เมนูปิด

อนุสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับประเทศสเปน

เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากร

ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้


รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งประเทศสเปน

 

                 มีความปรารถนาที่จะทำอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้

 

                 ได้ตกลงกันดังต่อไปนี้

 

 

 

ข้อ 1

ขอบข่ายด้านบุคคล

 

                 อนุสัญญานี้จะใช้บังคับกับบุคคลผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง หรือทั้งสองรัฐ

 

 

 

ข้อ 2

ภาษีที่อยู่ในขอบข่าย

 

1.             อนุสัญญานี้จะใช้บังคับแก่ภาษีเก็บจากเงินได้ที่ตั้งบังคับในนามของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งหรือส่วนราชการหรือเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของแต่ละรัฐโดยไม่คำนึงถึงวิธีการเรียกเก็บ

 

2.             ภาษีทั้งปวงที่บังคับจัดเก็บจากเงินได้ทั้งสิ้น หรือจากองค์ประกอบของเงินได้ รวมทั้งภาษีที่เก็บจากผลได้จากการจำหน่ายจ่ายโอนสังการิมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ ภาษีที่เก็บจากยอดเงินค่าจ้างหรือเงินเดือนที่จ่ายโดยวิสาหกิจตลอดจนภาษีที่เก็บจากการเพิ่มค่าทุน ให้ถือว่าเป็นภาษีเก็บจากเงินได้

 

3.             ภาษีที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งอนุสัญญานี้ใช้บังคับ โดยเฉพาะได้แก่

 

                 (ก)          ในกรณีประเทศไทย

 

                                 -              ภาษีเงินได้ และ

 

                                 -              ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม

 

                                 (ซึ่งต่อไปในที่นี้จะเรียกว่า "ภาษีไทย")

 

                 (ข)          ในกรณีของประเทศสเปน

 

                                 -              ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและ

 

                                 -              ภาษีเงินได้นิติบุคคล

 

                                 (ซึ่งต่อไปในที่นี้จะเรียกว่า "ภาษีสเปน")

 

4.             อนุสัญญานี้จะใช้บังคับแก่ภาษีใด ๆ ที่เหมือนกันหรือมีสาระสำคัญคล้ายคลึงกันซึ่งบังคับจัดเก็บเพิ่มเติมหรือแทนที่ภาษีที่มีอยู่ในปัจจุบัน หลังวันที่ลงนามกันในอนุสัญญานี้แล้ว เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองจะแจ้งแก่กันและกันให้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญใดๆ ซึ่งได้มีขึ้นในกฎหมายภาษีอากรของแต่ละรัฐ

 

 

 

ข้อ 3

บทนิยามทั่วไป

 

1.             เพื่อความมุ่งประสงค์ของอนุสัญญานี้ เว้นแต่บริบทจะกำหนดไว้เป็นอย่าอื่น

 

                 (ก)          คำว่า "ประเทศสเปน" หมายถึงราชอาณาจักรสเปน และเมื่อใช้ในความหมายทางภูมิศาสตร์ หมายถึงอาณาเขตของราชอาณาจักรสเปน รวมทั้งพื้นที่ใดที่อยู่นอกทะเลอาณาเขตซึ่งตามกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายท้องถิ่น ราชอาณาจักรสเปนอาจใช้สิทธิได้ทางศาลหรืออธิปไตยในส่วนที่เกี่ยวกับพื้นดินท้องทะเล ดินใต้พื้นดินและพื้นน้ำที่ติดต่อกันและทรัพยากรธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกันนั้น

 

                 (ข)          คำว่า "ประเทศไทย" หมายถึง ราชอาณาจักรไทยและรวมถึงพื้นที่ใด ๆ ที่ประชิดติดกับทะเลอาณาเขตของราชอาณาจักรไทยรวมทั้ง พื้นดินท้องทะเล ดินใต้พื้นดินซึ่งราชอาณาจักรไทยอาจใช้สิทธิได้ตามกฎหมายไทยและตามกฎหมายระหว่างประเทศ

 

                 (ค)          คำว่า "รัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง" และ "รัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง " หมายถึงประเทศไทย หรือประเทศสเปนแล้วแต่บริบทจะกำหนด

