เมนูปิด

ข้อ 26
วิธีการดำเนินการเพื่อความตกลงร่วมกัน

 

1.             ในกรณีที่บุคคลพิจารณาเห็นว่าการกระทำของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งหรือทั้งสองรัฐมีผลหรือจะมีผลให้ตนเองต้องเสียภาษีอากร โดยไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของอนุสัญญานี้บุคคลผู้นั้นอาจยื่นเรื่องราวของตนต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาซึ่งตนมีถิ่นที่อยู่นั้นได้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงทางแก้ไขที่บัญญัติไว้ในกฎหมายภายในของรัฐ แต่ละรัฐนั้น หรือถ้าเรื่องราวของบุคคลนั้นอยู่ในบังคับของวรรค 1 ของข้อ 25 ให้ยื่นต่อรัฐผู้ทำสัญญาที่ตนเป็นคนชาติ คำร้องดังกล่าวต้องยื่นภายในเวลา 3 ปี นับจากที่ได้รับแจ้งครั้งแรกของการกระทำที่ก่อให้เกิดการปฏิบัติทางภาษีอันไม่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งอนุสัญญานี้

 

2.             ถ้าข้อคัดค้านนั้นปรากฏแก่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจว่ามีเหตุผลสมควรและถ้าตนไม่สามารถที่จะหาทางแก้ไขที่เหมาะสมได้เอง ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจพยายามแก้ไขกรณีนั้นโดยความตกลงร่วมกันกับเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง เพื่อการเว้นการเก็บภาษีอันไม่เป็นไปตามอนุสัญญานี้ คำร้องดังกล่าวต้องยื่นภายในอายุความตามกฎหมายภายในของรัฐผู้ทำสัญญาซึ่งผู้เสียภาษีเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่

 

3.             เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาจะต้องพยายามแก้ไขความยุ่งยากหรือข้อสงสัยใดๆอันเกิดขึ้นเกี่ยวกับการตีความหรือการใช้บังคับอนุสัญญานี้ โดยตกลงร่วมกัน เจ้าหน้าที่ดังกล่าวอาจปรึกษาหารือกัน เพื่อการขจัดการเก็บภาษีซ้อนในกรณีใดๆที่มิได้บัญญัติไว้ในอนุสัญญานี้ได้ด้วย

 

4.             เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐอาจติดต่อกันโดยตรง เพื่อความมุ่งประสงค์ให้มีความตกลงกันตามความหมายแห่งวรรคก่อนๆ นั้น เมื่อเห็นเป็นการสมควรที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันด้วยวาจาเพื่อให้มีความตกลงกัน การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นนั้นอาจกระทำโดยผ่านทางคณะกรรมการอันประกอบด้วยผู้แทนของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ

 

 

ข้อ 27
การแลกเปลี่ยนข้อสนเทศ

1.             เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาจะแลกเปลี่ยนข้อสนเทศอันจำเป็นแก่การปฏิบัติตามบทบัญญัติของอนุสัญญานี้หรือตามกฎหมายภายในของรัฐผู้ทำสัญญาซึ่งเกี่ยวกับภาษีอากรที่อยู่ในขอบข่ายของอนุสัญญานี้เท่าที่ภาษีอากรตามกฎหมายนั้นไม่ขัดกันกับอนุสัญญานี้ การแลกเปลี่ยนข้อสนเทศไม่ถูกจำกัดโดยข้อ 1 ข้อสนเทศใดที่ได้รับโดยรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งให้ถือว่าเป็นความลับเช่นเดียวกันกับข้อสนเทศที่ได้รับภายใต้กฎหมายภายในของรัฐนั้น และจะเปิดเผยได้เฉพาะกับบุคคล หรือเจ้าหน้าที่ (รวมทั้งศาลและองค์การฝ่ายบริหาร) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการประเมินหรือการจัดเก็บ การบังคับหรือการดำเนินคดี หรือ การชี้ขาดคำอุทธรณ์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาษีที่อยู่ในขอบข่ายของอนุสัญญานี้ บุคคลหรือ เจ้าหน้าที่เช่นว่านั้น จะใช้ข้อสนเทศนั้นเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์นั้นเท่านั้น บุคคลหรือ เจ้าหน้าที่ดังกล่าวอาจเปิดเผยข้อสนเทศในการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลหรือในคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาล

