4. ระบบงานตรวจสอบ

  • แนวทางปฏิบัติกรมสรรพากรว่าด้วยการตรวจสอบภาษีอากร
  • แนวทางปฏิบัติกรมสรรพากรว่าด้วยงานค้างตรวจสอบภาษีอากรก่อนวันที่
    1 พฤศจิกายน 2544
  • แนวทางปฏิบัติกรมสรรพากรว่าด้วยงานค้างตรวจปฏิบัติการก่อนวันที่
    1 พฤศจิกายน 2544

แนวทางปฏิบัติกรมสรรพากรว่าด้วยการตรวจสอบภาษีอากร

ข้อ 1 วัตถุประสงค์
          เพื่อให้การตรวจสอบภาษีอากรสอดคล้องกับนโยบายการกำกับดูแลผู้เสียภาษีโดยใกล้ชิดเป็นรายผู้ประกอบการและให้เป็นปัจจุบัน ซึ่งมีผลทำให้ระบบการตรวจสอบภาษีอากรจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้เหมาะสม และรองรับวิธีการบริหารการจัดเก็บภาษีอากรที่กำหนดขึ้น

ข้อ 2 หลักเกณฑ์การตรวจสอบภาษีอากร
         2.1 การออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีอากรในกรณีปกติ ให้กระทำได้เฉพาะในกรณีที่มีหลักฐานบ่งชี้ หรือมีข้อมูลปรากฏว่าเสียภาษีไม่ถูกต้องครบถ้วน โดยไม่สามารถใช้วิธีการอื่นเพื่อให้ผู้เสียภาษียื่นแบบเสียภาษีเพิ่มเติมด้วยตนเองให้ถูกต้อง และต้องดำเนินการออกหมายเรียกให้เสร็จสิ้นภายใน 10 เดือน นับแต่วันครบกำหนดเวลาการยื่นแบบเสียภาษี โดยให้ออกหมายเรียกเพียง 1 รอบระยะเวลาบัญชี/ ปีภาษี เท่านั้น
              กรณีจำเป็นที่จะต้องออกหมายเรียกตรวจสอบของรอบระยะเวลาบัญชี/ปีภาษีอื่น
นอกจากรอบระยะเวลาบัญชี/ปีภาษีดังกล่าวข้างต้น ให้ขออนุมัติต่อสรรพากรภาค
         2.2 แบบ ค. 10 ขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้กระทำได้โดยไม่ต้องออกหมายเรียกตรวจสอบ เว้นแต่ เป็นกรณีที่ใกล้จะขาดอายุความการออกหมายเรียก หรือไม่สามารถปฏิบัติให้แล้วเสร็จภายในอายุความการออกหมายเรียก
         2.3 คำขอหรือคำร้องกรณีแจ้งเลิกกิจการ หากปรากฏว่าได้เลิกกิจการจริง ให้ยุติเรื่องโดยไม่ต้องออกหมายเรียกตรวจสอบ เว้นแต่มีหลักฐานอยู่ก่อนแล้วว่าเสียภาษีไม่ถูกต้องครบถ้วน

ข้อ 3 วิธีการตรวจสอบ
       3.1 หมายเรียกตรวจสอบภาษีอากรในกรณีปกต
              (1) ให้หัวหน้าทีมกำกับดูแลกำหนดประเด็นตรวจสอบที่มีนัยสำคัญ และกำหนดแผนการตรวจสอบ
              (2) ให้ทำการตรวจสอบตามแผนการตรวจสอบที่กำหนดไว้โดยเคร่งครัด
              (3) หากผลการตรวจสอบ ปรากฏว่าไม่พบประเด็นความผิด ให้เสนอผู้บังคับบัญชา เพื่อยุติการตรวจสอบ หรือพบประเด็นความผิดทำให้ต้องประเมินภาษีเพิ่มเติม ให้เสนอผู้บังคับบัญชาเพื่อทำการประเมินภาษีอากรให้ครบถ้วน
       3.2 หมายเรียกตรวจสอบกรณีขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลตามแบบ ค. 10 ที่ใกล้จะขาดอายุความการออกหมายเรียก หรือไม่สามารถปฏิบัติให้แล้วเสร็จภายในอายุความการออกหมายเรียก
              (1) ให้หัวหน้าทีมกำกับดูแลกำหนดประเด็นตรวจสอบเฉพาะที่เป็นมูลเหตุการขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคล และกำหนดแผนการตรวจสอบ
              (2) ให้ทำการตรวจสอบตามแผนการตรวจสอบที่กำหนดไว้โดยเคร่งครัด
              (3) ในกรณีเห็นสมควร ให้ออกตรวจสภาพกิจการเฉพาะประเด็นตามวิธีการใน
แนวทางปฏิบัติกรมสรรพากรว่าด้วยการกำกับดูแลผู้เสียภาษีโดยใกล้ชิดเป็นรายผู้ประกอบการและให้เป็นปัจจุบันเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมูลเหตุการขอคืนภาษีเท่านั้น
              (4) ให้นำผลการตรวจสภาพกิจการ ณ สถานประกอบการที่ได้ดำเนินการแล้ว
ภายใน 6 เดือน มาใช้ประกอบในการพิจารณาด้วย (ถ้ามี)
              (5) หากผลการตรวจสอบ ปรากฏว่า
                 (5.1) มีภาษีที่ต้องคืน เนื่องจากมีผลขาดทุนสุทธิยกมาไม่เกิน 5 รอบระยะเวลาบัญชี ให้ตรวจสอบสาเหตุซึ่งทำให้เกิดผลขาดทุนสุทธิของรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ๆ
                 (5.2) ไม่พบประเด็นความผิด ให้เสนอผู้บังคับบัญชาเพื่ออนุมัติคืนเงินภาษีต่อไป หรือพบประเด็นความผิดทำให้ต้องประเมินภาษีเพิ่มเติม ให้เสนอผู้บังคับบัญชาเพื่อทำการประเมินภาษีอากรให้ครบถ้วน