 

                 (ง)          คำว่า "บุคคล" รวมถึงบุคคลธรรมดา บริษัทและคณะบุคคลอื่นใด

 

                 (จ)          คำว่า "บริษัท" หมายถึงนิติบุคคลหรือหน่วยใดๆ ซึ่งถือว่าเป็นนิติบุคคลเพื่อมุ่งประสงค์ในทางภาษี

 

                 (ฉ)          คำว่า "วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง" และ "วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง"หมายถึง วิสาหกิจที่ดำเนินการโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง และวิสาหกิจที่ดำเนินการโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งตามลำดับ

 

                 (ช)          คำว่า "ภาษี"หมายถึง ภาษีไทยหรือภาษีสเปน ตามที่บริบทจะกำหนด

 

                 (ซ)          คำว่า "คนชาติ" หมายถึง

 

                                 (1)          บุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง

 

                                 (2)          นิติบุคคล ห้างหุ้นส่วน สมาคมใด และหน่วยงานอื่นใดที่ได้รับสถานภาพเช่นนั้นตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง

 

                 (ฌ)         คำว่า "การจราจรระหว่างประเทศ" หมายถึง การขนส่งใด ๆ ทางเรือหรือทางอากาศยานซึ่ง ดำเนินการโดยวิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง ยกเว้นกรณีที่มีการดำเนินการเดินเรือหรืออากาศยานระหว่างสถานที่ต่างๆ ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งเท่านั้น และ

 

                 (ญ)         คำว่า "เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ" หมายถึงในกรณีประเทศสเปน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังหรือผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจ และในกรณีของประเทศไทยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจ

 

2.             ในการใช้บังบังคับอนุสัญญาโดยรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง คำใดที่มิได้นิยามไว้ในอนุสัญญาจะมีความหมายตามกฎหมายของรัฐผู้ทำสัญญานั้นเกี่ยวกับภาษีที่อนุสัญญานี้ใช้บังคับ เว้นแต่บริบทจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

 

 

 

ข้อ 4

ผู้มีถิ่นที่อยู่

 

1.             เพื่อความมุ่งประสงค์แห่งอนุสัญญานี้ คำว่า "ผู้มีถิ่นที่อยู่ของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง" หมายถึง บุคคลใดซึ่งตามกฎหมายของรัฐนั้นมีหน้าที่จะต้องเสียภาษีในรัฐนั้น โดยเหตุผลแห่งการมีภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่ สถานจดทะเบียนบริษัทสถานจัดการ หรือโดยเกณฑ์อื่นใดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่คำนี้จะไม่รวมถึงบุคคลใดๆ ผู้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีในรัฐนั้นเพียงเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับเงินได้จากแหล่งในรัฐนั้น

 

2.             ในกรณีที่โดยเหตุผลแห่งบทบัญญัติของวรรค 1 บุคคลธรรมดาใดเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ ให้กำหนดสถานภาพของบุคคลดังกล่าวดังต่อไปนี้

 

                 (ก)          ให้ถือว่าบุคคลธรรมดานั้นเป็นบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่ของรัฐซึ่งตนมีที่อยู่ถาวร ถ้าบุคคลธรรมดานั้นมีที่อยู่ถาวรในทั้งสองรัฐให้ถือว่าเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ของรัฐซึ่งตนมีความสัมพันธ์ทางส่วนตัวและทางเศรษฐกิจใกล้ชิดกว่า (ศูนย์กลางของผลประโยชน์อันสำคัญ)

 

                 (ข)          ถ้าไม่อาจกำหนดรัฐซึ่งบุคคลนั้นมีศูนย์กลางของผลประโยชน์อันสำคัญได้หรือถ้าบุคคลธรรมดานั้นไม่มีที่อยู่ถาวรในรัฐหนึ่งรัฐใด ให้ถือว่าบุคคลธรรมดานั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐที่ตนมีที่อยู่เป็นปกติวิสัย

 

