เมนูปิด

ความตกลง
ระหว่าง
รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย
และ
รัฐบาลแห่งรัฐสุลต่านโอมาน
เพื่อ
การเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากร
ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้


                  รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งรัฐสุลต่านโอมาน

                มีความปรารถนาที่จะทำความ ตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน และการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษี เก็บจากเงินได้
                ได้ตกลงกันดังต่อไปนี้


ข้อ 1
ขอบข่ายด้านบุคคล

                ความตกลงนี้ให้ใช้บังคับแก่บุคคลผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งหรือทั้งสองรัฐ


ข้อ 2
ภาษีที่อยู่ในขอบข่าย

1.             ความตกลงนี้ให้ใช้บังคับแก่ภาษีเก็บจากเงินได้ ที่บังคับจัดเก็บในนามของรัฐผู้ทำสัญญา แต่ละรัฐ หรือในนามของส่วนราชการ หรือองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นของแต่ละรัฐ โดยไม่คำนึงถึงวิธีการเรียกเก็บ

2.             ภาษีทั้งปวงที่ตั้งบังคับจัดเก็บจากเงินได้ทั้งสิ้น หรือจากองค์ประกอบของเงินได้ รวมทั้ง ภาษีที่เก็บจากผลได้จากการขายสังหาริมทรัพย์ หรืออสังหาริมทรัพย์ ภาษีที่เก็บจาก ค่าจ้าง หรือเงินเดือนที่จ่ายโดยวิสาหกิจ ตลอดจนภาษีที่เก็บจากการเพิ่มค่าของทุน ให้ถือว่าเป็นภาษีเก็บจากเงินได้

3.             ภาษีที่จัดเก็บอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งความตกลงนี้จะใช้บังคับ ได้แก่
                ก)            ในกรณีรัฐสุลต่านโอมาน
                                (1)             ภาษีเงินได้บริษัท และ
                                (2)             ภาษีเก็บจากกำไรทางการค้าและอุตสาหกรรม
                                ( ซึ่งต่อไปในที่นี้จะเรียกว่า "ภาษีโอมาน " )
                ข)             ในกรณีประเทศไทย
                                (1)             ภาษีเงินได้ และ
                                (2)             ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม
                                ( ซึ่งต่อไปในที่นี้จะเรียกว่า "ภาษีไทย")            

4.             ความตกลงนี้จะใช้บังคับแก่ภาษีใดๆ ที่มีลักษณะเหมือนกันหรือคล้ายคลึงกันในสาระสำคัญ ซึ่งหลังจากวันที่ลงนามในความตกลงนี้ จะได้ตั้งบังคับเพิ่มเติมจากหรือแทนที่ภาษีที่มีอยู่ใน ปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาจะได้แจ้งแก่กันและกัน เพื่อให้ทราบถึงความ เปลี่ยนแปลงที่สำคัญใดๆ ซึ่งได้มีขึ้นในกฎหมายภาษีอากรของแต่ละรัฐภายใน 6 เดือน นับจากวันซึ่งมีการเปลี่ยนแปลง เว้นแต่จะมีเหตุสุดวิสัย


ข้อ 3
บทนิยามทั่วไป

1.             เพื่อความมุ่งประสงค์ของความตกลงนี้ เว้นแต่บริบทจะกำหนดเป็นอย่างอื่น
                (ก)             คำว่า "รัฐสุลต่านโอมาน" หมายถึง อาณาเขตของรัฐสุลต่านโอมาน และเกาะ
                                  ซึ่งถือว่าเป็นของรัฐสุลต่านโอมาน รวมถึงน่านน้ำ และพื้นที่ใดๆนอกน่านน้ำ
                                  ซึ่งรัฐสุลต่านโอมานอาจกำหนดโดยกฎหมายรัฐสุลต่านโอมานและ ภายใต้กฎหมาย
                                  ระหว่างประเทศ ให้เป็นพื้นที่ซึ่งรัฐสุลต่านโอมานอาจใช้สิทธิอธิปไตยในส่วนที่เกี่ยวกับ
                                  การสำรวจ และแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของพื้นดินท้องทะเล
                                   และดินใต้ผิวดินและเหนือพื้นน้ำ
                (ข)             คำว่า "ประเทศไทย" หมายถึง ราชอาณาจักรไทยและรวมถึงพื้นที่ใดๆซึ่งประชิด
                                   กับน่านน้ำอาณาเขตของราชอาณาจักรไทยซึ่งตามกฎหมายไทยและตามกฎหมาย
                                   ระหว่างประเทศกำหนดไว้หรืออาจกำหนดไว้ภายหลังให้เป็นพื้นที่ซึ่งราชอาณาจักร             
                                   ไทยอาจใช้สิทธิในส่วนที่เกี่ยวกับพื้นดินท้องทะเลและดินใต้ผิวดิน และ
                                   ทรัพยากรธรรมชาติของตนภายในพื้นที่นั้นๆได้
                (ค)             คำว่า "รัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง" และ "รัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง" หมายถึง
                                  รัฐสุลต่านโอมาน หรือประเทศไทย แล้วแต่บริบทจะกำหนด
                (ง)             คำว่า "บุคคล" รวมถึงบุคคลธรรมดา บริษัท คณะบุคคล และหน่วยใดๆ
                                  ซึ่งถือเป็นหน่วยที่อาจเก็บภาษีได้ภายใต้กฎหมายภาษีอากรที่ใช้บังคับอยู่ใน
                                  รัฐผู้ทำสัญญาแต่ละรัฐ
                (จ)             คำว่า "บริษัท" หมายถึงนิติบุคคลใดๆ หรือหน่วยใดๆ ซึ่งถือว่าเป็นนิติบุคคล
                                  เพื่อความมุ่งประสงค์ในทางภาษี
                (ฉ)             คำว่า " วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง" และ "วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญา
                                  อีกรัฐหนึ่ง" หมายถึง วิสาหกิจที่ดำเนินการโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญา
                                  รัฐหนึ่งและวิสาหกิจที่ดำเนินการโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งตามลำดับ
                (ช)             คำว่า "การจราจรระหว่างประเทศ" หมายถึง การขนส่งใดๆ ทางเรือ หรือ
                                  ทางอากาศยาน ซึ่งดำเนินการโดยวิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง ยกเว้นกรณี
                                  ที่เรือ หรือ อากาศยานมีการดำเนินการระหว่างสถานที่ต่างๆ ในรัฐผู้ทำสัญญา
                                  อีกรัฐหนึ่งเท่านั้น
                (ซ)             คำว่า "คนชาติ" หมายถึง
                                  (1)             บุคคลธรรมดาทั้งปวงที่มีสัญชาติของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง
                                  (2)             นิติบุคคล ห้างหุ้นส่วน สมาคมหรือหน่วยใดๆ ที่ได้รับสถานภาพของตนเช่นนั้น
                                                   ตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง
                (ฌ)             คำว่า "เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ" หมายถึง
                                  (1)             ในกรณีของรัฐสุลต่านโอมาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจแห่งชาติ
                                                    และผู้ตรวจการกระทรวงการคลัง หรือผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจ
                                  (2)             ในกรณีของประเทศไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้แทนที่ได้รับ
                                                    มอบอำนาจ
                (ญ)             คำว่า "ภาษี" หมายถึง ภาษีโอมาน หรือภาษีไทยแล้วแต่บริบทจะกำหนด แต่จะ
                                  ไม่รวมถึงจำนวนใด ๆ ซึ่งได้จ่ายในส่วนที่เกี่ยวกับการผิดนัดหรือไม่ปฏิบัติใด ๆ
                                  ที่เกี่ยวข้องกับภาษีซึ่งความตกลงนี้มีผลใช้บังคับ หรือซึ่งแทนเบี้ยปรับที่ได้จัดเก็บ
                                  ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาษีนั้น

2.             ในการใช้บังคับความตกลงที่กำหนดไว้โดยรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งในเวลาใดๆ คำใดๆที่มิได้
นิยามไว้ในความตกลงนี้ให้มีความหมายซึ่งคำนั้นมีอยู่ในขณะนั้นตามกฎหมายของรัฐนั้น
เพื่อความมุ่งประสงค์ของการเก็บภาษีซึ่งความตกลงนี้ใช้บังคับ เว้นแต่บริบทจะกำหนดเป็น
อย่างอื่น ความหมายใดๆ ภายใต้กฎหมายภาษีที่ใช้บังคับอยู่ของรัฐนั้น จะมีผลบังคับเหนือ
คำจำกัดความภายใต้กฎหมายอื่นของรัฐนั้น


ข้อ 4
ผู้มีถิ่นที่อยู่

1.             เพื่อความมุ่งประสงค์แห่งความตกลงนี้ คำว่า "ผู้มีถิ่นที่อยู่ของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง"  หมายถึง บุคคลใดๆ ผู้ซึ่งตามกฎหมายของรัฐนั้นมีหน้าที่ต้องเสียภาษีในรัฐนั้น โดย เหตุผลแห่งการมีภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่ สถานที่ก่อตั้ง สถานจัดการ หรือโดยเกณฑ์ อื่นใดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน และรวมถึงรัฐนั้น และส่วนราชการใด ๆ หรือ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นของรัฐนั้น

2.             ในกรณีที่โดยเหตุผลแห่งบทบัญญัติของวรรค 1 บุคคลธรรมดาผู้ซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ ของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ ให้กำหนดสถานภาพของบุคคลดังกล่าวดังต่อไปนี้
                (ก)            ให้ถือว่าบุคคลธรรมดานั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ของรัฐซึ่งบุคคลนั้นมีที่อยู่ถาวรเท่านั้น
                                  ถ้าบุคคลนั้นมีที่อยู่ถาวรในทั้งสองรัฐ ให้ถือว่าเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ของรัฐซึ่งบุคคลนั้น
                                  มีความสัมพันธ์ทางส่วนตัวและทางเศรษฐกิจใกล้ชิดกว่า (ศูนย์กลางของผล ประโยชน์อันสำคัญ)            
                 (ข)            ถ้าไม่อาจกำหนดรัฐซึ่งบุคคลนั้นมีศูนย์กลางของผลประโยชน์อันสำคัญได้หรือถ้าบุคคลธรรมดานั้นไม่มีที่อยู่ถาวรในรัฐหนึ่งรัฐใด ให้ถือว่าบุคคลธรรมดานั้น เป็นผู้มีถิ่นที่อยู่เฉพาะในรัฐที่บุคคลนั้นมีที่อยู่เป็นปกติวิสัย
                (ค)             ถ้าบุคคลธรรมดานั้นมีที่อยู่เป็นปกติวิสัยในทั้งสองรัฐหรือไม่มีที่อยู่เป็นปกติวิสัยใน ทั้งสองรัฐ ให้ถือว่า เป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ของรัฐที่บุคคลนั้นเป็นคนชาติ
                (ง)             ถ้าบุคคลธรรมดาเป็นคนชาติของทั้งสองรัฐ หรือมิได้เป็นคนชาติของทั้งสองรัฐ เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐจะแก้ไขปัญหา โดยความตกลงร่วมกัน

3.             ในกรณีที่ตามเหตุผลแห่งบทบัญญัติของวรรค 1 บุคคลทั้งปวงที่นอกเหนือจากบุคคล ธรรมดาใดเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ จะถือว่าบริษัทนั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ ในรัฐผู้ทำสัญญาที่บริษัทนั้นได้ก่อตั้งขึ้น ถ้าบริษัทมีสถานที่ก่อตั้งอยู่ในรัฐผู้ทำสัญญา ทั้งสองรัฐให้ถือว่า บริษัทนั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาที่บริษัทนั้นมีสถานจัดการ ใหญ่ตั้งอยู่ ถ้าไม่สามารถพิจารณากำหนดสถานจัดการใหญ่ได้ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ ของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐแก้ไขปัญหาโดยความตกลงร่วมกัน


ข้อ 5
สถานประกอบการถาวร

1.             เพื่อความมุ่งประสงค์ของความตกลงนี้ คำว่า "สถานประกอบการถาวร" หมายถึง
สถานธุรกิจประจำซึ่งวิสาหกิจใช้ประกอบธุรกิจทั้งหมดหรือแต่บางส่วน

2.             คำว่า "สถานประกอบการถาวร" โดยเฉพาะรวมถึง
                (ก)             สถานจัดการ
                (ข)             สาขา
                (ค)             สำนักงาน
                (ง)             โรงงาน
                (จ)             โรงช่าง
                (ฉ)             เหมืองแร่ บ่อน้ำมันหรือบ่อก๊าซ เหมืองหิน หรือสถานที่อื่นใดที่ใช้ในการขุดค้น            
                                  ทรัพยากรธรรมชาติ และ
                (ช)             ที่ตั้งอาคาร ,โครงการก่อสร้าง หรือโครงการประกอบหรือโครงการติดตั้งที่ดำรงอยู่ เกินกว่า 6 เดือน

3.             แม้จะมีบทบัญญัติก่อนๆของข้อนี้อยู่ คำว่า "สถานประกอบการถาวร" ไม่ให้ถือว่า รวมถึง
                (ก)             การใช้สิ่งอำนวยความสะดวกเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการเก็บรักษา หรือ
                                  การจัดแสดง สิ่งของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจนั้น
                (ข)             การเก็บรักษามูลภัณฑ์ของสิ่งของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจเพียงเพื่อความมุ่ง
                                   ประสงค์ในการเก็บรักษา หรือ การจัดแสดง
                (ค)             การเก็บรักษามูลภัณฑ์ของสิ่งของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจเพียงเพื่อความมุ่ง
                                  ประสงค์ให้วิสาหกิจอื่นใช้ในการแปรสภาพ
                (ง)             การมีสถานธุรกิจประจำเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการจัดซื้อสิ่งของ หรือสินค้า หรือ
                                  รวบรวมข้อสนเทศเพื่อวิสาหกิจนั้น
                (จ)             การมีสถานธุรกิจประจำไว้เพียงเพื่อความมุ่งประสงค์เพื่อกิจกรรม ซึ่งมีลักษณะเป็นการ
                                  เตรียมการหรือเป็นส่วนประกอบให้แก่วิสาหกิจนั้น
                (ฉ)             การมีสถานธุรกิจประจำไว้เพียงเพื่อประกอบกิจกรรมที่กล่าวถึงในอนุวรรค(ก) ถึง (จ)โดยมีเงื่อนไขว่า กิจกรรมทั้งมวลของสถานธุรกิจประจำซึ่งเป็นผลมาจากการรวมเข้ากันนี้ มีลักษณะเป็นการเตรียมการหรือส่วนประกอบ

