เมนูปิด

อนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย

และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์

เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากร

ในส่วนที่เกี่ยวกับ ภาษีเก็บจากเงินได้


รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์

 

                มีความปรารถนาที่จะทำอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ มีข้อตกลงกันดังต่อไปนี้

 

 

 

ข้อ 1

 

                อนุสัญญานี้ให้ใช้บังคับ แก่บุคคลผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งหรือทั้งสองรัฐ

 

 

 

ข้อ 2

ภาษีที่อยู่ในขอบข่าย

 

1.             อนุสัญญานี้ให้ใช้บังคับแก่ภาษีเก็บจากเงินได้ที่ตั้งบังคับในนามของรัฐผู้ทำสัญญาแต่ละรโดยไม่คำนึงถึงวิธีการเรียกเก็บ

 

2.             ภาษีทั้งปวงที่ตั้งบังคับเก็บจากเงินได้ทั้งสิ้น หรือจากองค์ประกอบทั้งหลายของเงินได้รวมทั้งภาษีที่เก็บจากผลได้จากการเปลี่ยนมือสังหาริมทรัพย์ หรืออสังหาริมทรัพย์ และภาษีที่เก็บจากยอดเงินค่าจ้างหรือเงินเดือนซึ่งรัฐวิสาหกิจเป็นผู้จ่ายให้ถือว่าเป็นภาษีที่เก็บจากเงินได้

 

3.             ภาษีที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งอนุสัญญานี้ใช้บังคับโดยเฉพาะได้แก่

    

            (ก)          ในกรณีประเทศไทย

 

                               (1)          ภาษีเงินได้

 

                               (2)          ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม

 

                                        (ต่อไปนี้จะเรียกว่า "ภาษีไทย")

 

                (ข)               ในกรณีประเทศฟิลิปปินส์

 

                ภาษีเงินได้ที่ตั้งบังคับภายใต้ส่วนที่ 2 ของประมวลกฎหมายภาษีในประเทศของประเทศฟิลิปปินส์ตามที่ได้ปรับปรุงแก้ไขแล้วและภาษีอื่นๆ ที่เก็บจากเงินได้โดยประเทศฟิลิปปินส์

 

                                       (ต่อไปนี้จะเรียกว่า "ภาษีฟิลิปปินส์")

 

4.             อนุสัญญานี้จักใช้บังคับแก่ภาษีใดๆ ที่เหมือนกัน หรือคล้ายคลึงกันซึ่งได้บังคับจัดเก็บเป็นการเพิ่มเติม หรือแทนที่ภาษีที่มีอยู่ในปัจจุบันนับจากวันที่ได้มีการลงนามในอนุสัญญานี้เมื่อสิ้นปีแต่ละปี เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาของแต่ละรัฐจะได้แจ้งให้แก่กันและกันทราบถึงความเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่สำคัญซึ่งมีขึ้นในกฎหมายภาษีของแต่ละรัฐ

 

 

 

ข้อ 3

บทนิยามทั่วไป

 

1.             เพื่อประโยชน์ของอนุสัญญานี้เว้นแต่บริบทจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

 

                (ก)          (1)          คำว่า "ประเทศไทย" หมายถึง ราชอาณาจักรไทยและพื้นที่ใดๆ ซึ่งประชิดกับน่านน้ำอาณาเขตของราชอาณาจักรไทยซึ่งได้กำหนดไว้ในกฎหมายไทยว่า เป็นสิทธิของราชอาณาจักรไทยในส่วนที่เกี่ยวกับพื้นดิน ท้องทะเล และดินใต้ผิวดินตลอดจนทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่นั้นๆ

 

                               (2)          คำว่า "ฟิลิปปินส์" หมายถึง สาธารณรัฐฟิลิปปินส์และใช้ในความหมายภูมิศาสตร์ เมื่อให้หมายถึงอาณาเขตทั้งหมดที่ประกอบขึ้นเป็นสาธารณรัฐฟิลิปปินส์

 

