เมนูปิด

“ร้อยเรื่องลดหย่อน  ปีภาษี 2560”

 

หมวดค่าลดหย่อนอุปการะเลี้ยงดูคนพิการ/ทุพลภาพ

 

1. ชื่อเรื่อง :  หลักเกณฑ์การหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการ/ทุพลภาพ
คำถาม :   การหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงคนพิการ/ทุพลภาพต้องมีหลักเกณฑ์อย่างไร
คำตอบ :   การหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ คนละ 60,000 บาท สำหรับเงินได้พึงประเมิน ตั้งแต่ปีภาษี 2552 เป็นต้นไป ตามมาตรา 47(1)(ฎ) แห่งประมวลรัษฎากร  ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 37) พ.ศ.2552 ประกอบกับประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 182) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 184) และ (ฉบับที่ 193) และ (ฉบับที่ 242)มีหลักเกณฑ์ดังนี้
          1.  ผู้มีสิทธิหักลดหย่อน ได้แก่ ผู้มีเงินได้ที่อุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ ดังนี้
                    (1) บิดามารดาของผู้มีเงินได้
                    (2) บิดามารดาของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้
                    (3) สามีหรือภริยา ของผู้มีเงินได้
                    (4) บุตรชอบด้วยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้ (บุตรบุญธรรมให้หักในฐานะบุตรบุญธรรมได้ฐานะเดียว)
                    (5) บุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้
                    (6) บุคคลอื่นนอกจาก (1)-(5) ซึ่งเป็นคนพิการที่ผู้มีเงินได้เป็นผู้ดูแลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หรือซึ่งเป็นคนทุพพลภาพและอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้ จำนวน 1 คน
          2.  คนพิการหรือคนทุพพลภาพที่ผู้มีเงินได้ใช้สิทธิหักลดหย่อน ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังนี้
                    (1) มีเงินได้พึงประเมิน ไม่เกิน 30,000 บาท ในปีที่ผู้มีเงินได้ใช้สิทธิหักลดหย่อน โดยไม่รวมเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้น ตามมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากร
                    (2) กรณีคนพิการ ต้องมีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (ตัวอย่างสมุดประจำตัวคนพิการ คลิกเอกสารแนบ)
                         กรณีคนทุพพลภาพ ต้องมีแพทย์ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมตรวจ และแสดงความเห็นว่าบุคคลตาม 1. มีภาวะจำกัด หรือขาดความสามารถในการประกอบกิจวัตรหลักอันเป็นปกติเยี่ยงบุคคลทั่วไปอันเนื่องมาจากสาเหตุทางปัญหาสุขภาพ หรือความเจ็บป่วยที่เป็นต่อเนื่องมาไม่น้อยกว่า 180 วัน หรือทุพพลภาพมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 วัน
                    (3) มีเลขประจำตัวประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนราษฎร
          3.  ผู้มีเงินได้สามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนได้ ดังนี้
                    (1) มีชื่อผู้มีเงินได้เป็นผู้ดูแลคนพิการในบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
                         กรณีมีการเปลี่ยนแปลงผู้ดูแลคนพิการในระหว่างปีภาษีให้ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเป็นผู้ดูแลคนพิการในบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการคนสุดท้ายในปีภาษีนั้นเป็นผู้มีสิทธิหักลดหย่อน
                    (2) กรณีบุคคลตาม 1. เป็นทั้งคนพิการ และเป็นคนทุพพลภาพ ให้ผู้มีเงินได้หักลดหย่อนได้ในฐานะคนพิการเพียงฐานะเดียว
                    (3) ให้หักได้ตลอดปีภาษี ไม่ว่ากรณีที่จะหักได้นั้นจะมีอยู่ตลอดปีภาษีหรือไม่
                    (4) กรณีผู้มีเงินได้มิได้เป็นผู้อยู่ในไทย ให้หักลดหย่อนได้เฉพาะคนพิการหรือคนทุพพลภาพที่เป็นผู้อยู่ในไทย
                    (5) กรณีผู้มีเงินได้หลายคน มีชื่อเป็นผู้ดูแลคนพิการในบัตรประจำตัวคนพิการ ให้ตกลงกันและทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อเพื่อยินยอมให้ผู้มีเงินได้คนหนึ่งคนใดเป็นผู้ใช้สิทธิหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดู
                    (6) กรณีสามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ ให้ฝ่ายที่มีชื่อเป็นผู้ดูแลคนพิการในบัตรประจำตัวคนพิการ เป็นผู้ใช้สิทธิหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดู สำหรับบุตรซึ่งเป็นคนพิการหรือคนทุพพลภาพนั้น
                    (7) กรณีผู้มีเงินได้ซึ่งมีเงินได้ฝ่ายเดียว โดยคู่สมรสซึ่งไม่มีเงินได้เป็นผู้ดูแลและมีชื่อเป็นผู้ดูแลบุตรชอบด้วยกฎหมายในบัตรประจำตัวคนพิการแต่เพียงผู้เดียว ให้ผู้มีเงินได้มีสิทธิหักลดหย่อนบุตรชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นคนพิการนั้นได้
