เมนูปิด

อนุสัญญา
ระหว่าง
รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย
และ
รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสโลวีเนีย
เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน
และการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากร
ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้


รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสโลวีเนีย

                มีความปรารถนาที่จะทำอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน และการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้
                ได้ตกลงกันดังต่อไปนี้



ข้อ 1
ขอบข่ายด้านบุคคล

                อนุสัญญานี้ให้ใช้บังคับแก่บุคคลผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งหรือทั้งสองรัฐ


ข้อ 2
ภาษีที่อยู่ในขอบข่าย

1.             อนุสัญญานี้ให้ใช้บังคับแก่ภาษีเก็บจากเงินได้ที่บังคับจัดเก็บในนามของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง หรือในนามของส่วนราชการหรือองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นของรัฐนั้นโดยไม่คำนึงถึงวิธีการเรียกเก็บ

2.             ภาษีทั้งปวงที่ตั้งบังคับจัดเก็บจากเงินได้ทั้งสิ้น หรือจากองค์ประกอบของเงินได้ รวมทั้งภาษีที่เก็บจากผลได้จากการจำหน่ายสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ ภาษีที่เก็บจากยอดรวมของเงินค่าจ้างหรือเงินเดือนซึ่งวิสาหกิจเป็นผู้จ่าย ตลอดจนภาษีที่เก็บจากการเพิ่มค่าของทุน ให้ถือว่าเป็นภาษีเก็บจากเงินได้

3.             ภาษีที่จัดเก็บอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งอนุสัญญานี้จะใช้บังคับโดยเฉพาะ ได้แก่
                ก)           ในกรณีประเทศไทย
                                (1)           ภาษีเงินได้ และ
                                (2)           ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม
                                                (ต่อไปในที่นี้จะเรียกว่า "ภาษีไทย")          

                ข)           ในกรณีประเทศสโลวีเนีย
                                (1)           ภาษีกำไรของนิติบุคคล
                                (2)           ภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดา รวมทั้งค่าจ้างหรือเงินเดือน เงินได้จาก
                                                กิจกรรมการเกษตร เงินได้จากธุรกิจ ผลได้จากทุน และเงินได้จากสังหาริมทรัพย์
                                                และอสังหาริมทรัพย์
                                                (ต่อไปในที่นี้จะเรียกว่า "ภาษีสโลวีเนียน")          

4.             อนุสัญญานี้จะใช้บังคับแก่ภาษีใดๆ ที่มีลักษณะเหมือนกันหรือคล้ายคลึงกันในสาระสำคัญซึ่งใช้บังคับหลังจากวันที่ลงนามในอนุสัญญานี้ เป็นการเพิ่มเติมจาก หรือแทนที่ภาษีที่มีอยู่ในปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองจะได้แจ้งให้กันและกันทราบถึงความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญใด ๆ ซึ่งได้มีขึ้นในกฎหมายภาษีอากรของแต่ละรัฐ


ข้อ 3
บทนิยามทั่วไป

1.             เพื่อความมุ่งประสงค์ของอนุสัญญานี้ เว้นแต่บริบทจะกำหนดเป็นอย่างอื่น

                (ก)           คำว่า "ประเทศสโลวีเนีย" หมายถึง สาธารณรัฐสโลวีเนียและเมื่อใช้ในความหมาย
                                ทางภูมิศาสตร์ อาณาเขตของประเทศสโลวีเนีย รวมถึงพื้นที่ทะเล พื้นดินท้องทะเล
                                และดินใต้ผิวดิน ประชิดกับน่านน้ำอาณาเขตเหนือ ซึ่งประเทศสโลวีเนียอาจใช้สิทธ ิ
                                อธิปไตย หรือทางศาล ตามกฎหมายภายในของตนและกฎหมายระหว่างประเทศ

                (ข)           คำว่า "ประเทศไทย" หมายถึง ราชอาณาจักรไทยและรวมถึงพื้นที่ทางทะเลซึ่งประชิด
                                กับน่านน้ำอาณาเขตของราชอาณาจักรไทย ซึ่งตามกฎหมายไทยและตามกฎหมาย
                                ระหว่างประเทศได้กำหนดหรือต่อไปอาจกำหนดให้เป็นพื้นที่ซึ่งราชอาณาจักรไทย
                                อาจใช้สิทธิเกี่ยวกับพื้นดินท้องทะเลและดินใต้ผิวดินและทรัพยากรธรรมชาติภายใน
                                พื้นที่นั้นๆได้

