เมนูปิด

ถาม-ตอบ
Q:  สำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคคือ ?
A:  สำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค หรือ Regional Operating Headquarters (ROH) คือบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย เพื่อประกอบกิจการให้บริการด้านการบริหาร หรือด้านเทคนิค หรือการให้บริการสนับสนุน แก่วิสาหกิจในเครือหรือสาขาของสำนักงานฯ ไม่ว่าจะตั้งอยู่ในประเทศไทยหรือในต่างประเทศ

Q:  สิทธิประโยชน์ภาษีสรรพากรของสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคมีอะไรบ้าง?
A:  สำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทย จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในกรณีที่มีรายได้ซึ่งเป็นไป
        ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามที่กรมสรรพากรกำหนด โดยมีรายละเอียดดังนี้
1.ปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จัดเก็บจากสำนักงานฯ จากที่ต้องเสียภาษีจากกำไรสุทธิในอัตราร้อยละ 30 ให้คงเหลือร้อยละ 10 สำหรับรายได้จากการให้บริการของสำนักงานