ได้แบ่งให้เช่า โดยมีการทำสัญญา ให้เช่า 1 ปี และต่อสัญญาทุกปี โดยผู้เช่าได้ปลูกสร้างอาคารโรงงานเพื่อผลิตแป้งมันสำปะหลัง โดยมิได้ระบุว่า กรรมสิทธิ์ในอาคาร เป็นของผู้ใด
          3. บริษัทฯ กู้ยืมเงินในประเทศเพื่อซื้อที่ดินดังกล่าว ต่อมาได้กู้ยืมเงินจากต่างประเทศมาเพื่อชำระหนี้เงินกู้ในประเทศ ซึ่ง บริษัทฯ ได้นำดอกเบี้ยจ่ายมาปันส่วน โดยดอกเบี้ยจ่ายของเงินกู้เพื่อซื้อที่ดินส่วนที่ยังไม่ก่อให้เกิดรายได้มารวมคำนวณเป็น ต้นทุนที่ดิน สำหรับส่วนดอกเบี้ยจ่ายของเงินกู้เพื่อซื้อที่ดินส่วนที่ก่อให้เกิดรายได้นำมาเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อ เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
          4. ณ วันสิ้นปี งบการเงินของบริษัทฯ แสดงยอดเจ้าหนี้เงินกู้ยืมต่างประเทศ โดยไม่มีการปรับปรุงเป็นกำไรหรือขาดทุน จากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
แนววินิจฉัย          1. กรณีตาม 1 และ 2 บริษัทฯ กู้ยืมเงินจากผู้ให้กู้ในประเทศเพื่อซื้อที่ดิน ต่อมาบริษัทฯ กู้ยืมเงินจากต่างประเทศมาเพื่อ ชำระหนี้เงินกู้ในประเทศ แม้มิใช่กู้เงินจากต่างประเทศเพื่อซื้อที่ดินโดยตรง แต่เมื่อบริษัทฯ นำเงินกู้ในประเทศไปใช้ซื้อที่ดินเพื่อ ขายและให้เช่า หนี้เงินกู้และดอกเบี้ยที่เกิดจากการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศจึงเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับหนี้เงินกู้ในประเทศ ถือเป็น รายจ่ายอันมีลักษณะอันเป็นการลงทุนตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น หากการซื้อที่ดินเป็นส่วนหนึ่งของ การดำเนินธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ หรือเกี่ยวเนื่องโดยตรงต่อทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดรายได้ ดอกเบี้ยจากการกู้ยืมเงินดังกล่าว เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใดให้บริษัทฯ ปฏิบัติดังนี้
          (1) ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ทรัพย์สินนั้นอยู่ในสภาพพร้อมใช้ ให้ถือเป็นต้นทุนของทรัพย์สินหรือ รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน
          (2) ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ทรัพย์สินนั้นอยู่ในสภาพพร้อมใช้ ให้ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี โดยบริษัทฯ ต้องไม่นำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมดังกล่าวไปรวมคำนวณเป็นต้นทุนของทรัพย์สินหรือรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนหรือไปหัก เป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลอีก ทั้งนี้ ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 375) พ.ศ. 2543 ประกอบกับข้อ 2 และข้อ 3 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 92)ฯ ลงวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2544
          2. กรณีตาม 3 บริษัทฯ มีหนี้สินซึ่งมีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศที่เหลืออยู่ในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณค่าหรือราคาของหนี้สินเป็นเงินตราไทยตามอัตราถัวเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์ขาย ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ ทั้งนี้ตามมาตรา 65 ทวิ (5) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ต่างประเทศเป็นเงินตราไทย ตามมาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548
เลขตู้: 72/36968

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020