เมนูปิด
  เตรียมตัวอย่างไรในการเข้าทดสอบผู้สอบบัญชีภาษีอากร
         การเตรียมตัวสอบ
         
  การวางแผนการเข้าทดสอบ  
   วิชาชีพสอบบัญชีภาษีอากร เป็นวิชาชีพอิสระที่มีเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ ผู้สอบบัญชีภาษีอากร เป็นผู้มีเกียรติยศ และศักดิ์ศรี เป็นที่ยอมรับของสังคม ผู้สมัครเข้าทดสอบจึงพึงมีความมุ่งมั่น แน่วแน่ ในการเข้าทดสอบเพื่อเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร ในอันที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างมาตรฐานทางสังคมที่ดีงาม โดยเฉพาะในการประกอบวิชาชีพการสอบบัญชีภาษีอากรที่มีคุณภาพ เป็นที่เชื่อถือ และยอมรับของสังคม
   กรมสรรพากร เปิดรับสมัครเพื่อทดสอบเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรถึงปีละ 3 ครั้ง แต่ละครั้งมีกำหนดเวลาที่แน่นอน ดังนี้ 
    ครั้งที่กำหนดเวลารับสมัครกำหนดเวลาในการสอบประกาศผลสอบ
    125 ธันวาคม - 16 มกราคมเดือนกุมภาพันธ์30 เมษายน
    225 เมษายน - 16 พฤษภาคมเดือนมิถุนายน30 สิงหาคม
    325 สิงหาคม - 16 กันยายนเดือนตุลาคม30 ธันวาคม
   กรณีที่เตรียมสอบไว้เป็นอย่างดี มีหลายต่อหลายท่านสอบผ่านทั้ง 3 วิชาในคราวเดียว อันเป็นเกียรติประวัติของผู้สอบบัญชีภาษีอากรท่านนั้นๆ ตลอดไป
   หากไม่ประสงค์จะสอบทุกวิชาในการเข้าทดสอบเพียงครั้งเดียว ให้เลือกสอบวิชาที่ท่านเห็นว่ายากที่สุดให้ได้ก่อนเช่น บางท่านเห็นว่าวิชาสอบบัญชี เป็นวิชาที่ยากที่สุดสำหรับท่าน ให้เพิ่มความพยายามที่จะสอบให้ได้ก่อนวิชาอื่นๆ เพราะเมื่อท่านผ่านการทดสอบวิชาใดแล้วสำนักมาตรฐานการสอบบัญชีภาษีอากร(มบ.) จะเริ่มนับอายุความของวิชานั้นไปอีกสามปี
   ในกรณีที่มีภูมิลำเนาอยู่ในต่างจังหวัด ให้วางแผนการเดินทาง และจัดแผนการสอบแต่ละวิชาที่จะทำให้ท่านมีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด
 การเตรียมความพร้อมด้านความรู้ ความเข้าใจในขอบเขตเนื้อหาวิชาที่ทำการทดสอบอย่างถ่องแท้ ซึ่งในแต่ละวิชามีขอบเขตเนื้อหาดังนี้
   วิชาการบัญชี ทดสอบความรู้การบัญชีเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน โดยครอบคลุมในเรื่อง 
     -แม่บทการบัญชี  
     -หลักการบันทึกบัญชี  
     -การจัดทำงบการเงินตามประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้า  
     -การเปิดเผยข้อมูลในงบการเงิน  
     -มาตรฐานการบัญชีเกี่ยวกับสินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของผู้เป็นหุ้นส่วน  
     -การรับรู้รายได้และค่าใช้จ่าย
     -การบัญชีต้นทุนผลิตสินค้า อาทิ ต้นทุนช่วง ต้นทุนงานสั่งทำ
     ทั้งนี้ ไม่รวมถึงมาตรฐานการบัญชีที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้ากำหนดให้ใช้เฉพาะบริษัทมหาชน
   วิชาการสอบบัญชี  ทดสอบความรู้เกี่ยวกับการสอบบัญชีตามหลักเกณฑ์การปฏิบัติและการรายงานสำหรับผู้สอบบัญชีภาษีอากรตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากรโดยครอบคลุมถึง
     -หลักฐานการสอบบัญชีและวิธีการตรวจสอบ 
     -การรวบรวมหลักฐาน 
     -หลักพื้นฐานของการควบคุมภายใน การประเมินความเสี่ยง
     -เทคนิคต่าง ๆ ที่ใช้ในการตรวจสอบบัญชี 
     -การจัดทำกระดาษทำการ 
     -แนวการตรวจสอบ 
     -การสอบทานและการควบคุมงานสอบบัญชี  
     -จรรยาบรรณของผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี
   วิชาความรู้เกี่ยวกับประมวลรัษฎากรและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ทดสอบความรู้เกี่ยวกับ
    (1)ประมวลรัษฎากร ในส่วนที่เกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน
     -การคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
     -ภาษีมูลค่าเพิ่ม  
     -ภาษีธุรกิจเฉพาะ 
     -อากรแสตมป์ 
     -การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย  
     -หน้าที่เกี่ยวกับการยื่นแบบแสดงรายการ การชำระและการนำส่งภาษี  
     -การจัดทำรายงานและบัญชีพิเศษตามประมวลรัษฎากร 
     -รวมถึงประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชีตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร
    (2)ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 ประกาศและคำสั่งของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน
 ความตั้งใจจริงและความมุ่งมั่นเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งของผู้ที่จะเข้ารับการทดสอบ การคิดเพียงเพื่อลองทำข้อสอบ หรือสมัครเข้าไปลองดูข้อสอบ นอกจากเสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ผลใดๆ แล้ว ยังเป็นการบั่นทอนความเชื่อมั่นและกำลังใจของท่านอีกด้วย
 หมั่นฝึกเขียนและฝึกทำโจทย์แบบฝึกหัด เช่น การบันทึกบัญชี การเขียนแนวการสอบบัญชี การจัดทำกระดาษทำการ การเขียนตอบข้อสอบกฎหมาย เป็นต้น
 ศึกษาให้เข้าใจในข้อปฏิบัติในการเข้ารับการทดสอบเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรแนบท้ายประกาศกรมสรรพากร เรื่อง การทดสอบความรู้ของผู้เข้ารับการทดสอบเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร เพราะการทดสอบในแต่ละครั้งที่ผ่านมาจะพบข้อผิดพลาดที่ผู้เข้ารับการทดสอบไม่ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติดังกล่าวจึงทำให้ไม่ได้รับการตรวจสมุดคำตอบ ซึ่งข้อผิดพลาดที่พบบ่อยๆ เช่น
   ในการทดสอบแต่ละวิชา มีข้อกำหนดเกี่ยวกับสีของสมุดที่ใช้เขียนตอบในแต่ละข้อ ในบางครั้งผู้เข้ารับการทดสอบใช้สมุดผิดสี ผิดเล่ม และไม่แจ้งให้เจ้าหน้าที่คุมสอบทราบ
   ในการเขียนข้อสอบอัตนัย กำหนดให้ใช้ปากกาสีน้ำเงินในการทำข้อสอบเท่านั้น แต่ผู้เข้ารับการทดสอบหลายท่านใช้ปากกาหมึกสีอื่น เช่น หมึกสีดำ หรือสีแดง หรือใช้ดินสอ
   ผู้เข้ารับการทดสอบเขียนชื่อ – นามสกุล เลขประจำตัวสอบและเลขประจำตัวประชาชนในสมุดคำตอบ
 ควรอ่านตำราให้ละเอียดจนเกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ในทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาวิชาที่จะทดสอบ ซึ่งต้องใช้เวลาในการเตรียมตัวพอสมควร ไม่ควรใช้วิธีท่องจำ และนำบทที่ได้ท่องจำไปเขียนในสมุดคำตอบโดยตอบไม่ตรงกับประเด็นที่ถาม อันจะทำให้ไม่เกิดผลดีแก่ท่านผู้เข้าทดสอบแต่อย่างใด
 ในวันที่เข้าทำการทดสอบควรเตรียมตัวให้พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานประกอบการสอบ และปากกาหมึกสีน้ำเงิน รวมทั้งเครื่องคำนวณ
 ควรเดินทางไปถึงสถานที่สอบก่อนเวลาเข้าสอบไม่น้อยกว่า 15 นาที ถึงครึ่งชั่วโมง เพื่อตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับที่นั่งสอบ ห้องสอบ ชั้นและอาคารที่สอบ
 ก่อนวันสอบไม่ควรนอนดึกจนเกินไป อาจทำให้มีอาการมึนงง ไม่โปร่งโล่ง สบาย ทบทวนเนื้อหาความรู้ที่สรุปไว้เพื่อเตรียมพร้อมจะเข้าทดสอบให้เกิดความชัดเจนยิ่งๆ ขึ้นไป
 