       3.3 แบบ ค. 10 ขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคล
              (1) กรณีมีมูลเหตุขอคืนภาษีชัดแจ้ง เช่น คำนวณภาษีไว้เกิน เสียภาษีผิดอัตรา
เสียซ้ำ เสียไว้โดยไม่มีหน้าที่ต้องเสีย ได้รับการยกเว้นหรือลดอัตราภาษีตามกฎหมาย เป็นต้น ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงตามมูลเหตุที่ขอคืนกับเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง โดยไม่ต้องออกหมายเรียกตรวจสอบ และ เสนอผลการตรวจสอบต่อผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาอนุมัติคืนเงินภาษีต่อไป
              (2) กรณีมีมูลเหตุอื่นไม่เข้าตาม (1)
                 (2.1) ให้หัวหน้าทีมกำกับดูแลกำหนดประเด็นตรวจสอบเฉพาะที่เป็นมูลเหตุ
การขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคล และกำหนดแผนการตรวจสอบ
                 (2.2) ให้ทำการตรวจสอบตามแผนการตรวจสอบที่กำหนดไว้โดยเคร่งครัด
                 (2.3) ในกรณีเห็นสมควร ให้ออกตรวจสภาพกิจการเฉพาะประเด็นตามวิธีการใน
แนวทางปฏิบัติกรมสรรพากรว่าด้วยการกำกับดูแลผู้เสียภาษีฯ เฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมูลเหตุการขอคืนภาษีเท่านั้น
                 (2.4) ให้นำผลการตรวจสภาพกิจการ ณ สถานประกอบการที่ได้ดำเนินการแล้วภายใน 6 เดือน มาใช้ประกอบในการพิจารณาด้วย (ถ้ามี)
                 (2.5) หากผลการตรวจสอบ ปรากฏว่า
                     ก. มีภาษีที่ต้องคืน เนื่องจากมีผลขาดทุนสุทธิยกมาไม่เกิน 5 รอบระยะเวลาบัญชี ให้ตรวจสอบสาเหตุซึ่งทำให้เกิดผลขาดทุนสุทธิของรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ๆ
                     ข. ไม่พบประเด็นความผิด ให้เสนอผู้บังคับบัญชาเพื่ออนุมัติคืนเงินภาษีต่อไป หรือพบประเด็นความผิดทำให้ต้องประเมินภาษีเพิ่มเติม ให้ผู้เสียภาษียื่นแบบเสียภาษีเพิ่มเติมด้วยตน เองให้ถูกต้อง หากผู้เสียภาษีไม่ยินยอมชำระภาษี ให้เสนอผู้บังคับบัญชาเพื่อขออนุมัติออกหมายเรียก และ ทำการตรวจเฉพาะประเด็นที่กำหนดตามแผนการตรวจสอบ (2.1) เพื่อประเมินภาษีที่ผู้เสียภาษีต้องชำระเพิ่มเติมให้ครบถ้วนต่อไป

        3.4 คำขอหรือคำร้องกรณีแจ้งเลิกกิจการที่มีหลักฐานอยู่ก่อนแล้วว่า เสียภาษีไม่ถูกต้องครบถ้ว
              (1) แจ้งให้ผู้เสียภาษียื่นแบบแสดงรายการภาษีเพิ่มเติม เพื่อชำระภาษีให้ครบถ้วนตามข้อมูลที่ปรากฏ แล้วยุติเรื่อง
              (2) หากผู้เสียภาษีไม่ยินยอมชำระภาษี ให้เสนอผู้บังคับบัญชาเพื่อขออนุมัติออกหมายเรียก และให้ทำการตรวจสอบเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับข้อมูลนั้น ๆ โดยดำเนินการตามวิธีการตรวจสอบ 3.1 หมายเรียกตรวจสอบภาษีอากรในกรณีปกติ