 

2.             ไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม มิให้แปลความหมายบทบัญญัติของวรรค 1 เป็นการตั้งข้อผูกพันบังคับรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งรัฐใดต้อง

 

                (ก)          ดำเนินมาตรการทางการบริหาร โดยบิดเบือนไปจากกฎหมายและวิธีปฏิบัติทางการบริหารของรัฐ

                              ผู้ทำสัญญารัฐนั้นหรือรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง

 

                (ข)          ให้ข้อสนเทศอันมิอาจจัดหาได้ตามกฎหมายหรือตามทางการบริหารโดยปกติของรัฐผู้ทำสัญญา

                              รัฐนั้นหรือรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง

 

                (ค)          ให้ข้อสนเทศซึ่งจะเปิดเผยความลับทางการค้า ธุรกิจ อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือ วิชาชีพ

                              หรือกรรมวิธีทางการค้า หรือข้อสนเทศ ซึ่งการเปิดเผยจะเป็นการขัดกับนโยบายสาธารณะ (ความ

                              สงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของสาธารณชน)

 

 

ข้อ 28
ผู้แทนทางการทูตและเจ้าหน้าที่ฝ่ายกงสุล

                อนุสัญญานี้จะไม่มีผลกระทบกระเทือนต่อเอกสิทธิ์ทางการรัษฎากรของผู้แทนทางการทูตหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายกงสุลตามหลักทั่วไปแห่งกฎหมายระหว่างประเทศหรือตามบทบัญญัติแห่งความตกลงพิเศษทั้งหลาย

 

 

ข้อ 29
การขยายการใช้บังคับแก่อาณาเขต

1.             อนุสัญญานี้อาจขยายการใช้บังคับไม่ว่าจะโดยการใช้บังคับเต็มฉบับหรือมีการปรับปรุงแก้ไข ที่จำเป็นใดๆไปยังอาณาเขตภายใต้อำนาจอธิปไตยของเดนมาร์ก ซึ่งนอกเหนือจากการแสดงความจำนงโดยเฉพาะของอนุสัญญา หรืออาณาเขตใดๆซึ่งเป็นเขตที่เดนมาร์กรับผิดชอบ ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอยู่ ซึ่งมีการตั้งบังคับภาษีที่มีลักษณะสำคัญทำนองเดียว กับภาษีซึ่งอยู่ในขอบข่ายของอนุสัญญานี้ การขยายอาณาเขตบังคับใดๆ จะมีผลใช้บังคับนับจากวันนั้น และภายใต้การเปลี่ยนแปลงแก้ไขและเงื่อนไขต่างๆดังกล่าว รวมทั้งเงื่อนไขของการเลิกใช้บังคับ ซึ่งอาจกำหนดและตกลงกันระหว่างรัฐผู้ทำสัญญา ในหนังสือซึ่งแลกเปลี่ยนกันโดยผ่านทางการทูต หลังจากกระบวนการทางรัฐธรรมนูญของรัฐผู้ทำสัญญา

 

2.             เว้นไว้แต่จะตกลงกันเป็นอย่างอื่นโดยรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ การเลิกใช้บังคับอนุสัญญาโดยรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งตามข้อ 31 จะเป็นการเลิกใช้บังคับอนุสัญญาตามวิธีการซึ่ง กำหนดไว้ในข้อนั้นแก่อาณาเขตใดๆซึ่งอนุสัญญานี้ได้ขยายการใช้บังคับไปถึงตามข้อนี้ด้วย

 

 

ข้อ 30
การเริ่มใช้บังคับ

1.             รัฐบาลของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองจะแจ้งให้แต่ละฝ่ายทราบซึ่งกันและกันว่าข้อกำหนดต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้เพื่อที่จะทำให้อนุสัญญานี้มีผลเริ่มใช้บังคับได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว

 

2.             อนุสัญญานี้จะเริ่มใช้บังคับภายหลังจากวันที่ได้มีการบอกกล่าวตามที่กล่าวถึงในวรรค 1 มาแล้วสามสิบวัน และจะมีผลบังคับ

 

                (ก)          ในประเทศไทย

 