                (ค)           คำว่า "รัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง" และ "รัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง" หมายถึง ประเทศสโลวีเนีย
                                หรือประเทศไทย แล้วแต่บริบทจะกำหนด

                (ง)           คำว่า "บุคคล" รวมถึง บุคคลธรรมดา บริษัทและคณะบุคคลใด ๆ รวมทั้งหน่วยใด ๆ
                                ซึ่งถือว่าเป็นหน่วยภาษีภายใต้กฎหมายภาษีอากรที่ใช้บังคับอยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐใดรัฐหนึ่ง

                (จ)           คำว่า " บริษัท " หมายถึง นิติบุคคลใดๆหรือหน่วยใดๆซึ่งถือว่าเป็นนิติบุคคลเพื่อ
                                ความมุ่งประสงค์ในทางภาษี

                (ฉ)           คำว่า " วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง" และ "วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง"
                                หมายถึง วิสาหกิจที่ดำเนินการโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง และวิสาหกิจที่
                                ดำเนินการ โดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งตามลำดับ

                (ช)           คำว่า "ภาษี" หมายถึง ภาษีไทยหรือภาษีสโลวีเนียนแล้วแต่บริบทจะกำหนด

                (ซ)           คำว่า "การจราจรระหว่างประเทศ" หมายถึง การขนส่งใดๆ โดยทางเรือ หรือ
                                ทางอากาศยาน โดยวิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง ยกเว้นกรณีเรือหรือ
                                อากาศยาน ซึ่งดำเนินการระหว่างสถานที่ต่างๆในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งเท่านั้น

                (ฌ)           คำว่า "เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ" หมายถึง
                                (1)           ในกรณีของประเทศไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้แทนที่ได้รับ
                                                มอบอำนาจ และ
                                (2)           ในกรณีของประเทศสโลวีเนีย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแห่งสาธารณรัฐ
                                                สโลวีเนียหรือผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจ

                (ญ)           คำว่า "คนชาติ" หมายถึง
                                (1)           บุคคลธรรมดาใดๆ ซึ่งมีสัญชาติของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง
                                (2)           นิติบุคคลใดๆ ห้างหุ้นส่วน สมาคม และหน่วยอื่นใดที่ได้รับสถานภาพ
                                                เช่นว่านั้นตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง

2.             ในการใช้บังคับอนุสัญญา โดยรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง คำใดๆ ที่มิได้นิยามไว้ในอนุสัญญานี้ ให้มีความหมายตามที่คำนั้นมีอยู่ตามกฎหมายของรัฐนั้น ซึ่งเกี่ยวกับภาษีที่อนุสัญญานี้ใช้บังคับ เว้นแต่บริบทจะกำหนดเป็นอย่างอื่น


ข้อ 4
ผู้มีถิ่นที่อยู่

1.             เพื่อความมุ่งประสงค์แห่งอนุสัญญานี้ คำว่า "ผู้มีถิ่นที่อยู่ของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง" หมายถึง บุคคลใดๆผู้ซึ่งภายใต้กฎหมายของรัฐนั้นมีหน้าที่เสียภาษีในรัฐนั้น โดยเหตุแห่งการมีภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่ สถานที่ก่อตั้ง(จดทะเบียน) สถานจัดการหรือโดยเกณฑ์อื่นใดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน และรวมถึงรัฐนั้นและส่วนราชการหรือองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นของรัฐนั้น อย่างไรก็ดี คำนี้มิให้รวมถึงบุคคลใดๆซึ่งมี หน้าที่ต้องเสียภาษีในรัฐนั้นด้วยเหตุเฉพาะการมีเงินได้จากแหล่งในรัฐนั้นแต่เพียงอย่างเดียว

2.             ในกรณีที่โดยเหตุแห่งบทบัญญัติของวรรค 1 บุคคลธรรมดาเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ ให้กำหนดสถานภาพของบุคคลดังกล่าวดังต่อไปนี้

                (ก)           ให้ถือว่าบุคคลนั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ของรัฐซึ่งบุคคลนั้นมีที่อยู่ถาวร ถ้าบุคคลนั้นมีที่อยู่ถาวร
                                ในทั้งสองรัฐ ให้ถือว่าเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ของรัฐซึ่งบุคคลนั้นมีความสัมพันธ์ทางส่วนตัวและ
                                ทางเศรษฐกิจ ใกล้ชิดกว่า (ศูนย์กลางของผลประโยชน์อันสำคัญ)          