ข้อ 4 กำหนดเวลาดำเนินการ
              4.1 กรณีออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีอากร ให้ดำเนินการออกหมายเรียกให้เสร็จสิ้น ภายใน 10 เดือน นับแต่วันครบกำหนดเวลาการยื่นแบบเสียภาษี และให้ทำการตรวจสอบให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน นับแต่วันออกหมายเรียก
              4.2 แบบ ค.10 ขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้ทำการตรวจสอบให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ได้รับแบบ ค. 10
              4.3 คำขอหรือคำร้องกรณีแจ้งเลิกกิจการที่มีหลักฐานอยู่ก่อนแล้วว่า เสียภาษีไม่ถูกต้องครบถ้วน ให้ทำการตรวจสอบให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน นับแต่วันครบกำหนดเวลาการยื่นแบบเสียภาษีของรอบระยะเวลาบัญชีที่แจ้งเลิกกิจการ หรือวันรับแจ้งเลิกกิจการ

ข้อ 5 การรายงาน
              เพื่อให้การตรวจสอบภาษีอากรตามแนวทางปฏิบัติว่าด้วยการตรวจสอบภาษีอากรเป็นไปอย่างมีระบบ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้

               5.1 ให้สำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ สำนักงานสรรพากรจังหวัด และสำนักงานสรรพากรจังหวัด (สาขา) จัดทำรายงานผลการตรวจสอบภาษีอากรเป็นรายเดือนตามแบบแนบท้ายแนวทางปฏิบัติฯ ฉบับนี้ และส่งถึงสำนักงานสรรพากรภาคโดยทาง E-Mail ภายในวันที่ 5 ของเดือนถัดไป
              5.2 ให้สำนักงานสรรพากรภาค จัดทำรายงานผลการตรวจสอบภาษีอากรของสำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ สำนักงานสรรพากรจังหวัด และสำนักงานสรรพากรจังหวัด (สาขา) ในท้องที่ความ
รับผิดชอบเป็นรายเดือนตามแบบแนบท้ายแนวทางปฏิบัติฯ ฉบับนี้ และส่งถึงสำนักมาตรฐานกรรมวิธีภาษีโดยทาง E-Mail ภายในวันที่ 10 ของเดือนที่ได้รับรายงาน
              5.3 ให้สำนักมาตรฐานกรรมวิธีภาษี รวบรวม และประเมินผลการตรวจสอบภาษีอากรเป็นรายสำนักงานสรรพากรภาค และรายงานให้กรมสรรพากรทราบภายในวันที่ 15 ของเดือนที่ได้รับรายงาน

ข้อ 6 หน้าที่สำนักงานสรรพากรภาค
              แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ในส่วนการวางแผนและประเมินผล ติดตาม กำกับดูแลการปฏิบัติงานตรวจสอบภาษีอากรของสำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ สำนักงานสรรพากรจังหวัด และสำนักงานสรรพากรจังหวัด (สาขา) ในท้องที่ความรับผิดชอบ เพื่อดูว่าการปฏิบัติงานตรวจสอบภาษีอากรของทีมกำกับดูแลเป็นไปด้วยความเหมาะสม และตามนโยบาย เป้าหมายของกรมสรรพากรหรือไม่ พร้อมทั้งให้เสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคการปฏิบัติงานของทีมกำกับดูแล

แนวทางปฏิบัติกรมสรรพากรว่าด้วยงานค้างตรวจสอบภาษีอากร
ก่อนวันที่ 1 พฤศจิกายน 2544

ข้อ 1 วัตถุประสงค์
              เพื่อให้สามารถสะสางงานค้างของการตรวจสอบภาษีอากรให้เสร็จสิ้นได้โดยรวดเร็ว และสามารถดำเนินการตามนโยบายการกำกับดูแลผู้เสียภาษีโดยใกล้ชิดเป็นรายผู้ประกอบการและให้เป็นปัจจุบัน

ข้อ 2 หลักเกณฑ์การตรวจสอบภาษีอากร
               2.1 เป็นหมายเรียกตรวจสอบ แบบ ค. 10 ขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคล ข้อมูลเพื่อการตรวจสอบภาษีอากร และคำขอหรือคำร้องกรณีแจ้งเลิกกิจการ ที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ หรือยังไม่ได้ดำเนินการ ทั้งนี้ ได้ดำเนินการหรือรับไว้แล้วก่อนวันที่ 1 พฤศจิกายน 2544 แยกเป็น 5 กรณี ดังนี้
                 (1) หมายเรียกคงค้างกรณีขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลตามแบบ ค. 10
                 (2) หมายเรียกคงค้างในกรณีปกติ
                 (3) แบบ ค. 10 ขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ยังไม่ได้ออกหมายเรียกตรวจสอบ
                 (4) ข้อมูลเพื่อการตรวจสอบภาษีอากร
                 (5) คำขอหรือคำร้องกรณีแจ้งเลิกกิจการ
              2.2 แบบ ค. 10 ขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ยังไม่ได้ออกหมายเรียกตรวจสอบตาม 2.1 (3) ให้กระทำได้โดยไม่ต้องออกหมายเรียกตรวจสอบ เว้นแต่ เป็นกรณีที่จะขาดอายุความการออกหมายเรียก
              2.3 ข้อมูลเพื่อการตรวจสอบภาษีอากรตาม 2.1 (4) ให้ดำเนินการเฉพาะข้อมูลของปี 2543 เท่านั้น ยกเว้น ข้อมูลที่กรมสรรพากรจะได้สั่งการเป็นกรณีพิเศษ ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้หรือออกใบกำกับภาษีปลอม และข้อมูลการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะซึ่งต้องดำเนินการตามบันทึกด่วนที่สุดที่ กค 0814/ว. 8230 ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2544
              2.4 คำขอหรือคำร้องกรณีแจ้งเลิกกิจการ หากปรากฏว่าได้เลิกกิจการจริง ให้ยุติเรื่องโดยไม่ต้องออกหมายเรียกตรวจสอบ เว้นแต่มีหลักฐานอยู่ก่อนแล้วว่าเสียภาษีไม่ถูกต้องครบถ้วน