                 (ค)          ถ้าบุคคลธรรมดามีที่อยู่เป็นปกติวิสัยในทั้งสองรัฐหรือไม่มีที่อยู่เป็นปกติวิสัยในทั้งสองรัฐให้ถือว่าเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐที่ตนเป็นคนชาติ

 

                 (ง)          ถ้าบุคคลธรรมดาเป็นคนชาติของทั้งสองรัฐ หรือมิได้เป็นคนชาติของทั้งสองรัฐให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐแก้ไขปัญหาโดยความตกลงร่วมกัน

 

3.             ถ้าโดยเหตุผลแห่งบทบัญญัติของวรรค 1 บุคคลใดที่มิใช่บุคคลธรรมดาเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ถาวรในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐแก้ไขปัญหาโดยความตกลงร่วมกัน

 

 

 

ข้อ 5

สถานประกอบการถาวร

 

1.             เพื่อความมุ่งประสงค์แห่งอนุสัญญานี้ คำว่า "สถานประกอบการถาวร" หมายถึง สถานธุรกิจประจำซึ่งวิสาหกิจใช้ประกอบธุรกิจทั้งหมดหรือบางส่วน

 

2.             คำว่า "สถานประกอบการถาวร" จะรวมถึงโดยเฉพาะ

 

                (ก)          สถานจัดการ

 

                 (ข)          สาขา

 

                 (ค)          สำนักงาน

 

                 (ง)          โรงงาน

 

                 (จ)          โรงช่าง

 

                 (ฉ)          เหมืองแร่ บ่อน้ำมันหรือบ่อแก๊ส เหมืองหิน หรือแหล่งขุดค้นทรัพยากรธรรมชาติใดๆ

 

                 (ช)          ที่ทำการเพาะปลูกหรือไร่สวน

 

3.             (ก)          คำว่า "สถานประกอบการถาวร" ให้รวมถึงที่ตั้งอาคาร โครงการก่อสร้าง โครงการติดตั้ง หรือโครงการประกอบหรือกิจกรรมตรวจควบคุมเกี่ยวกับการนั้น ซึ่งที่ตั้งนั้น โครงการหรือกิจกรรมต่างๆ มีอยู่ติดต่อกันเป็นระยะเวลาเกินกว่าหกเดือน

 

                 (ข)          การจัดให้มีการบริการ รวมถึงบริการให้คำปรึกษาโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึงรัฐใดโดยผ่านทางลูกจ้างหรือบุคลากรอื่น ซึ่งกิจกรรมในลักษณะนั้นดำเนินติดต่อกันสำหรับโครงการเดียวกันหรือโครงการที่เกี่ยวเนื่องภายในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง เป็นระยะเวลาเดียวหรือหลายระยะรวมกันเกินกว่าหกเดือนภายในระยะเวลาสิบสองเดือนใดๆ

 

4.             แม้จะมีบทบัญญัติก่อนๆ ของข้อนี้อยู่คำว่า "สถานประกอบการถาวร" มิให้ถือว่ารวมถึง

 

                 (ก)          การใช้สิ่งอำนวยความสะดวกเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการเก็บรักษา การจัดแสดงสิ่งของ หรือส่งมอบสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจ

 

                 (ข)          การเก็บรักษามูลภัณฑ์ของของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจนั้น เพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการเก็บรักษา จัดแสดง หรือส่งมอบ

 

                 (ค)          การเก็บรักษามูลภัณฑ์สิ่งของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจนั้น เพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ให้วิสาหกิจอื่นใช้ในการแปรสภาพ

 

                 (ง)          การมีสถานธุรกิจประจำเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการตจัดซื้อสิ่งของหรือสินค้าหรือเพื่อรวบรวมข้อสนเทศเพื่อวิสาหกิจนั้น

 

                 (จ)          การมีสถานธุรกิจประจำไว้เพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการโฆษณา เพื่อเผยแพร่ข้อสนเทศเพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ หรือเพื่อกิจกรรมต่างๆ ที่คล้ายคลึงกันซึ่งมีลักษณะเป็นการเตรียมการหรือเป็นส่วนประกอบสำหรับวิสาหกิจ

 