                    (8) ผู้มีเงินได้ต้องมีหนังสือรับรองการหักลดหย่อน  ดังนี้
                         - กรณีหักลดหย่อนคนพิการ  ต้องมีหนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ (แบบ ล.ย.04)
                         - กรณีหักลดหย่อนคนทุพพลภาพ   ต้องมีหนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ (แบบ ล.ย.04) และหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูคนทุพพลภาพ (แบบ ล.ย.04-1)
          4.  เอกสารหลักฐานที่ผู้มีเงินได้ต้องแนบพร้อมแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อใช้สิทธิลดหย่อน มีดังนี้
                    กรณีหักลดหย่อนคนพิการ
                    (1) หนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ (แบบ ล.ย.04)
                    (2) ภาพถ่ายบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการของบุคคลที่ผู้มีเงินได้จะใช้สิทธิหักลดหย่อน พร้อมทั้งภาพถ่ายบัตรประจำตัวคนพิการดังกล่าวในส่วนที่แสดงว่าผู้มีเงินได้เป็นผู้ดูแลคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
                    (3) กรณีผู้มีเงินได้และสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ และแยกยื่นแบบฯ ใช้สิทธิหักลดหย่อนบุตรที่เป็นคนพิการ ให้สามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้แนบหลักฐาน ดังนี้
                         (ก) ภาพถ่าย แบบ ล.ย.04 ของผู้มีเงินได้ ซึ่งสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ได้ลงลายมือชื่อรับรองภาพถ่ายนั้น
                         (ข) ภาพถ่ายหลักฐานตาม 4.(2) ซึ่งสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ได้ลงลายมือชื่อรับรองภาพถ่ายนั้น
                    กรณีหักลดหย่อนคนทุพพลภาพ
                    (1) หนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ (แบบ ล.ย.04)
                    (2) ใบรับรองแพทย์จากแพทย์ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ได้ตรวจและแสดงความเห็นว่าบุคคลตาม 1. มีภาวะจำกัดหรือขาดความสามารถในการประกอบกิจวัตรหลักอันเป็นปกติเยี่ยงบุคคลทั่วไปอันเนื่องมาจากสาเหตุทางปัญหาสุขภาพหรือความเจ็บป่วยที่เป็นต่อเนื่องมาไม่น้อยกว่า 180 วัน หรือทุพพลภาพมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 วัน และใบรับรองแพทย์ดังกล่าวต้องเป็นใบรับรองแพทย์ที่ออกในปีภาษีที่ขอใช้สิทธิหักลดหย่อน
                         กรณีผู้มีเงินได้หลายคนมีใบรับรองแพทย์จากแพทย์ดังกล่าว ให้ผู้มีเงินได้ทุกคนที่มีใบรับรองแพทย์ดังกล่าว ตกลงกันเพื่อยินยอมให้ผู้มีเงินได้คนหนึ่งคนใดเป็นผู้ใช้สิทธิหักลดหย่อน และทำความตกลงเป็นหนังสือโดยผู้มีเงินได้ทุกคนที่มีใบรับรองแพทย์ดังกล่าวเป็นผู้ลงนามในหนังสือตกลงยินยอมนั้น
                    (3) หนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูคนทุพพลภาพ (แบบ ล.ย.04-1) ที่รับรองว่าผู้มีเงินได้เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูบุคคลตาม 1. ซึ่งเป็นคนทุพพลภาพ โดยผู้รับรองต้องเป็นสามีภริยาหรือบุตรชอบด้วยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรมหรือหลาน หรือบิดามารดา หรือพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน หรือพี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน หรือปู่ย่าตายาย หรือลุงป้าน้าอา ของบุคคลตาม ข้อ 1. ซึ่งเป็นคนทุพพลภาพ หรือกำนันผู้ใหญ่บ้าน หรือบุคคลที่เป็นสมาชิกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในท้องที่ที่บุคคลตาม 1. ซึ่งเป็นคนทุพพลภาพอยู่อาศัย โดยหนังสือรับรองดังกล่าว ผู้รับรองต้องรับรองของแต่ละปีภาษีที่ผู้มีเงินได้ได้ใช้สิทธิหักลดหย่อนผู้รับรองตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นบุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะ และรับรองผู้มีเงินได้ ได้ไม่เกิน 1 คน สำหรับการเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูคนทุพพลภาพคนหนึ่งคนใด
                   (4) กรณีผู้มีเงินได้และสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ และแยกยื่นแบบฯ ใช้สิทธิหักลดหย่อนบุตรที่เป็นคนทุพพลภาพ ให้สามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้แนบหลักฐาน ดังนี้
                         (ก) ภาพถ่าย แบบ ล.ย.04 ของผู้มีเงินได้ ซึ่งสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ได้ลงลายมือชื่อรับรองภาพถ่ายนั้น
                         (ข) ภาพถ่ายใบรับรองแพทย์ และ แบบ ล.ย.04-1 ซึ่งสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ได้ลงลายมือชื่อรับรองภาพถ่ายนั้น