ข้อ 3 วิธีการตรวจสอบ

              3.1 หมายเรียกคงค้างกรณีขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลตามแบบ ค. 10
                     ให้ดำเนินการตามวิธีการตรวจสอบ 3.2 หมายเรียกตรวจสอบกรณีขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลตามแบบ ค. 10 ที่ใกล้จะขาดอายุความการออกหมายเรียก หรือไม่สามารถปฏิบัติให้แล้วเสร็จภายใน อายุความการออกหมายเรียก ของแนวทางปฏิบัติกรมสรรพากรว่าด้วยการตรวจสอบภาษีอากร

               3.2 หมายเรียกคงค้างในกรณีปกติ
ให้ดำเนินการตามวิธีการตรวจสอบ 3.1 หมายเรียกตรวจสอบภาษีอากรในกรณีปกติ ของแนวทางปฏิบัติกรมสรรพากรว่าด้วยการตรวจสอบภาษีอากร

               3.3 แบบ ค. 10 ขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ยังมิได้ออกหมายเรียกตรวจสอบ
                         (1) กรณีมีมูลเหตุขอคืนภาษีชัดแจ้ง
                         ให้ดำเนินการตามวิธีการตรวจสอบ 3.3 (1) แบบ ค. 10 ขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีมีมูลเหตุขอคืนภาษีชัดแจ้ง ของแนวทางปฏิบัติกรมสรรพากรว่าด้วยการตรวจสอบภาษีอากร
                          (2) กรณีขอคืนซึ่งเป็นรายที่ใกล้จะขาดอายุความการออกหมายเรียก
                         ให้ทำการออกหมายเรียกก่อนขาดอายุความการออกหมายเรียกตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร โดยดำเนินการตามวิธีการตรวจสอบ 3.2 หมายเรียกตรวจสอบกรณีขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลตามแบบ ค. 10 ที่ใกล้จะขาดอายุความการออกหมายเรียก หรือไม่สามารถปฏิบัติให้แล้วเสร็จภายในอายุความการออกหมายเรียก ของแนวทางปฏิบัติกรมสรรพากรว่าด้วยการตรวจสอบภาษีอากร
                         (3) กรณีการขอคืนที่มีมูลเหตุอื่นไม่เข้าตาม (1) และ (2)
                         ให้ดำเนินการตามวิธีการตรวจสอบ 3.3 (2) แบบ ค. 10 ขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีมีมูลเหตุอื่นไม่เข้าตาม (1) ของแนวทางปฏิบัติกรมสรรพากรว่าด้วยการตรวจสอบภาษีอากร

               3.4 ข้อมูลเพื่อการตรวจสอบภาษีอากร
                         (1) แจ้งให้ผู้เสียภาษียื่นแบบแสดงรายการภาษีเพิ่มเติม เพื่อชำระภาษีให้ครบถ้วนตามข้อมูลที่ปรากฏ แล้วยุติเรื่อง
                         (2) หากผู้เสียภาษีไม่ยินยอมชำระภาษี ให้เสนอผู้บังคับบัญชาเพื่อขออนุมัติออกหมายเรียก และให้ทำการตรวจสอบเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับข้อมูลนั้น ๆ โดยดำเนินการตามวิธีการตรวจสอบ 3.1 หมายเรียกตรวจสอบภาษีอากรในกรณีปกติ ของแนวทางปฏิบัติกรมสรรพากรว่าด้วยการตรวจสอบภาษีอากร

               3.5 คำขอหรือคำร้องกรณีแจ้งเลิกกิจการที่มีหลักฐานอยู่ก่อนแล้วว่า เสียภาษีไม่ถูกต้อง ครบถ้วน
                         ให้ดำเนินการตามวิธีการตรวจสอบ 3.4 คำขอหรือคำร้องกรณีแจ้งเลิกกิจการที่มี หลักฐานอยู่ก่อนแล้วว่า เสียภาษีไม่ถูกต้องครบถ้วน ของแนวทางปฏิบัติกรมสรรพากรว่าด้วยการตรวจสอบภาษีอากร