4.             แม้จะมีบทบัญญัติของวรรค 1 และวรรค 2 เมื่อบุคคลนอกเหนือจากตัวแทนที่มีสถานภาพ เป็นอิสระซึ่งอยู่ในบังคับของวรรค 5 กระทำการในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งในนามของวิสาหกิจ ของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง ให้ถือว่าวิสาหกิจนั้นมีสถานประกอบการถาวรในรัฐผู้ทำสัญญา
ที่กล่าวถึงรัฐแรก เมื่อบุคคลนั้นได้กระทำการใดๆแทนวิสาหกิจนั้น ถ้าบุคคลนั้น
                (ก)             มีและใช้อย่างเป็นปกติวิสัยในรัฐนั้น ซึ่งอำนาจในการทำสัญญาในนามของวิสาหกิจนั้น เว้นไว้แต่ว่ากิจกรรมต่างๆของบุคคลนั้นจำกัดอยู่เฉพาะที่กล่าวถึงในวรรค 3 ซึ่งถ้าได้ กระทำการโดยผ่านสถานธุรกิจประจำเช่นว่านั้น สถานธุรกิจประจำนี้จะไม่ก่อให้เกิด สถานประกอบการถาวรภายใต้บทบัญญัติของวรรคนั้น
                (ข)             ไม่มีอำนาจเช่นว่านั้น แต่ได้เก็บรักษาอย่างเป็นปกติวิสัยในรัฐที่กล่าวถึงรัฐแรกซึ่ง มูลภัณฑ์ของสิ่งของหรือสินค้า ซึ่งเป็นของวิสาหกิจนั้น จากการดำเนินการสั่งซื้อ หรือทำการส่งมอบของในนามของวิสาหกิจนั้นอยู่เป็นประจำ หรือ
                (ค)             ไม่มีอำนาจเช่นว่านั้น แต่ได้จัดหาคำสั่งซื้ออย่างเป็นปกติวิสัยในรัฐที่กล่าวถึงรัฐแรก ทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด เพื่อวิสาหกิจนั้นหรือเพื่อวิสาหกิจนั้น และวิสาหกิจอื่นๆ ซึ่งอยู่ในความควบคุมของวิสาหกิจนั้น หรือมีผลประโยชน์ควบคุมอยู่ในวิสาหกิจนั้น

5.             วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งจะไม่ถือว่ามีสถานประกอบการถาวรในรัฐผู้ทำสัญญา อีกรัฐหนึ่ง เพียงเพราะว่าวิสาหกิจดังกล่าวดำเนินธุรกิจในอีกรัฐหนึ่ง นั้น โดยผ่านทาง นายหน้า ตัวแทนการค้าทั่วไปหรือตัวแทนอื่นใดที่มีสถานภาพเป็นอิสระ โดยมีเงื่อนไขว่า บุคคลเช่นว่านั้นได้กระทำการอันเป็นปกติในธุรกิจของตน อย่างไรก็ตาม กรณีกิจกรรมของ ตัวแทนดังกล่าวได้กระทำทั้งหมดหรือเกือบ ทั้งหมด ในนามวิสาหกิจนั้น บุคคลเช่นว่านี้จะ ไม่ถือว่าเป็นตัวแทนที่มีสถานภาพเป็นอิสระภายใต้ความหมายของวรรคนี้

6.             ข้อเท็จจริงที่ว่าบริษัทหนึ่งซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง หรือซึ่งถูกควบคุมโดย บริษัทซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง หรือซึ่งประกอบธุรกิจในอีกรัฐหนึ่งนั้น (ไม่ว่าจะผ่านสถานประกอบการถาวรหรือไม่ก็ตาม) มิเป็นเหตุให้บริษัทหนึ่งบริษัทใดเป็น สถานประกอบการถาวรของอีกบริษัทหนึ่ง

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 08-12-2011