                               (1)          ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีหัก ณ ที่จ่าย สำหรับจำนวนที่ได้จ่ายหรือนำส่งในหรือ หลังจาก

                                             วันแรกของเดือนมกราคมถัดจากเดือนที่อนุสัญญามีผลใช้บังคับ

 

                               (2)          ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้อื่นๆ สำหรับปีภาษีหรือรอบระยะเวลาบัญชี ที่เริ่ม

                                             ต้นในหรือหลังจากวันแรกของเดือนมกราคมถัดจากเดือนที่อนุสัญญามีผลใช้บังคับ

 

                (ข)          ในประเทศเดนมาร์ก

 

                               (1)          ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีหัก ณ ที่จ่าย สำหรับเงินได้ที่ได้รับในหรือหลังจากวันแรกของ

                                             เดือนมกราคมของปีปฏิทินถัดจากปีที่อนุสัญญามีผลใช้บังคับ

 

                               (2)          ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้อื่นๆ สำหรับภาษีที่พึงเรียกเก็บสำหรับปีภาษีใดๆ

                                             ที่เริ่มต้นในหรือหลังจากวันแรกของเดือนมกราคมในปีปฏิทินถัดจากปีที่ อนุสัญญามีผล

                                             ใช้บังคับ

 

3.             อนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งประเทศไทย และรัฐบาลแห่งประเทศเดนมาร์กเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน และป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้และทุนซึ่งได้ลงนามที่กรุงเทพฯในวันที่ 14 เมษายน 2508 จะสิ้นสุดและเลิกมีผลบังคับในส่วนที่เกี่ยวกับเงินได้ซึ่งอนุสัญญานี้ใช้บังคับภายใต้บทบัญญัติของวรรค 2

 

 

ข้อ 31
การเลิกใช้

อนุสัญญานี้จะยังคงมีผลใช้บังคับตลอดไป แต่รัฐผู้ทำสัญญารัฐใดรัฐหนึ่งอาจแจ้งการบอกเลิกเป็นลายลักษณ์อักษรโดยช่องทางการทูตต่อรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งได้ในหรือ ก่อนวันที่ 30 มิถุนายนในปีปฏิทินใดๆที่เริ่มต้นภายหลังจากสิ้นสุดระยะเวลาห้าปีนับจากวันที่อนุสัญญานี้มีผลใช้บังคับ ในกรณีเช่นว่านั้น อนุสัญญาเป็นอันเลิกมีผลใช้บังคับ

 

1.             ในประเทศไทย

 

                (ก)          ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีหัก ณ ที่จ่าย สำหรับจำนวนที่จ่ายหรือนำส่งในหรือหลังจากวันแรกของ

                              เดือนมกราคมถัดจากเดือนที่มีการแจ้งการบอกเลิก

 

                (ข)          ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้อื่นๆ สำหรับปีภาษีหรือรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มต้นในหรือ

                              หลังจากวันแรกของเดือนมกราคมถัดจากวันที่มีการแจ้งการบอกเลิก

 

2.             ในประเทศเดนมาร์ก

 

                (ก)          ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีหัก ณ ที่จ่าย สำหรับเงินได้ที่ได้รับในหรือหลังจากวันแรกของเดือน

                              มกราคมในปีปฏิทินถัดจากปีที่มีการแจ้งการบอกเลิก

 

                (ข)          ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้อื่นๆ สำหรับภาษีที่พึงเรียกเก็บสำหรับปีภาษีใดๆที่เริ่มต้นใน

                              หรือหลังจากวันแรกของเดือนมกราคมในปีปฏิทินถัดจากปีที่มีการแจ้งบอกเลิก

 

                เพื่อเป็นพยานแก่การนี้ ผู้ลงนามข้างท้ายซึ่งได้รับมอบอำนาจโดยถูกต้องจากรัฐบาลแต่ละฝ่ายได้ลงนามในอนุสัญญานี้

 

                ทำคู่กันเป็นสองฉบับ ณ ............. เมื่อวันที่............. ปีหนึ่งพันเก้าร้อย............................     แห่งคริสต์ศักราช เป็นภาษาอังกฤษ

 

 

ในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรเดนมาร์ก

ในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย

 

 