ข้อ 4 กำหนดเวลาในการดำเนินการ
                           4.1 การดำเนินการตรวจสอบตาม 3.1 3.2 3.3 และ 3.5 ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จตาม จำนวน และเวลาที่กำหนด ดังนี้
                               ก. ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนรายคงค้างทั้งสิ้น ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2544 โดยต้องดำเนินการตรวจสอบให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2544 (ภายใน 30 เมษายน 2545)
                               ข. จำนวนรายคงค้างที่เหลือจาก ก. ต้องดำเนินการตรวจสอบให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2545 (ภายใน 31 กรกฎาคม 2545)
                         4.2 การดำเนินการตรวจสอบตาม 3.4 หากต้องออกหมายเรียกให้ทำการออกหมายเรียกให้เสร็จสิ้นภายใน 10 เดือน นับแต่วันครบกำหนดเวลาการยื่นแบบเสียภาษี และต้องดำเนินการตรวจสอบให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ออกหมายเรียก

ข้อ 5 การโอนงานรายค้างดำเนินการ
                         5.1 รายค้างดำเนินการ ให้โอนงานรายค้างดังกล่าวให้แก่ทีมกำกับดูแลซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลรายนั้น ๆ ดำเนินการทันที
                         5.2 รายค้างดำเนินการที่ได้เริ่มทำการตรวจสอบแล้ว และคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในสิ้นเดือน ธันวาคม 2544 ให้ผู้บังคับบัญชาหน่วยงานนั้น ๆ พิจารณาสั่งการว่าจะโอนให้แก่ทีมกำกับดูแลซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลรายนั้น ๆ หรือไม่ ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงความเหมาะสมกับปริมาณงานและระยะเวลาที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกำหนดเวลาข้างต้นด้วย

ข้อ 6 การรายงาน
                         เพื่อให้การตรวจสอบภาษีอากรตามแนวทางปฏิบัติว่าด้วยงานค้างตรวจสอบภาษีอากรก่อนวันที่ 1 พฤศจิกายน 2544 เป็นไปอย่างมีระบบ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
                         6.1 ให้สำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ สำนักงานสรรพากรจังหวัด และสำนักงานสรรพากรจังหวัด (สาขา) จัดทำรายงานผลการตรวจสอบภาษีอากรเป็นรายเดือนตามแบบแนบท้ายแนวทางปฏิบัติฯ ฉบับนี้ และส่งถึงสำนักงานสรรพากรภาคโดยทาง E-Mail ภายในวันที่ 5 ของเดือนถัดไป
                         6.2 ให้สำนักงานสรรพากรภาค จัดทำรายงานผลการตรวจสอบภาษีอากรของสำนักงาน ภาษีสรรพากรพื้นที่ สำนักงานสรรพากรจังหวัด และสำนักงานสรรพากรจังหวัด (สาขา) ในท้องที่ในความรับผิดชอบเป็นรายเดือนตามแบบแนบท้ายแนวทางปฏิบัติฯ ฉบับนี้ และส่งถึงสำนักมาตรฐานกรรมวิธีภาษี โดยทาง E-Mail ภายในวันที่ 10 ของเดือนที่ได้รับรายงาน
                         6.3 ให้สำนักมาตรฐานกรรมวิธีภาษี รวบรวม และประเมินผลงานค้างตรวจสอบภาษีอากรเป็นรายสำนักงานสรรพากรภาค และรายงานให้กรมสรรพากรทราบภายในวันที่ 15 ของเดือนที่ได้รับรายงาน

ข้อ 7 หน้าที่สำนักงานสรรพากรภาค
                          แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ในส่วนการวางแผนและประเมินผล ติดตาม กำกับดูแลการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการสะสางงานค้างของการตรวจสอบภาษีอากรของสำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ สำนักงานสรรพากรจังหวัด และสำนักงานสรรพากรจังหวัด (สาขา) ในท้องที่ความรับผิดชอบ เพื่อดูว่าการปฏิบัติงานของทีมกำกับดูแลเป็นไปด้วยความเหมาะสม และตามนโยบาย เป้าหมายของกรมสรรพากรหรือไม่ พร้อมทั้งให้เสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคการปฏิบัติงานของทีมกำกับดูแล

แนวทางปฏิบัติกรมสรรพากรว่าด้วยงานค้างตรวจปฏิบัติการ
ก่อนวันที่ 1 พฤศจิกายน 2544

ข้อ 1 วัตถุประสงค์

              1.1 เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการบริหารการจัดเก็บภาษีอากรที่มีวัตถุประสงค์ให้ผู้ประกอบการยื่นเสียภาษีอากรในปัจจุบันให้ถูกต้องครบถ้วน จึงให้มีการปรับเปลี่ยนระบบการปฏิบัติงานใหม่ เพื่อกำกับดูแลผู้เสียภาษีโดยใกล้ชิดเป็นรายผู้ประกอบการและให้เป็นปัจจุบัน
              1.2 เพื่อให้การคืนภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) ที่ขอคืนเป็นเงินสด เป็นไปด้วยความรวดเร็วถูกต้องและเป็นมาตรฐานเดียวกัน
              1.3 เพื่อลดปริมาณงานค้างตรวจปฏิบัติการ