                 (ฉ)          การมีซึ่งสถานที่ประจำชองธุรกิจเพียงเพื่อการกระทำรวมกับในกิตจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งที่กล่าวแล้วในอนุวรรค (ก) ถึง (จ) โดยมีเงื่อนไขว่ากิจกรรมที่กระทำของสถานประจำเพื่อธุรกิจนั้นมีลักษณะเป็นการเตรียมการหรือการสนับสนุน

 

5.             แม้จะมีบทของวรรค 1, 2 และ 4 อยู่บุคคลหนึ่งนอกไปจากตัวแทนที่มีสถานภาพเป็นอิสระซึ่งอยู่ในบังคับของวรรค 7 กระทำการในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งในนามของวิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง จะถือว่าวิสาหกิจนั้นมีสถานประกอบการถาวรในรัฐผู้ทำสัญญารัฐแรกถ้าบุคคลนั้น

 

                 (ก)          มีและใช้อย่างเป็นปกติวิสัย ในรัฐที่กล่าวถึงรัฐแรกซึ่งอำนาจในการทำสัญญาในนามวิสาหกิจนั้นเว้นไว้แต่ว่า กิจกรรมต่างๆของบุคคลนั้น จำกัดอยู่แต่เพียงการซื้อของหรือสินค้าเพื่อวิสาหกิจ

 

                 (ข)          ไม่มีอำนาจเช่นว่านั้น แต่ได้เก็บรักษาอย่างเป็นปกติวิสัยในรัฐที่กล่าวถึงรัฐแรกนั้นซึ่งมูลภัณฑ์ของของหรือสินค้าที่เป็นของวิสาหกิจและดำเนินการตามคำสั่งซื้อหรือทำการส่งมอบในนามของวิสาหกิจนั้นเป็นประจำ หรือ

 

                 (ค)          ไม่มีอำนาจเช่นว่านั้น แต่ได้จัดหาอย่างเป็นปกติวิสัยในรัฐแรกนั้น ซึ่งคำสั่งซื้อทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดเพื่อวิสาหกิจนั้นเองหรือเพื่อวิสาหกิจนั้นและวิสาหกิจอื่นๆ ซึ่งอยู่ในความควบคุมของวิสาหกิจนั้นหรือมีผลประโยชน์ควบคุมอยู่ในวิสาหกิจนั้น

 

6.             แม้จะมีบทบัญญัติในวรรคก่อนๆ ของบทบัญญัติข้อนี้ วิสาหกิจรับประกันภัยของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหรือยกเว้นเกี่ยวกับการรับประกันภัยต่อ ให้ถือว่ามีสถานประกอบการถาวรในอีกรัฐหนึ่ง ถ้ามีการเรียกเก็บเบี้ยประกันภัยในดินแดนของรัฐนั้น หรือรับประกันความเสี่ยงภัยในรัฐนั้นผ่านลูกจ้างหรือผ่านผู้แทนซึ่งมิใช่ตัวแทนที่มีสภานภาพเป็นอิสระในความหมายของวรรค 7 ของข้อนี้

 

7.             วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งจะไม่ถือว่ามีสถานประกอบการถาวรในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งเพียงเพราะว่าได้ประกอบธุรกิจในรัฐนั้น โดยผ่านทางนายหน้า ตัวแทนการค้าทั่วไปหรือตัวแทนอื่นใดที่มีสถานภาพเป็นอิสระ โดยมีเงื่อนไขว่าบุคคลเหล่านั้นกระทำการตามทางอันเป็นปกติแห่งธุรกิจของตน

 

8.             เพียงแต่ข้อเท็จจริงที่ว่าบริษัทหนึ่งซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งควมคุมหรืออยู่ในความควบคุมของบริษัทซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง หรือซึ่งประกอบธุรกิจในอีกรัฐหนึ่งนั้น(ไม่ว่าจะผ่านสถานประกอบการถาวรหรือไม่ก็ตาม) มิเป็นเหตุให้บริษัทหนึ่งบริษัทใดเป็นสถานประกอบการถาวรของอีกบริษัทหนึ่ง

 

ปรับปรุงล่าสุด: 08-12-2011