         ในขณะทำข้อสอบ
         
 อ่านข้อปฏิบัติในการเข้ารับการทดสอบเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรที่ผู้คุมสอบได้วางให้บนโต๊ะและปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด
 ตรวจนับจำนวนข้อสอบว่ามีครบทุกข้อ ทุกแผ่นหรือไม่
 ก่อนทำข้อสอบผู้เข้ารับการทดสอบควรอ่านโจทย์ข้อสอบอัตนัยทั้ง 3 ข้อว่าแต่   ละข้อโจทย์ถามเกี่ยวกับเรื่องอะไร มีกี่ประเด็นที่ต้องการให้ตอบ  หากอ่านโจทย์แล้วรู้ว่าจะตอบอะไรก็อาจจะเขียนโครงร่างเป็นหัวข้อว่าจะตอบอะไรเพื่อจะได้ไม่ลืมและจะได้ตอบเป็นขั้นตอน ไม่วกไปวนมาหรือจบไม่ลง
 ดูคะแนนที่ให้ไว้ท้ายข้อสอบแต่ละข้อหรือข้อย่อย (ถ้ามี) ว่าแต่ละข้อมีคะแนนเท่าไรเพื่อจะได้ทราบถึงน้ำหนักของคะแนนแต่ละข้อ
 แบ่งเวลาในการทำข้อสอบแต่ละข้อให้เหมาะสม พยายามทำข้อสอบให้ครบทุกข้อ เลือกทำข้อสอบที่คิดว่าทำได้ดีที่สุดก่อน
 วิเคราะห์คำถามอย่างรอบคอบเพื่อให้เข้าใจว่าคำถามถามเกี่ยวกับอะไร มีกี่ประเด็นตอบให้ครบทุกคำถาม  ให้ตรงประเด็น
 วางโครงเรื่องของคำตอบทุกครั้งเพื่อจะได้จัดระเบียนของความรู้ ความคิดที่รวบรวมให้มีลำดับขั้นตอนและเพื่อให้สามารถตอบคำถามได้อย่างครอบคลุมทุกประเด็น   ไม่วกไปวนมา  ไม่ควรตอบแบบสั้น ๆ  ไม่มีคำอธิบายหรือคลุมเครือหรือเหวี่ยงแหหรือตอบยาวมากแต่ไม่ตรงกับประเด็นที่ถาม
 ใช้ภาษาที่ง่าย กะทัดรัด สื่อความชัดเจน   เขียนด้วยลายมือที่ชัดเจนให้อ่านง่าย
 ใช้หลักการของย่อหน้าช่วยในการเขียน  ในการแบ่งประเด็นความคิดให้ชัดเจนแล้วเขียนข้อความเพียง 1 ประเด็นในแต่ละย่อหน้า  อย่าเขียนติดกันเป็นพืดโดยไม่มีย่อหน้า
 ต้องมีความรู้ความเข้าในวิชาที่เข้ารับการทดสอบอย่างดีเพราะเมื่อเข้ารับการทดสอบด้วยเวลาอันจำกัด อาจจะทำให้เกิดการผิดพลาดได้ 
 ไม่ควรเตรียมตัวโดยการเก็งข้อสอบหรือการไปติวกันมาจากที่เดียวกันโดยไม่ได้เตรียมตัวตามขอบเขตของเนื้อหาวิชาที่ทดสอบ เพราะจะทำให้ทำข้อสอบไม่ได้ เมื่อเจอคำถามที่ไม่ตรงกับที่เก็งหรือติวมาก็จะทำไม่ได้เลยหรือจะมีลักษณะที่ตอบมาผิดเหมือน ๆ กันเพราะจะเขียนตอบตามที่รู้เท่านั้นแต่ไม่ตรงกับประเด็นที่ถาม
 ตอบคำถามให้ตรงประเด็นกับที่โจทย์ถามเพราะข้อผิดพลาดที่พบบ่อยคือผู้เข้ารับการทดสอบไม่เข้าใจคำถามที่ถามโดยดูจากกระดาษคำตอบจะตอบคนละเรื่องกับที่ถาม หรือตอบคำถามตามที่ท่องจำมา ไม่รู้จริง ถ้าคำถามเปลี่ยนแปลงไปจากที่ท่องจำมาก็จะทำข้อสอบไม่ได้  ผู้เข้ารับการทดสอบต้องหมั่นฝึกทำแบบฝึกหัดบ่อย ๆ หรือศึกษา Case Study  ต่างๆ แล้วหัดตอบ หัดเขียน เป็นต้น
 การตอบข้อสอบอย่าลอกโจทย์มาตอบโดยไม่มีคำตอบทำให้เสียเวลาและจะไม่ได้คะแนนจากการลอกโจทย์เพียงอย่างเดียว  โดยเฉพาะการตอบข้อสอบวิชาประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อาจจะมีลักษณะเป็นโจทย์คำถามแบบตุ๊กตา ผู้เข้ารับการทดสอบต้องอ่านโจทย์ในลักษณะนี้ให้เข้าใจแล้วแยกแยะประเด็นที่โจทย์ต้องการให้ตอบเพื่อจะได้ตอบให้ครบถ้วน ซึ่งลักษณะการเขียนข้อสอบกฎหมายนี้ควรประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ดังนี้
   ส่วนที่ 1 ให้เขียน “หลักกฎหมายวางไว้ว่า.............................................  (วิเคราะห์จากโจทย์แล้วมีประเด็นอะไรที่โจทย์ถามมามีหลักกฎหมายอะไรเกี่ยวข้องบ้าง ให้ยกหลักกฎหมายนั้นขึ้นมา)
   ส่วนที่ 2 ให้เขียน “ วินิจฉัยปัญหา”   เป็นการปรับบทกฎหมายให้เข้ากับข้อเท็จจริงโดยพิจารณาว่าตามข้อเท็จจริงที่โจทย์ให้มานั้นเมื่อนำมาปรับเข้ากับข้อกฎหมายแล้วผลจะเป็นอย่างไร
   ส่วนที่ 3 คือ สรุป คือตอบคำถามตามที่โจทย์ถามมา 
 