                (ข)           ถ้าไม่อาจกำหนดรัฐซึ่งบุคคลนั้นมีศูนย์กลางของผลประโยชน์อันสำคัญหรือถ้าบุคคลนั้น
                                ไม่มีที่อยู่ถาวรในรัฐใดรัฐหนึ่ง ให้ถือว่าบุคคลนั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐที่บุคคลนั้นมีที่อยู่เป็นปกติวิสัย

                (ค)           ถ้าบุคคลนั้นมีที่อยู่เป็นปกติวิสัยในทั้งสองรัฐหรือไม่มีที่อยู่เป็นปกติวิสัยในทั้งสองรัฐ ให้ถือว่า
                                บุคคลนั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ของรัฐที่บุคคลนั้นเป็นคนชาติ

                (ง)           ถ้าบุคคลนั้นเป็นคนชาติของทั้งสองรัฐหรือไม่เป็นคนชาติของทั้งสองรัฐ ให้เจ้าหน้าที่
                                ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐพยายามแก้ไขปัญหาโดยความตกลงร่วมกัน

3.             ในกรณีที่โดยเหตุแห่งบทบัญญัติของวรรค 1 บุคคลนอกเหนือจากบุคคลธรรมดาเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ พยายามแก้ไขปัญหาโดยความตกลงร่วมกัน และกำหนดแนวปฏิบัติของข้อตกลงแก่บุคคลดังกล่าว


ข้อ 5
สถานประกอบการถาวร

1.             เพื่อความมุ่งประสงค์ของอนุสัญญานี้ คำว่า "สถานประกอบการถาวร" หมายถึง สถานธุรกิจประจำซึ่งวิสาหกิจใช้ประกอบธุรกิจทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน

2.             คำว่า "สถานประกอบการถาวร" ให้รวมถึงโดยเฉพาะ
                (ก)           สถานจัดการ
                (ข)           สาขา
                (ค)           สำนักงาน
                (ง)           โรงงาน
                (จ)           โรงช่าง
                (ฉ)           เหมืองแร่ บ่อน้ำมันหรือบ่อก๊าซ เหมืองหิน หรือสถานที่อื่นใดที่ใช้ในการขุดค้น
                                ทรัพยากรธรรมชาติ และ
                (ช)           คลังสินค้าในส่วนที่เกี่ยวกับบุคคล ซึ่งจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกในการเก็บรักษาสำหรับ
                                บุคคลอื่น

3.             คำว่า "สถานประกอบการถาวร" ให้รวมถึง

                (ก)           ที่ตั้งอาคาร โครงการก่อสร้าง โครงการประกอบหรือติดตั้ง หรือกิจกรรมตรวจควบคุม
                                เกี่ยวกับโครงการนั้น แต่เฉพาะกรณีที่ตั้ง โครงการหรือกิจกรรมนั้นได้ดำรงอยู่เป็นระยะ
                                เวลาเดียวหรือหลายระยะเวลารวมกันเกินกว่า 6 เดือน

                (ข)           การให้บริการ รวมทั้งบริการให้คำปรึกษา โดยวิสาหกิจในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งโดยผ่าน
                                ลูกจ้างหรือบุคลากรอื่น

                ซึ่งกิจกรรมในลักษณะนั้นดำเนินติดต่อกันสำหรับโครงการเดียวกันหรือโครงการที่เกี่ยวเนื่องกันภายในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง เป็นระยะเวลาเดียวหรือหลายระยะเวลารวมกันเกินกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลาสิบสองเดือนใดๆ

4.             แม้จะมีบทบัญญัติก่อนๆ ของข้อนี้อยู่ คำว่า "สถานประกอบการถาวร" ไม่ให้ถือว่ารวมถึง

                (ก)           การใช้สิ่งอำนวยความสะดวกเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการเก็บรักษา การจัดแสดง
                                หรือการส่งมอบสิ่งของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจ

                (ข)           การเก็บรักษามูลภัณฑ์ของสิ่งของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจ เพียงเพื่อความมุ่ง
                                ประสงค์ในการเก็บรักษา การจัดแสดงหรือการส่งมอบ

                (ค)           การเก็บรักษามูลภัณฑ์ของสิ่งของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจ เพียงเพื่อความมุ่ง
                                ประสงค์ให้วิสาหกิจอื่นใช้ในการแปรสภาพ

                (ง)           การมีสถานธุรกิจประจำไว้เพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการจัดซื้อสิ่งของหรือสินค้า หรือ
                                รวบรวมข้อสนเทศเพื่อวิสาหกิจนั้น