ข้อ 2 งานค้างตรวจปฏิบัติการ

          งานค้างตรวจปฏิบัติการ หมายถึง งานค้างที่ได้ออกหนังสือนำตัวตรวจปฏิบัติการแล้ว ซึ่งประกอบด้วย
               2.1 งานค้างตรวจก่อนคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม
               2.2 งานค้างตรวจปฏิบัติการทั่วไป
               2.3 งานค้างตรวจปฏิบัติการเฉพาะประเด็น

ข้อ 3 การดำเนินการงานค้างตรวจก่อนคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม

             3.1 การจัดกลุ่มงานค้างตรวจก่อนคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
                    (1) ผู้ส่งออกในทะเบียนผู้ส่งออก (นค.1)
                    (2) ผู้ประกอบการที่ขอคืนผิดปกติ
                    (3) ผู้ประกอบการที่ขอคืนปกติ
            3.2 การดำเนินการ
                     3.2.1 ผู้ส่งออกในทะเบียนผู้ส่งออก (นค.1)
                          ให้ทีมกำกับดูแลดำเนินการ ดังนี้
                    (1) ให้ออกตรวจสภาพกิจการโดยให้ตรวจตามแนวทางปฏิบัติกรมสรรพากรว่าด้วยการกำกับดูแลผู้เสียภาษีโดยใกล้ชิดเป็นรายผู้ประกอบการและให้เป็นปัจจุบัน เว้นแต่เป็นรายซึ่งเคยถูกตรวจสอบภาษี หรือตรวจปฏิบัติการก่อนคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือตรวจปฏิบัติการทั่วไปภาษีมูลค่าเพิ่มมาแล้วเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน และผลการตรวจปรากฏว่าเป็นรายที่มีตัวตน ประกอบกิจการจริงและไม่พบความผิดอย่างมีนัยสำคัญ ให้แจ้งฝ่ายภาษีหัก ณ ที่จ่ายและคืนภาษี สำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ หรืองานคืนภาษี ฝ่ายกรรมวิธี สำนักงานสรรพากรจังหวัด และสำนักงานสรรพากรจังหวัด (สาขา) คืนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีอื่นที่ชะลอการคืนไว้ทั้งหมด
                             (2) ให้ดำเนินการตรวจเฉพาะประเด็นที่ขอคืนสำหรับเดือนภาษีที่ค้างดำเนินการ ดังนี้
                                   ก. สุ่มตรวจด้านรายรับจากการส่งออก
                                       - มีการส่งออกจริง
                                       - มีการนำเข้าเงินตราต่างประเทศจากการส่งออก
                                       - นำรายรับมาบันทึกบัญชี
                                  ข. สุ่มตรวจด้านซื้อและรายจ่าย
                                       - ใบกำกับภาษีซื้อที่มีนัยสำคัญ เช่น มีจำนวนเงินสูง ใบกำกับภาษีซ้ำรายมากผิดปกติ
                                       - ใบกำกับภาษีปลอม
                                       - ใบกำกับภาษีซื้อ และ/หรือค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนเงินสูงจาก บริษัทในเครือเดียวกัน
                                       - ใบกำกับภาษีที่เหลือตามความเหมาะสม
                     3.2.2 ผู้ประกอบการที่ขอคืนผิดปกติ
                              ให้ทีมกำกับดูแลออกตรวจสภาพกิจการ ตามแนวทางปฏิบัติกรมสรรพากรว่าด้วยการกำกับดูแลผู้เสียภาษีโดยใกล้ชิดเป็นรายผู้ประกอบการและให้เป็นปัจจุบัน และตรวจให้ได้ข้อเท็จจริงของการขอคืนและความเหมาะสมที่ขอคืน และกำกับดูแลการเสียภาษีโดยใกล้ชิดและให้เป็นปัจจุบัน ดังนี้
                                    ก. สุ่มตรวจด้านรายรับ
                                         - การบันทึกรายรับลงบัญชี
                                    - การขายสินค้าหรือให้บริการในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดโดยมีนัยสำคัญให้แก่บริษัทในเครือเดียวกันหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง
                                  ข. สุ่มตรวจด้านซื้อและรายจ่าย
                                        - ใบกำกับภาษีซื้อที่มีนัยสำคัญ เช่น มีจำนวนเงินสูง ใบกำกับภาษีซ้ำรายมากผิดปกติ
                                        - ใบกำกับภาษีปลอม
                                        - ใบกำกับภาษีซื้อ และ/หรือค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนเงินสูงจาก บริษัทในเครือเดียวกัน
                                        - ใบกำกับภาษีที่เหลือตามความเหมาะสม
                     3.2.3 ผู้ประกอบการขอคืนปกติ
                                   ให้ทีมกำกับดูแลออกตรวจสภาพกิจการตามแนวทางปฏิบัติกรมสรรพากรว่าด้วยการกำกับดูแลผู้เสียภาษีโดยใกล้ชิดเป็นรายผู้ประกอบการและให้เป็นปัจจุบัน เว้นแต่รายที่เคยถูกตรวจสอบภาษี หรือตรวจปฏิบัติการก่อนคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือตรวจปฏิบัติการทั่วไปภาษีมูลค่าเพิ่มมาแล้วเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน และผลการตรวจปรากฏว่าเป็นรายที่มีตัวตน ประกอบกิจการจริงและไม่พบความผิดอย่างมีนัยสำคัญ ให้แจ้งฝ่ายภาษีหัก ณ ที่จ่ายและคืนภาษี สำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ หรืองานคืนภาษี ฝ่ายกรรมวิธี สำนักงานสรรพากรจังหวัด และสำนักงานสรรพากรจังหวัด (สาขา) คืนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีอื่นที่ชะลอการคืนไว้ทั้งหมด
การออกตรวจสภาพกิจการ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสาเหตุในการขอคืน เช่น เดือนภาษีที่ขอคืนมีค่า P/T สูงผิดปกติ เป็นต้น
                                         ก. กรณีมีเหตุผลสมควร ให้คืนภาษี
                                        ข. กรณีไม่มีเหตุผลสมควรให้ดำเนินการตรวจปฏิบัติการเฉพาะประเด็นที่ผิดปกตินั้น โดยสุ่มตรวจด้านรายรับ ด้านซื้อและรายจ่ายตามข้อ 3.2.2 แล้วแต่กรณีเฉพาะมูลเหตุที่ขอคืน - กรณีมีเหตุผลไม่สมควรให้ดำเนินการตรวจปฏิบัติการเฉพาะประเด็นที่ผิดปกตินั้นๆ โดยสุ่มตรวจด้านรายรับ ด้านซื้อและรายจ่ายตามข้อ(3.2.2) แล้วแต่กรณี เฉพาะมูลเหตุที่ขอคืน