         ข้อผิดพลาดจากการทำข้อสอบในแต่ละวิชา เช่น
         
  การบัญชี              
   ไม่เข้าใจคำถาม ตอบไม่ตรงคำถาม
   บันทึกบัญชี เดบิต เครดิต สลับกัน
   การคำนวณต้นทุนผลิตสินค้า ไม่เข้าใจงบต้นทุนการผลิต แยกแยะรายการในงบต้นทุนการผลิตไม่ได้
   ไม่เขียนรายละเอียดหรือที่มาของตัวเลขในการคำนวณต่าง ๆ 
   ไม่มีการคำนวณประกอบ ใส่แต่คำตอบอย่างเดียว
   ตอบคำถามโดยไม่ดูว่าโจทย์กำหนดอะไรมาให้ เช่น
โจทย์มีรายการค่าเช่าล่วงหน้า ค่าเช่าให้ปรับปรุงออก จะบันทึกบัญชีเป็น
     เดบิต ค่าเช่าจ่าย
               เครดิต ค่าใช้จ่ายล่วงหน้า
ซึ่งที่ถูกต้อง คือ
     เดบิต ค่าเช่า
               เครดิต ค่าเช่าจ่ายล่วงหน้า
   ไม่เข้าใจความหมายของต้นทุนขาย แยกรายการที่เป็นสินทรัพย์และรายการที่เป็นค่าใช้จ่ายไม่ถูกต้อง คำนวณกำไรขาดทุนไม่ได้
   ไม่เข้าใจว่ารายการใดจะนำไปบวกหรือลบกับรายการใด เพื่อคำนวณเป็นต้นทุนต่อหน่วย เช่น ส่วนลดรับ ค่าขนส่งเข้า
  การสอบบัญชี        
   ไม่เข้าใจคำถาม ไม่อ่านคำถามให้เข้าใจ ตอบไม่ตรงคำถาม ตอบคำถามสลับข้อกัน
   ถามเรื่องแนวการสอบบัญชีหรือวิธีการตรวจแต่ไปตอบเรื่องการจัดทำกระดาษทำการ
   ไม่สามารถเขียนแนวการสอบบัญชีหรือวิธีการตรวจของแต่ละบัญชีที่โจทย์ถาม
   ตอบคำถามไม่แยกเป็นประเด็นตอบแบบรวม ๆ 
   ไม่มีความรู้ ความเข้าใจในวัตถุประสงค์การจัดทำรายงานการตรวจสอบและรับรองบัญชี
   ไม่รู้จักการจัดทำกระดาษทำการ เช่นไม่รู้วิธีการทำเครื่องหมายในการตรวจสอบในกระดาษทำการ  เนื้อหาและรูปแบบกระดาษทำการ
   ให้ตอบเป็นประเด็น เช่นให้ตอบ 5 ประเด็น แต่ตอบมาเพียงประเด็นเดียว
   ไม่มีความรู้ความเข้าใจในการจัดทำกระดาษทำการปรับปรุงสินค้าคงเหลือ
  ความรู้เกี่ยวกับประมวลรัษฎากรและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  
   ไม่เข้าใจคำถาม ตอบไม่ตรงคำถาม
   ตอบคำถามโดยไม่มีหลักกฎหมายและไม่เขียนหลักกฎหมาย
   วินิจฉัยปัญหาโดยลอกโจทย์มา ตอบโดยใช้จินตนาการ ความรู้สึกไม่มีสรุป
   โจทย์ถามเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่มไปตอบภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่มีความรู้ในเรื่องภาษีที่ถามจะไปตอบภาษีอื่นที่อยากจะตอบ

 

ปรับปรุงล่าสุด: 07-01-2021