 

2.ชื่อเรื่อง :  บุตรพิการมีเงินได้เกิน 15,000 บาท แต่ไม่เกิน 30,000 บาท ผู้มีเงินได้มีสิทธิหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการได้
คำถาม :   นาย ก. ทำงานมีเงินได้จากเงินเดือนจดทะเบียนสมรสกับภริยา ซึ่งเป็นคนพิการ และไม่มีเงินได้ มีบุตรพิการ อายุ 19 ปี บุตรพิการมีรายได้จากดอกเบี้ยเงินฝากประจำปีละ 16,000 บาท ภริยาและบุตรได้รับบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ นาย ก.จะนำภริยาและบุตรซึ่งเป็นคนพิการดังกล่าวมาหักลดหย่อนในปีภาษี 2560  ได้อย่างไร
คำตอบ :   นาย ก.สามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนภริยาและบุตร ซึ่งเป็นคนพิการ ในปีภาษี 2560  ได้ ดังนี้
                      1. ลดหย่อนภริยาในฐานะคู่สมรสไม่มีเงินได้ จำนวน 60,000 บาท ตามมาตรา 47(1) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร และค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการในฐานะคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ ซึ่งเป็นคนพิการได้อีกจำนวน 60,000 บาท ตามมาตรา 47(1)(ฎ) แห่งประมวลรัษฎากร
                      2. ลดหย่อนบุตร จำนวน 30,000 บาท ได้ เนื่องจากบุตรมีเงินได้จากดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ไม่เกินกว่า 30,000 บาท ต่อปี ตามมาตรา 47(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร และสามารถหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการในฐานะบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้มีเงินได้และคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ ซึ่งเป็นคนพิการ และมีเงินได้ทั้งปีไม่เกิน 30,000 บาท  โดยหักลดหย่อนผู้พิการได้อีกจำนวน 60,000 บาท ตามมาตรา 47(1)(ฎ) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 1(2) ของประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 182)
                  อย่างไรก็ตาม ในการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการจะต้องแนบหนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ (แบบ ล.ย.0๔) และสำเนาบัตรประจำตัวคนพิการที่แสดงให้เห็นชื่อผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้ดูแลคนพิการ

 

