เมนูปิด

ข้อ 21

ศาสตราจารย์ ครู และนักวิจัย

 

1.             บุคคลธรรมดาผู้ซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งในเวลาก่อนหน้าที่จะไปเยือนรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งและเป็นผู้ซึ่งได้ไปเยือนรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งนั้นตามคำเชิญของมหาวิทยาลัย วิทยาลัย โรงเรียน หรือสถาบันการศึกษาอื่นใดที่คล้ายคลึงกันซึ่งได้รับการรับรองจากเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งนั้นเป็นเวลาไม่เกินสองปี เพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการสอนหรือการวิจัยหรือทั้งสองประการที่สถาบันการศึกษาเช่นว่านั้น จะได้รับการยกเว้นภาษีในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งนั้นสำหรับค่าตอบแทนจากการสอนหรือการวิจัยเช่นว่านั้น

 

2.             ความข้อนี้จะใช้บังคับแก่เงินได้จากการวิจัยเท่านั้น ถ้าการวิจัยเช่นว่านั้นได้ดำเนินการโดยบุคคลธรรมดาเพื่อสาธารณประโยชน์และมิใช่เพื่อประโยชน์ของเอกชนหรือบุคคลใดเป็นสำคัญ

 

 

ข้อ 22

เงินได้อื่นๆ

 

                 บรรดารายการเงินได้ของผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งซึ่งมิได้เกี่ยวข้องในข้อก่อนๆ แห่งความตกลงนี้อาจเก็บภาษีได้ในรัฐที่เงินได้นั้นเกิดขึ้น

 

 

 

ข้อ 23

วิธีการสำหรับการขจัดภาษีซ้อน

 

1.             กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งรัฐใดจะยังคงใช้บังคับต่อไปในการเก็บภาษีจากเงินได้ในรัฐผู้ทำสัญญาแต่ละรัฐเว้นแต่ในกรณีที่มีบทบัญญัติไว้ชัดเจนแจ้งให้เป็นอย่างอื่นในความตกลงนี้ ในกรณีที่เงินได้ต้องเสียภาษีในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐก็ให้ได้รับการบรรเทาภาระจากการเก็บภาษีซ้อนตามวรรคต่างๆ ของข้อนี้

 

2.             (ก)          กรณีผู้มีถิ่นที่อยู่ในเวียดนามได้รับเงินได้ซึ่งตามบทบัญญัติแห่งความตกลงนี้อาจเก็บภาษีได้ในประเทศไทย เวียดนามจะยอมให้หักออกจากภาษีที่เก็บจากเงินได้ดังกล่าวของผู้มีถิ่นที่อยู่นั้นเป็นจำนวนเท่ากับภาษีที่ได้ชำระในประเทศไทย อย่างไรก็ตามการหักเช่นว่านั้นจะต้องไม่เกินกว่าจำนวนภาษีเวียดนามที่ได้คำนวณไว้ก่อนที่จะยอมให้มีการหักดังกล่าวจากเงินได้นั้น

 

                 (ข)          เพื่อความมุ่งประสงค์ของอนุวรรค (ก) ข้างต้น คำว่า "ภาษีที่ชำระในประเทศไทย" ให้ถือว่ารวมถึงจำนวนภาษีไทยซึ่งภายใต้กฎหมายไทยและตามความตกลงนี้ควรจะได้ชำระหากภาษีไทยนั้นมิได้รับการยกเว้นหรือลดหย่อนตาม

 

                                 (1)          บทบัญญัติของมาตรา 31, 33, 34, 35 (2), 35 (3), หรือ 36 (4)แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 (1977) และระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องที่มีผลใช้บังคับอยู่ในวันลงนามในความตกลงนี้หรือได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพียงเล็กน้อยภายหลังวันลงนามในความตกลงนี้ หรือ

 

                                 (2)          มาตรการจูงใจอื่นใดที่ได้บัญญัติขึ้นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจในประเทศไทยซึ่งอาจถูกนำมาใช้ภายหลังจากนี้ในการเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมกฎหมายที่มีอยู่ หากได้มีการตกลงกันแล้วระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจทั้งสองฝ่าย

 

3.             (ก)          ในกรณีที่ผู้ที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยได้รับเงินได้ซึ่งตามบทบัญญัติแห่งความตกลงนี้อาจเก็บภาษีได้ในเวียดนาม ประเทศไทยจะยอมให้มีการหักออกจากภาษีที่เก็บจากเงินได้ดังกล่าวของผู้มีถิ่นที่อยู่นั้นเป็นจำนวนที่เท่ากับภาษีที่ได้ชำระในเวียดนาม อย่างไรก็ตามการหักเช่นว่านั้นจะต้องไม่เกินกว่าจำนวนภาษีไทยที่คำนวณไว้ก่อนที่จะยอมให้มีการหักดังกล่าวจากเงินได้นั้น

 

                (ข)          เพื่อให้ความมุ่งประสงค์ของอนุวรรค (ก) ข้างต้น คำว่า "ภาษีที่ชำระในเวียดนาม" ให้ถือว่ารวมถึงจำนวนภาษีเวียดนามซึ่งภายใต้กฎหมายเวียดนามและตามความตกลงนี้ควรจะได้ชำระหากภาษีเวียดนามนั้น มิได้รับการยกเว้นหรือลดหย่อนตาม

 

                                 (1)          บทบัญญัติของมาตรา 27, 28, 32 หรือ 33 ของกฎหมายการลงทุนต่างประเทศในเวียดนาม (1987) และระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องซึ่งมีผลใช้บังคับอยู่ในวันลงนามในความตกลงนี้หรือได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพียงเล็กน้อยภายหลังวันลงนามในความตกลงนี้ หรือ

 

                                 (2)          มาตรการจูงใจอื่นใดที่ได้บัญญัติขึ้นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจในเวียดนาม ซึ่งอาจถูกนำมาใช้ภายหลังจากนี้ในการเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมกฎหมายที่มีอยู่หากได้มีการตกลงระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจทั้งสองฝ่าย

 

 

ข้อ 24

วิธีดำเนินการเพื่อความตกลงร่วมกัน

 

1.             ในกรณีผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งพิจารณาเห็นว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งหรือทั้งสองรัฐมีผลหรือจะมีผลให้ตนต้องเสียภาษีอากรโดยไม่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งความตกลงนี้ บุคคลผู้นั้นอาจยื่นเรื่องราวของตนต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาที่ตนมีถิ่นที่อยู่โดยไม่คำนึงถึงทางแก้ไขที่บัญญัติไว้ในกฎหมายภายในของรัฐผู้ทำสัญญารัฐนั้นก็ตาม คำร้องดังกล่าวต้องยื่นภายในสามปีนับจากที่ได้มีการแจ้งการกระทำที่ก่อให้เกิดการเรียกเก็บภาษีอันไม่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งความตกลงนี้เป็นครั้งแรก

 

2.             ถ้าข้อคัดค้านนั้นปรากฏแก่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจว่ามีเหตุผลสมควรและถ้าตนไม่สามารถที่จะหาทางแก้ไขที่เหมาะสมได้เอง ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจพยายามแก้ไขกรณีนั้นโดยความตกลงร่วมกันกับเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง เพื่อการเว้นการเก็บภาษีอันไม่เป็นไปตามความตกลงนี้

 

3.             เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาจะพยายามแก้ไขความยุ่งยากหรือข้อสงสัยใดๆ อันเกิดขึ้นเกี่ยวกับการตีความหรือการใช้บังคับความตกลงนี้โดยความตกลงร่วมกัน เจ้าหน้าที่ดังกล่าวอาจปรึกษาหารือกันเพื่อขจัดการเก็บภาษีซ้อนในกรณีใดๆ ที่มิได้บัญญัติไว้ในความตกลงนี้

 

4.             เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาอาจติดต่อกันโดยตรงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการที่จะให้มีความตกลงกันตามความหมายแห่งวรรคก่อนๆ นั้น

 

 

ข้อ 25

การแลกเปลี่ยนข้อสนเทศ

 

1.             เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาจะแลกเปลี่ยนข้อสนเทศอันจำเป็นแก่การปฏิบัติการตามบทบัญญัติของความตกลงนี้หรือในเรื่องกฎหมายภายในของรัฐผู้ทำสัญญาเกี่ยวกับภาษีอากรที่อยู่ในขอบข่ายของความตกลงนี้เท่าที่ภาษีอากรตามกฎหมายนั้นไม่ขัดกันกับความตกลงนี้ ข้อสนเทศใดที่ได้รับโดยรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งจะถือว่าเป็นความลับเช่นเดียวกันกับข้อสนเทศที่ได้รับภายใต้กฎหมายภายในของรัฐผู้ทำสัญญารัฐนั้นและจะเปิดเผยได้เฉพาะกับบุคคลหรือเจ้าหน้าที่ (รวมทั้งศาลและองค์การฝ่ายบริหาร) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการประเมินหรือการจัดเก็บ การบังคับหรือการดำเนินคดี หรือการชี้ขาดคำอุทธรณ์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาษีที่อยู่ในขอบข่ายของความตกลงนี้ บุคคลหรือเจ้าหน้าที่เช่นว่านั้นจะใช้ข้อสนเทศนั้นเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์นั้นเท่านั้น บุคคลหรือเจ้าหน้าที่ดังกล่าวอาจเปิดเผยข้อสนเทศในการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลหรือในคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาล

 

2.             ไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม มิให้แปลความหมายบทบัญญัติของวรรค 1 เป็นการตั้งข้อผูกพันให้รัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งรัฐใดต้อง

 

                (ก)          ดำเนินมาตรการทางการบริหารโดยเบี่ยงเบนกับกฎหมายและวิธีปฏิบัติทางการบริหารของรัฐผู้ทำสัญญารัฐนั้นหรือรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง

 

                 (ข)          ให้ข้อสนเทศอันมิอาจจัดหาได้ตามกฎหมายหรือตามทางการบริหารโดยปกติของรัฐผู้ทำสัญญารัฐนั้นหรือรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง

 

                 (ค)          ให้ข้อสนเทศซึ่งจะเปิดเผยความลับทางการค้า ธุรกิจ อุตสาหกรรม พาณิชยกรรมหรือ วิชาชีพ หรือกรรมวิธีการค้า หรือข้อสนเทศ ซึ่งการเปิดเผยจะเป็นการขัดกับนโยบาย สาธารณะ (ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของสาธารณชน)

 

ปรับปรุงล่าสุด: 08-12-2011