เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/พ./1120
วันที่: 7 กุมภาพันธ์ 2555
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีขอพิจารณาเลื่อนการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ที่ให้ ความช่วยเหลือพักชำระหนี้ลูกค้าเช่าซื้อที่ประสบภัยในพื้นที่น้ำท่วม
ข้อกฎหมาย: มาตรา 78(2) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          สมาคมฯ ได้หารือเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีขอพิจารณาเลื่อนการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจ เช่าซื้อรถยนต์ที่ให้ความช่วยเหลือพักชำระหนี้ลูกค้าเช่าซื้อที่ประสบภัยในพื้นที่น้ำท่วม โดยมีข้อเท็จจริงสรุปได้ดังนี้
          1. เนื่องจากวันที่ 25 กรกฎาคม 2554 ถึงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2554 ประเทศไทยได้เกิดสถานการณ์อุทกภัย น้ำท่วมเกือบทุกภาคของประเทศ และมีประชาชนได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก คณะกรรมการสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย (คณะกรรมการสมาคมฯ) ได้ตระหนักถึงความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ประสบภัยในครั้งนี้ อีกทั้งรัฐมนตรีประจำ สำนักนายกรัฐมนตรี ได้ขอความร่วมมือจากสมาคมฯ และบริษัทสมาชิกเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าผู้เช่าซื้อซึ่งเป็น ผู้ประสบภัย สมาคมฯ จึงได้มีมติขอความร่วมมือจากคณะกรรมการสมาคมฯ และบริษัทสมาชิก เพื่อออกมาตรการ ช่วยเหลือและลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชนที่เป็นลูกค้าของบริษัทสมาชิก เนื่องจากได้รับทราบว่ามีประชาชนส่วนหนึ่ง ที่เป็นเจ้าของรถยนต์ได้ทำสัญญาเช่าซื้อกับนิติบุคคลและสถาบันการเงินต่างๆ ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติในครั้งนี้ด้วย ซึ่งความช่วยเหลือดังกล่าวนี้สถาบันการเงินและผู้ประกอบการได้รับการร้องขอจากหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยได้รับการสนับสนุน ในการออกกฎระเบียบเพื่อผ่อนคลายการตั้งสำรองหนี้และอื่นๆ ให้แก่สถาบันการเงินที่ให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชน ที่ได้รับความเดือดร้อนด้วย
          2. มาตรการในการช่วยเหลือผู้เช่าซื้อรถยนต์ที่ประสบภัยน้ำท่วมนี้ มีนโยบายหลายแนวทาง อาทิ การพักชำระหนี้ ชั่วคราวหรือการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และลดค่าธรรมเนียมต่างๆ อย่างไรก็ตามสำหรับแนวทางการพักชำระหนี้นั้น โดยทาง ปฏิบัติ ภายหลังผู้เช่าซื้อได้ร้องขอเข้ามาตรการช่วยเหลือกรณีน้ำท่วม ไม่ว่าจะโดยทางโทรศัพท์หรือยื่นเป็นหนังสือก็ตาม ทางบริษัทสมาชิกจะทำความตกลงกับผู้เช่าซื้อเพื่อเลื่อนกำหนดการชำระหนี้ที่เดิมต้องชำระเป็นงวดรายเดือนติดต่อกัน ทุกเดือน เปลี่ยนเป็นเลื่อนกำหนดการชำระหนี้ในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่งออกไปเป็นระยะเวลา 1 - 6 เดือน จำนวนงวด ที่ต้องชำระยังเท่าเดิม เพียงแต่กำหนดชำระหนี้ในเดือนสุดท้ายจะเลื่อนออกไปตามระยะเวลาที่พักชำระหนี้ให้ เช่น สัญญา เช่าซื้อเดิมกำหนดชำระค่าเช่าซื้อเป็นงวดรายเดือนรวม 60 เดือน ชำระทุกวันที่ 10 ของเดือนติดต่อกันทุกเดือน โดยเริ่ม ชำระงวดแรกวันที่ 10 มกราคม 2554 สิ้นสุดวันที่ 10 ธันวาคม 2558 ผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อมาแล้ว 10 งวด ถึงงวด วันที่ 10 ตุลาคม 2554 ต่อมาเดือนตุลาคม 2554 ประสบภัยน้ำท่วมทำให้ที่พักอาศัยและ/หรือสถานที่ทำงานได้รับ ผลกระทบ จึงร้องขอให้ผู้ประกอบการพักชำระหนี้ให้เป็นเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2554 ถึงเดือน มกราคม 2555 ผู้ประกอบการ จึงทำข้อตกลงเลื่อนกำหนดวันชำระหนี้ตั้งแต่งวดที่ 11 ซึ่งต้องชำระในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2554 ออกไปเป็นเวลา 3 เดือน โดยให้ค่างวดงวดที่ 11 จากเดิมต้องชำระวันที่ 10 พฤศจิกายน 2554 เปลี่ยนเป็นต้อง ชำระในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2555 และงวดที่ 12 เป็นต้นไป ชำระทุกวันที่ 10 ของเดือนเริ่มตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2555 จนกว่าจะชำระเสร็จ ซึ่งมีผลให้เดือนพฤศจิกายน 2554 ถึงเดือนมกราคม 2555 ไม่มีค่างวดเช่าซื้อที่ต้องชำระแก่กัน แต่อย่างใด เนื่องจากได้ทำข้อตกลงเปลี่ยนแปลงกำหนดวันชำระหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อเดิมออกไปแล้ว และกำหนดชำระหนี้ งวดสุดท้ายจะเลื่อนไปเป็นวันที่ 10 เมษายน 2559 โดยผู้เช่าซื้อจะต้องนำเอกสารที่แสดงว่าตนเองเป็นผู้ประสบภัย ไม่ว่าจะเป็นที่พักอาศัยเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากอาชีพการงานอันเนื่องจากอุทกภัยมาแสดงเป็นหลักฐานและลงนาม ในสัญญาแนบท้ายให้แล้วเสร็จก่อนวันถึงกำหนดการพักชำระหนี้
          สมาคมฯ จึงขอให้กรมสรรพากรพิจารณายกเว้นการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนที่มีการพักชำระหนี้ให้แก่ผู้ประกอบการ ธุรกิจเช่าซื้อ เนื่องจากในเดือนดังกล่าวคู่สัญญาได้ทำข้อตกลงเลื่อนกำหนดวันชำระหนี้ออกไปแล้วจึงไม่มีหนี้ที่ต้องชำระต่อกัน ในช่วงระยะเวลาที่พักชำระหนี้ เพื่อที่ผู้ประกอบการจะได้ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบภัยพิบัติได้อย่างเต็มที่
แนววินิจฉัย          กรณีเกิดสถานการณ์อุทกภัยตามข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น เมื่อคู่สัญญาเช่าซื้อได้ตกลงเปลี่ยนแปลงกำหนดชำระของ งวดเช่าซื้อที่ยังมิได้ถึงกำหนดชำระไปแล้ว ผู้ให้เช่าซื้อมีความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่องวดเช่าซื้อที่มีการแก้ไข ใหม่ถึงกำหนดชำระตามมาตรา 78(2) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 75/38014

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020