3. ชื่อเรื่อง :  บุคคลคนเดียวเป็นทั้งคนพิการและเป็นคนทุพพลภาพ หักลดหย่อนคนพิการได้เพียงฐานะเดียว
คำถาม :   นาง ก. เป็นทั้งคนพิการ และคนทุพพลภาพ โดยมีพี่ซึ่งมีเงินได้เป็นผู้ดูแลในบัตรประจำตัวคนพิการ และมีป้าซึ่งมีเงินได้เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูในฐานะคนทุพพลภาพและมีใบรับรองแพทย์ที่แพทย์ลงความเห็นว่า ทุพพลภาพมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 วัน อยากทราบว่า พี่และป้าของนาง ก. จะใช้สิทธิหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการและคนทุพพลภาพได้อย่างไร
คำตอบ :   กรณี นาง ก.  เป็นทั้งคนพิการซึ่งมีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ  และเป็นคนทุพพลภาพซึ่งแพทย์ได้ลงความเห็นว่า ทุพพลภาพมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 วัน มีป้าและพี่เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดู  พี่จึงมีสิทธินำ นาง ก. มาหักลดหย่อนเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูในฐานะคนพิการได้เพียงคนเดียว ตั้งแต่ปีภาษี 2552 เป็นต้นไป จำนวน 60,000 บาท โดยแนบแบบ ล.ย.04 และภาพถ่ายบัตรประจำตัวคนพิการที่ผู้มีเงินได้ลงลายมือชื่อรับรองไว้ ตามมาตรา 47(1)(ฎ) แห่งประมวลรัษฎากร

 

4. ชื่อเรื่อง :   สามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ และภริยาเป็นผู้ดูแลมีชื่อในบัตรเพียงคนเดียว สามีใช้สิทธิลดหย่อนไม่ได้
คำถาม :   สามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้มีบุตรพิการ และภริยามีชื่อเป็นผู้ดูแลบัตรประจำตัวคนพิการเพียงคนเดียว ในปีภาษี 2560  อยู่ร่วมกันตลอดปีภาษี จะยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ใช้สิทธิลดหย่อนบุตรพิการอย่างไร
คำตอบ :   หากสามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ มีบุตรพิการ และภริยามีชื่อเป็นผู้ดูแลในบัตรประจำตัวคนพิการเพียงคนเดียว ให้หักลดหย่อนดังนี้
          1. กรณีภริยาแยกยื่นแบบ ให้ภริยาหักลดหย่อนค่าอุปการะบุตรพิการที่ตนเป็นผู้ดูแลได้ 60,000 บาท
          2. กรณีภริยานำเงินได้ทั้งหมดไปยื่นรวมกับสามี ให้สามีหักลดหย่อนค่าอุปการะบุตรพิการที่ภริยาเป็นผู้ดูแลได้ 60,000 บาท
          3. กรณีภริยาเลือกนำเงินได้ 40(2)-(8) ไปยื่นรวมกับสามี ส่วนเงินได้ 40(1) ยื่นในนามตนเอง ให้ภริยาหักลดหย่อนค่าอุปการะบุตรพิการที่ตนเป็นผู้ดูแลได้ 60,000 บาท          ​​

 

5. ชื่อเรื่อง :  คนต่างชาติหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพได้
คำถาม :   ชาวต่างชาติอุปการะเลี้ยงดูคนพิการ จะยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ใช้สิทธิหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการได้หรือไม่
คำตอบ :  ผู้มีเงินได้ต้องเป็นผู้ดูแลคนพิการ ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และคนพิการต้องมีบัตรประจำตัวคนพิการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550   
          ทั้งนี้  บุคคลซึ่งเป็นคนพิการหรือเป็นคนทุพพลภาพดังกล่าว ต้องเป็นบุคคลที่มีเลขประจำตัวประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนราษฎร ผู้มีเงินได้จึงจะใช้สิทธิหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพได้ โดยผู้มีเงินได้ซึ่งมิได้เป็นผู้อยู่ในไทยนั้น ให้หักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพได้เฉพาะคนพิการหรือคนทุพพลภาพที่เป็นผู้อยู่ในไทยเท่านั้น     ดังนั้น  คนต่างชาติอุปการะเลี้ยงดูคนพิการ ซึ่งไม่มีเลขประจำตัวประชาชน ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร ด้วยเลขประจำตัวผู้เสียภาษีนั้น  สามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือทุพพลภาพได้

 