                (ข)          คำว่า "รัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง" และ "รัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง" หมายถึงประเทศไทยหรือประเทศฟิลิปปินส์ แล้วแต่บริบทจะกำหนด

 

                (ค)          คำว่า "บุคคล" รวมถึงบุคคลธรรมดา กองมรดก ทรัสต์ บริษัทหรือคณะบุคคลอื่นใด

 

                (ง)          คำว่า "บริษัท" หมายถึง นิติบุคคลใดหรือหน่วยใดๆ ซึ่งถือว่าเป็นนิติบุคคลเพื่อประโยชน์ทางภาษี

 

                (จ)          คำว่า "วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง" และ วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง" หมายความตามลำดับว่าวิสาหกิจที่ประกอบการโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งและวิสาหกิจที่ประกอบการโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง

 

                (ฉ)          คำว่า "การจราจรระหว่างประเทศ" หมายถึง การขนส่งใดๆ โดยเรือหรืออากาศยาน โดยวิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง ยกเว้นเมื่อเรือหรืออากาศยานได้มีการดำเนินงานระหว่างสถานที่ต่างๆ ซึ่งอยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งเท่านั้น

 

                (ช)          คำว่า "ชนชาติ" หมายถึง

 

                               (1)          บุคคลธรรมดาใดๆ ที่ครอบครองภาวะแห่งการเป็นพลเมืองหรือคนชนชาติของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง

 

                               (2)          บุคคลผู้มีฐานะทางกฎหมายใดๆ ห้างหุ้นส่วนหรือสมาคมที่มีขึ้นตั้งขึ้นหรือรวมตัวขึ้นตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง

 

                (ซ)          คำว่า "เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ" หมายความถึง

 

                               (1)          ในกรณีของประเทศไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจ

 

                               (2)          ในกรณีประเทศฟิลิปปินส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจ

 

                               (3)          คำว่า "ภาษี" หมายถึง ภาษีไทยและภาษีฟิลิปปินส์แล้วแต่บริบทจะกำหนด

 

2.             ในการใช้บังคับบทแห่งอนุสัญญานี้โดยรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง คำใดๆ ที่มิได้นิยามไว้เป็นอย่างอื่นให้มีความหมายที่คำนั้นๆมีอยู่ตามกฎหมายของรัฐผู้ทำสัญญารัฐนั้น เกี่ยวกับภาษีที่อยู่ในขอบข่ายของอนุสัญญานี้เว้นแต่บริบทจะกำหนดเป็นอย่างอื่น แม้จะมีวรรคก่อนๆ อยู่ ถ้าความหมายของคำนั้นๆ ตามที่มีอยู่ในกฎหมายของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง แตกต่างไปจากความหมายที่มีอยู่ในกฎหมายของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งเพื่อความมุ่งประสงค์แห่งอนุสัญญานี้ เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐอาจร่วมกันกำหนดความหมายขึ้นมา ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการซ้ำซ้อนของภาษีหรือเพื่อประโยชน์อย่างอื่นของอนุสัญญาฉบับนี้

 

 

 

ข้อ 4

มีถิ่นที่อยู่

 

1.             เพื่อความมุ่งประสงค์แห่งอนุสัญญานี้ คำว่า "ผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง" หมายถึง บุคคลใดๆ ซึ่งตามกฎหมายของรัฐนั้นจำต้องเสียภาษีในรัฐนั้น โดยเหตุผลแห่งการมีภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่ สถานจดทะเบียนหรือโดยเกณฑ์อื่นใด ในทำนองเดียวกัน แต่คำนี้ไม่รวมถึงบุคคลใดๆ ผู้ต้องเสียภาษีให้แก่รัฐผู้ทำสัญญาเพียงสืบเนื่องมาจากเงินได้ที่เกิดขึ้นหรือทุนซึ่งมีอยู่ในรัฐนั้น

 