ข้อ 4 การดำเนินการงานค้างตรวจปฏิบัติการทั่วไป

                    การตรวจปฏิบัติการทั่วไป หมายถึง การตรวจความถูกต้องในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการทั่วไป ซึ่งต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายและระเบียบกำหนดไว้ ให้เจ้าหน้าที่ผู้กำกับดูแลพิจารณาว่ารายที่ค้างดำเนินการมีข้อมูลชัดแจ้งหรือไม่
                      ก. กรณีมีข้อมูลไม่ชัดแจ้ง ให้เสนอผู้บังคับบัญชาขออนุมัติยุติเรื่อง
                      ข. กรณีมีข้อมูลชัดแจ้ง ให้ออกตรวจสภาพกิจการ ตามแนวทางปฏิบัติกรมสรรพากรว่าด้วยการกำกับดูแลผู้เสียภาษีโดยใกล้ชิดเป็นรายผู้ประกอบการและให้เป็นปัจจุบัน

ข้อ 5 การดำเนินการงานค้างตรวจปฏิบัติการเฉพาะประเด็น

                    การตรวจปฏิบัติการเฉพาะประเด็น หมายถึง การตรวจความถูกต้องของการปฏิบัติตามกฎหมายของผู้เสียภาษีเฉพาะประเด็น เช่น
                         - การตรวจยอดขาย ณ จุดขาย
                         - การตรวจนับสินค้าและวัตถุดิบ
                         - ตรวจการใช้ใบกำกับภาษีปลอม
                         - กรณีอื่นๆตามที่ผู้มีอำนาจสั่งการ เช่น การสอบยัน ฯลฯ
                  ให้เจ้าหน้าที่ผู้กำกับดูแลดำเนินการออกตรวจปฏิบัติการเฉพาะประเด็นนั้นๆ
                         ก. ผลการตรวจถูกต้อง ให้ยุติเรื่อง
                        ข. ผลการตรวจไม่ถูกต้อง ให้ออกตรวจสภาพกิจการตามแนวทางปฏิบัติกรมสรรพากรว่าด้วยการกำกับดูแลผู้เสียภาษีโดยใกล้ชิดเป็นรายผู้ประกอบการและให้เป็นปัจจุบัน

ข้อ 6 การรายงานผลการตรวจ

              6.1 ให้รายงานผลการตรวจสำหรับเดือนภาษีที่ตรวจว่ามีค่า P/T สูงเพราะเหตุใด
              6.2 ให้รายงานเหตุผลที่ขอคืนเนื่องจากสาเหตุใด
              6.3 ให้รายงานผลการตรวจว่าถูกต้องหรือพบประเด็นความผิดดังนี้
                     6.3.1 ถูกต้อง ให้เสนอยุติเรื่องแล้วแจ้งฝ่ายภาษี หัก ณ ที่จ่ายและคืนภาษีหรืองานคืนภาษี ฝ่ายกรรมวิธี แล้วแต่กรณีทราบเพื่อจะได้เสนอผู้บังคับบัญชาลงนามในหนังสือแจ้งคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม
                     6.3.2 พบประเด็นความผิด
                            (1) กรณีผู้ประกอบการยินยอมชำระภาษี ให้ผู้ประกอบการชำระภาษีเพิ่มเติมเองให้ครบถ้วนและแจ้งให้ฝ่ายภาษี หัก ณ ที่จ่ายและคืนภาษี หรืองานคืนภาษี ฝ่ายกรรมวิธี แล้วแต่กรณี ดำเนินการต่อไป
                            (2) กรณีผู้ประกอบการไม่ยินยอมชำระภาษี ให้ออกหมายเรียกตรวจสอบ
              6.4 ให้เจ้าหน้าที่ผู้กำกับดูแลนำผลการตรวจปฏิบัติการใช้เป็นข้อมูลในการกำกับดูแลผู้เสียภาษี
              6.5 รายขอคืนผิดปกติให้เจ้าหน้าที่ผู้กำกับดูแลติดตามการเสียภาษีอย่างใกล้ชิดและให้เป็นปัจจุบัน