6. ชื่อเ ก. รื่อง :  ผู้มีเงินได้หลายคนมีชื่อเป็นผู้ดูแลคนพิการในบัตรประจำตัวคนพิการ ต้องตกลงกัน
คำถาม :   นายมีบิดาเป็นคนพิการ ได้จ้างพยาบาล ข. มาดูแล โดยระบุชื่อ นาย ก. และพยาบาล ข. เป็นผู้ดูแลในบัตรประจำตัวคนพิการ กรณีดังกล่าวนาย ก. จะสามารถหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการอย่างไร
คำตอบ :  กรณีผู้มีเงินได้หลายคนมีชื่อเป็นผู้ดูแลคนพิการในบัตรประจำตัวคนพิการ ให้ผู้มีเงินได้ทุกคนที่มีชื่อเป็นผู้ดูแล  ตกลงกันเพื่อยินยอมให้ผู้มีเงินได้คนหนึ่งคนใดเป็นผู้ใช้สิทธิหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดู และทำความตกลงเป็นหนังสือ  โดยผู้มีเงินได้ทุกคนที่มีชื่อเป็นผู้ดูแลดังกล่าว เป็นผู้ลงนามในหนังสือตกลงยินยอมนั้น เพื่อให้ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้ใช้สิทธิหักลดหย่อนคนพิการใช้เป็นหลักฐานในการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดู ตามข้อ 1(3) วรรคสาม ของประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 182) แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 193) 
          ดังนั้น  นาย ก. และพยาบาล ข. ซึ่งมีชื่อร่วมกันเป็นผู้ดูแลคนพิการในบัตรประจำตัวคนพิการดังกล่าว ต้องตกลงกันและทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อเพื่อยินยอมให้ผู้มีเงินได้คนหนึ่งคนใดเป็นผู้ใช้สิทธิหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดู

 

7. ชื่อเรื่อง :  บิดาเป็นคนพิการ อายุเกิน 65 ปีและมีเงินได้ 200,000 บาท บุตรใช้สิทธิหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการได้
คำถาม :   บิดาเป็นคนพิการ อายุเกิน 65 ปี และมีเงินได้พึงประเมิน 200,000 บาท ได้รับยกเว้นเงินได้จำนวน 190,000 บาท ตามข้อ 2 (72) ของกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) บุตรมีชื่อเป็นผู้ดูแลในบัตรประจำตัวคนพิการ สามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนคนพิการได้หรือไม่
คำตอบ :  บุตรมีสิทธิหักลดหย่อนค่าดูแลคนพิการได้ กรณีบุตรมีชื่อเป็นผู้ดูแลคนพิการในบัตรประจำตัวคนพิการของบิดา บิดาผู้พิการมีเงินได้พึงประเมิน ไม่เกิน 30,000 บาท (200,000 – 190,000 = 10,000) โดยไม่รวมเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้น ตามมาตรา 42 (17) แห่งประมวลรัษฎากร ในปีที่ผู้มีเงินได้ใช้สิทธิหักลดหย่อน แต่บุตรไม่มีสิทธิหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา เพราะมีเงินได้เกิน 30,000 บาท (รวมถึงเงินได้ที่ได้รับยกเว้นด้วย)

 

8. ชื่อเรื่อง :  เปลี่ยนแปลงผู้ดูแลในบัตรประจำตัวคนพิการ คนมีชื่อผู้ดูแลคนสุดท้ายในปีภาษีลดหย่อนได้
คำถาม :   นาง ข  มีชื่อเป็นผู้ดูแลคนพิการ ต่อมาในเดือน สิงหาคม นาย ก. ได้ไปขอเปลี่ยนชื่อผู้แลจาก นาง ข ให้เป็นชื่อ ของ นาย ก. เป็นผู้ดูแล ใครจะเป็นผู้ใช้สิทธิลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการ
คำตอบ :  กรณีมีการเปลี่ยนแปลงผู้ดูแลคนพิการในระหว่างปีภาษีให้ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเป็นผู้ดูแลคนพิการในบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการคนสุดท้ายในปีภาษีนั้นเป็นผู้มีสิทธิหักลดหย่อน
             ดังนั้น  นาย ก. จึงเป็นผู้มีสิทธิในการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการ

 

ปรับปรุงล่าสุด: 03-12-2021