พิธีสาร

                ในการลงนามอนุสัญญาระหว่างราชอาณาจักรเดนมาร์กและราชอาณาจักรไทย เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน และป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีที่เก็บจากเงินได้ ผู้ลงนามข้างท้ายนี้ได้ตกลงกันตามบทบัญญัติดังต่อไปนี้ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของอนุสัญญานี้

 

1.             (1)          ตามวรรค 3 ของข้อ 5 ถ้าบุคคลซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง จัดหาคลังสินค้า หรือ

                              สิ่งอำนวยความสะดวกใดๆในรัฐผู้ทำสัญญารัฐใดรัฐหนึ่งเพื่อบุคคลอื่นในการเก็บสิ่งของหรือสินค้า

                              จะถือว่าบุคคลนั้นดำเนินธุรกิจผ่านสถานประกอบการถาวรในรัฐผู้ทำสัญญารัฐนั้น

 

                (2)          ตามวรรค 3 (ก) และ (ข) ของข้อ 5 เป็นที่เข้าใจว่าการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกนั้นเพื่อการส่ง

                              มอบ จะถือเป็นการมีสถานประกอบการถาวรหากสิ่งอำนวยความสะดวกนั้นถูกใช้เพื่อเป็นที่

                              จำหน่ายสินค้า

 

2.             ตามข้อ 7 เป็นที่เข้าใจว่าข้อกำหนดในข้อนี้จะไม่มีผลกระทบต่อการใช้กฎหมายภาษีใดๆ ของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งในการประเมินภาษีของบุคคลในกรณีที่เจ้าหน้าที่ทางภาษีของรัฐผู้ทำสัญญารัฐนั้นมีข้อมูลในการกำหนดกำไรที่พึงเสียภาษีของบุคคลนั้นไม่เพียงพอ โดยมีเงื่อนไขว่าวิธีการที่กำหนดนั้นจะต้องเป็นวิธีการที่มีผลตามหลักการต่างๆที่กำหนดไว้ในข้อนี้ คำว่า "กำไร" ในข้อ 7 ให้หมายถึงเงินได้หรือกำไร

 

3.             ตามวรรค 2 ของข้อ 8 เป็นที่เข้าใจว่าหากประเทศไทยใช้อัตราภาษีที่ต่ำกว่ากับเงินได้ที่วิสาหกิจของประเทศอื่นได้รับจากการเดินเรือในการจราจรระหว่างประเทศ อัตราภาษีที่ต่ำกว่าจะมีผลบังคับใช้ในอนุสัญญานี้

 

4.             ตามวรรค 5 ของข้อ 10 หากภายหลังจากการลงนามในอนุสัญญานี้ ประเทศไทยได้มีการจัดทำอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีกับประเทศที่สาม โดยไม่ได้บัญญัติให้มีการจัดเก็บ ภาษีจากการจำหน่ายกำไรตามวรรคดังกล่าว หรือบัญญัติให้ใช้อัตราภาษีที่ต่ำกว่าอนุสัญญานี้การให้การยกเว้นหรือใช้อัตราภาษีที่ต่ำกว่าเช่นว่านั้น จะมีผลใช้บังคับในอนุสัญญานี้ด้วย

 

5.             ตามวรรค 4 ข้อ 11 เป็นที่เข้าใจว่า คำว่า "ดอกเบี้ย" ให้รวมถึง ดอกเบี้ยที่จ่ายในส่วนที่เกี่ยวกับการขายสินค้าเงินเชื่อ รวมทั้งค่าธรรมเนียม และค่านายหน้าที่จ่ายในส่วนที่เกี่ยวกับการให้กู้ยืมด้วย

 

                เพื่อเป็นพยานแก่การนี้ ผู้ลงนามข้างท้ายซึ่งได้รับมอบอำนาจโดยถูกต้องจากรัฐบาลแต่ละฝ่ายได้ลงนามในพิธีสารนี้

 

                ทำคู่กันเป็นสองฉบับ ณ ................... เมื่อวันที่ ................ปีหนึ่งพันเก้าร้อย.............แห่งคริสต์ศักราช เป็นภาษาอังกฤษ   

 

 

ในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรเดนมาร์ก

ในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย

 

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 08-12-2011