ข้อ 7 กำหนดเวลาดำเนินการ

       รายค้างตรวจคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม รายค้างตรวจปฏิบัติการทั่วไป และรายค้างตรวจปฏิบัติการเฉพาะประเด็น ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2544 (31 มกราคม 2545)

ข้อ 8 การโอนงานค้าง

             8.1 งานค้างตรวจปฏิบัติการที่ยังไม่ได้ดำเนินการให้ส่งทีมกำกับดูแลพิจารณาดำเนินการ หากเป็นกรณีงานค้างตรวจก่อนคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้ดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติกรมสรรพากรว่าด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม
             8.2 รายค้างดำเนินการที่ได้ออกหนังสือนำตัวตรวจปฏิบัติการแล้วให้โอนเจ้าหน้าที่ กำกับดูแลเป็นผู้ดำเนินการต่อไป เว้นแต่เจ้าหน้าที่เดิมสามารถดำเนินการตรวจให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือน ธันวาคม 2544 ให้อยู่ในดุลยพินิจของหัวหน้าหน่วยงาน

ข้อ 9 การรายงาน

            9.1 ให้สำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ สำนักงานสรรพากรจังหวัด และสำนักงานสรรพากรจังหวัด(สาขา) จัดทำรายงานงานค้างตรวจคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม(นตป.1) รายงานค้างตรวจปฏิบัติการทั่วไป (นตป. 2)และรายงานงานค้างตรวจปฏิบัติการเฉพาะประเด็น (นตป.3) เป็นรายเดือนส่งถึงสำนักงานสรรพากรภาค ภายในวันที่ 10 ของทุกเดือน โดยทาง E-mail
            9.2 ให้สำนักงานสรรพากรภาคจัดทำรายงานงานค้างตรวจคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม(นตป.1/1) รายงานงานค้างตรวจปฏิบัติการทั่วไป (นตป. 2/1) และรายงานงานค้างตรวจปฏิบัติการเฉพาะประเด็น (นตป. 3/1) ของหน่วยงานที่รับผิดชอบเป็นรายเดือน ส่งถึงสำนักมาตรฐานกรรมวิธีภาษี ภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน โดยทาง E-mail
            9.3 ให้สำนักมาตรฐานกรรมวิธีภาษี รวบรวมและประมวลผลรายงานค้างตรวจคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (นตป.1/2) รายงานงานค้างตรวจปฏิบัติการทั่วไป (นตป. 2/2) และรายงานงานค้างตรวจปฏิบัติการเฉพาะประเด็น(นตป. 3/2) เป็นรายเดือน และรายงานให้กรมสรรพากรทราบภายในวันที่ 20 ของเดือนที่ได้รับรายงาน

ข้อ 10 หน้าที่ของสำนักงานสรรพากรภาค

               ให้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ในส่วนการวางแผนและประเมินผล สำนักงานสรรพากรภาค ติดตามกำกับดูแลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในหน่วยปฏิบัติที่รับผิดชอบ เกี่ยวกับ
                     10.1 การดำเนินการของทีมกำกับดูแลได้ปฏิบัติตามขั้นตอน วิธีการและแล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด
                     10.2 การดำเนินการของฝ่ายภาษีหัก ณ ที่จ่ายและคืนภาษี หรืองานคืนภาษี ฝ่ายกรรมวิธีแล้วแต่กรณีได้ปฏิบัติตามขั้นตอน วิธีการและแล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด เช่น ได้มีการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มรายที่ไม่ติดเกณฑ์การคัดเลือกเพื่อตรวจก่อนคืนทันที และเดือนภาษีที่มีการชะลอการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ฯลฯ
                     10.3 กำกับดูแลการปฏิบัติงานอื่นของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามความเหมาะสม นโยบายและเป้าหมายของกรมสรรพากร พร้อมเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคของ เจ้าหน้าที่

เอกสารแนบ Click ที่นี่


                                 สำนักมาตรฐานกรรมวิธีภาษี
                                 กลุ่มบริหารข้อมูลและพัฒนาระบบการตรวจสอบภาษี
                                 พฤศจิกายน 2544

กลับหน้าหลัก