2.             ถ้าเนื่องจากเหตุผลแห่งบทบัญญัติของวรรคหนึ่ง บุคคลธรรมดาคนใดเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐให้วินิจฉัยสภาพของบุคคลดังกล่าวดังต่อไปนี้

 

                (ก)          ให้ถือว่าบุคคลธรรมดาผู้มีที่อยู่ถาวรในรัฐผู้ทำสัญญารัฐใด เป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐนั้นถ้าบุคคลธรรมดาที่มีอยู่ถาวรในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐให้ถือว่าเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาซึ่งตนมีความสัมพันธ์ทางส่วนตัวและทางเศรษฐกิจใกล้ชิดกว่า (ศูนย์กลางของผลประโยชน์อันสำคัญ)

 

                (ข)          ถ้าไม่อาจกำหนดรัฐผู้ทำสัญญาซึ่งเป็นที่ตั้งศูนย์กลางของผลประโยชน์อันสำคัญของบุคคลธรรมดาได้ก็ดี หรือถ้าไม่มีที่อยู่ถาวรของบุคคลธรรมดาอยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐก็ดี ให้ถือว่าบุคคลธรรมดานั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาที่ตนมีที่อยู่เป็นปกติ

 

                (ค)          ถ้าบุคคลธรรมดามีที่อยู่เป็นปกติในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ หรือไม่มีอยู่เลยในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐให้ถือว่าเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาที่ตนเป็นคนชาติ

 

                (ง)          ถ้าบุคคลธรรมดาเป็นคนชาติของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐหรือมิได้เป็นคนชาติของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาแก้ไขปัญหาโดยความตกลงร่วมกัน

 

3.             ถ้าโดยเหตุผลแห่งบทบัญญัติของวรรค 1 บุคคลใดนอกเหนือจากบุคคลธรรมดาเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐให้ถือว่าบุคคลนั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐที่บุคคลนั้นได้ก่อตั้งขึ้น

 

 

 

ข้อ 5

สถานประกอบการถาวร

 

1.             เพื่อความมุ่งประสงค์แห่งอนุสัญญานี้ คำว่า "สถานประกอบการถาวร" หมายถึง สถานธุรกิจประจำซึ่งวิสาหกิจใช้ประกอบธุรกิจทั้งหมดหรือแต่บางส่วน

 

2.             คำว่า "สถานประกอบการถาวร" โดยเฉพาะให้รวมถึง

 

                (ก)          สถานจัดการ

 

                (ข)          สาขา

 

                (ค)          สำนักงาน

 

                (ง)          โรงงาน

 

                (จ)          โรงช่าง

 

                (ฉ)          เหมืองแร่ บ่อน้ำมัน หรือบ่อก๊าซ เหมืองหิน หรือสภาพที่อื่นใด ที่ใช้ในการขุดทรัพยากรธรรมชาติ

 

                (ช)          ที่ตั้งอาคาร หรือโครงการก่อสร้าง ซึ่งที่ตั้งหรือโครงการนั้นมีอยู่เป็นระยะเวลานานกว่า 6 เดือน

 

                (ซ)          โครงการประกอบหรือติดตั้งซึ่งมีอยู่นานกว่า 3 เดือน

 

                (ฌ)         สถานที่ซึ่งใช้เพื่อการขายสินค้า

 

                (ญ)         คลังสินค้าในส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลใช้เป็นเครื่องอำนวยความสะดวกในการเก็บรักษาให้ผู้อื่น

 

                (ฎ)          การให้บริการรวมตลอดถึงการให้บริการปรึกษาของผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐใดรัฐหนึ่ง โดยผ่านลูกจ้างหรือบุคคลอื่นโดยกิจกรรมลักษณะเช่นว่านั้นได้มีอยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง สำหรับโครงการเดียวกันหรือต่อเนื่องกันภายในระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะรวมกันแล้วเกินกว่า 183 วัน

 

3.             แม้จะมีบทบัญญัติก่อนๆ ของข้อนี้ คำว่า "สถานประกอบการถาวร" จะไม่ถือว่ารวมถึง

 