                (จ)           การมีสถานธุรกิจประจำไว้เพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการดำเนินกิจกรรมอื่นซึ่งม ี
                                ลักษณะเป็นการเตรียมการหรือเป็นส่วนประกอบให้แก่วิสาหกิจนั้น

                (ฉ)           การมีสถานธุรกิจประจำไว้เพียงเพื่อการประกอบกิจกรรมที่กล่าวถึงในอนุวรรค (ก)ถึง (จ)          
                                รวมกัน โดยมีเงื่อนไขว่า กิจกรรมทั้งมวลของสถานธุรกิจประจำซึ่งเป็นผลมาจากการรวม
                                เข้ากันนี้มีลักษณะเป็นการเตรียมการหรือเป็นส่วนประกอบ

5.             แม้จะมีบทบัญญัติของวรรค 1 , 2 และ 3 ในกรณีที่บุคคลนอกเหนือจากตัวแทนที่มีสถานภาพเป็นอิสระซึ่งอยู่ในบังคับของวรรค 6 กระทำการในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งในนามของวิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง ให้ถือว่าวิสาหกิจนั้นมีสถานประกอบการถาวรในรัฐผู้ทำสัญญาที่กล่าวถึงรัฐแรก ถ้าบุคคลดังกล่าว

                (ก)           มีและใช้อย่างเป็นปกติวิสัยในรัฐที่กล่าวถึงรัฐแรก ซึ่งอำนาจในการทำสัญญาในนาม
                                ของวิสาหกิจ เว้นไว้แต่ว่ากิจกรรมต่างๆของบุคคลนั้นจำกัดอยู่เฉพาะการซื้อสิ่งของ
                                หรือสินค้าเพื่อวิสาหกิจนั้น

                (ข)           ไม่มีอำนาจเช่นว่านั้น แต่ได้เก็บรักษาอย่างเป็นปกติวิสัยในรัฐที่กล่าวถึงรัฐแรกซึ่งมูลภัณฑ์
                                ของสิ่งของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจนั้น และดำเนินการส่งมอบในนามของวิสาหกิจนั้น
                                อยู่เป็นประจำ หรือ

                (ค)           ไม่มีอำนาจเช่นว่านั้น แต่ได้จัดหาคำสั่งซื้ออย่างเป็นปกติวิสัยในรัฐที่กล่าวถึงรัฐแรกทั้งหมด
                                หรือเกือบทั้งหมดเพื่อวิสาหกิจนั้น หรือเพื่อวิสาหกิจนั้นและวิสาหกิจอื่นๆซึ่งอยู่ในความควบคุม
                                ของวิสาหกิจนั้น หรือมีการควบคุมผลประโยชน์อยู่ในวิสาหกิจนั้น

6.             วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งจะไม่ถือว่ามีสถานประกอบการถาวรในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง เพียงเพราะว่าวิสาหกิจดังกล่าวดำเนินธุรกิจในอีกรัฐหนึ่งนั้น โดยผ่านทางนายหน้า ตัวแทนการค้าทั่วไปหรือตัวแทนอื่นใดที่มีสถานภาพเป็นอิสระ โดยมีเงื่อนไขว่า บุคคลเช่นว่านั้นได้กระทำการอันเป็นปกติแห่งธุรกิจของตน อย่างไรก็ตาม กรณีกิจกรรมของตัวแทนดังกล่าวได้กระทำทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดในนามของวิสาหกิจนั้น
                หรือในนามของวิสาหกิจนั้นและวิสาหกิจอื่นๆซึ่งอยู่ในความควบคุมของวิสาหกิจนั้นหรือมีการควบคุมผลประโยชน์อยู่ในวิสาหกิจนั้น บุคคลเช่นว่านี้จะไม่ถือเป็นตัวแทนที่มีสถานภาพเป็นอิสระตามความหมายของวรรคนี้ เว้นแต่การดำเนินธุรกิจโดยไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างกัน

7.             ข้อเท็จจริงที่ว่าบริษัทหนึ่งซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง ควบคุมหรือถูกควบคุมโดยบริษัทซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง หรือซึ่งประกอบธุรกิจในอีกรัฐหนึ่งนั้น (ไม่ว่าจะผ่านสถานประกอบการถาวรหรือไม่ก็ตาม) มิเป็นเหตุให้บริษัทหนึ่งบริษัทใดเป็นสถานประกอบการถาวรของอีกบริษัทหนึ่ง

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 08-12-2011