                (ก)          การใช้สิ่งอำนวยความสะดวกเพียงเพื่อประโยชน์ในการเก็บรักษา จัดแสดงหรือส่งมอบของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจ

 

                (ข)          การเก็บรักษามูลภัณฑ์ของของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจนั้นเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการเก็บรักษาจัดแสดงหรือส่งมอบ

 

                (ค)          การเก็บรักษามูลภัณฑ์ของของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจนั้นไว้เพียงเพื่อประโยชน์แห่งการสนเทศเพื่อวิสาหกิจนั้น

 

                (ง)          การมีสถานธุรกิจประจำไว้เพียงเพื่อประโยชน์แห่งการจัดซื้อของหรือสินค้าหรือเพื่อรวบรวมข้อสนเทศเพื่อวิสาหกิจนั้น

 

                (จ)          การมีสถานธุรกิจประจำไว้เพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการดำเนินการกิจกรรมซึ่งมีลักษณะเป็นการเตรียมการหรือส่วนประกอบสำหรับวิสาหกิจ เช่นการโฆษณาหรือการวิจัยทางวิทยาศาสตร์

 

4.             บุคคลผู้กระทำการในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งในนามของวิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง (นอกจากตัวแทนที่มีสภาพเป็นอิสระซึ่งอยู่ในบังคับของวรรค 5) ให้ถือว่าเป็นสถานประกอบการถาวรของรัฐแรก

 

                (ก)          บุคคลนั้นมีและใช้อำนาจในการทำสัญญาอย่างเป็นปกติวิสัยซึ่งการทำสัญญาในนามของวิสาหกิจนั้นอยู่ในรัฐแรกเว้นไว้แต่ว่ากิจกรรมต่างๆ ของบุคคลนั้น จำกัดอยู่แต่เฉพาะเพียงการซื้อของหรือสินค้า เพื่อวิสาหกิจนั้นหรือ

 

                (ข)          บุคคลนั้นได้เก็บรักษาอย่างเป็นปกติวิสัยซึ่งมูลภัณฑ์ของของหรือสินค้าอยู่ในรัฐแรกนั้น และดำเนินการส่งมอบของหรือสินค้าในนามของวิสาหกิจนั้นอยู่เป็นประจำหรือ

 

                (ค)          บุคคลนั้นจัดหาอย่างเป็นปกติวิสัยซึ่งคำสั่งซื้อทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดในรัฐแรกนั้นเพื่อวิสาหกิจนั้นเองหรือเพื่อวิสาหกิจและวิสาหกิจอื่นๆ ซึ่งอยู่ในความควบคุมของวิสาหกิจนั้น หรือมีผลประโยชน์ควบคุมอยู่ในวิสาหกิจนั้น

 

5.             วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งจะไม่ถือว่ามีสถานประกอบการถาวรในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง เพียงเพราะว่าได้ประกอบธุรกิจในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งนั้น โดยผ่านทางนายหน้าตัวแทนการค้าทั่วไป หรือตัวแทนอื่นใดที่มีสถานภาพเป็นอิสระ ถ้าบุคคลเช่นว่านั้นได้กระทำตามทางอันเป็นปกติแห่งธุรกิจของตน เพื่อความมุ่งประสงค์นี้ ตัวแทนหนึ่งใดจะไม่ถือว่าเป็นตัวแทนที่มีสถานภาพเป็นอิสระตามความหมายของวรรคนี้ ถ้าหากว่าตัวแทนเช่นว่านั้นได้กระทำการในการเป็นตัวแทนจะโดยทั้งหมดหรือเกือบจะโดยทั้งหมด เพื่อวิสาหกิจนั้นหรือเพื่อวิสาหกิจและกลุ่มวิสาหกิจอื่นซึ่งอยู่ในความควบคุมของวิสาหกิจนั้น ถ้าเป็นกรณีเช่นนี้ให้ใช้บทบัญญัติของวรรค 4 บังคับ

 

ปรับปรุงล่าสุด: 08-12-2011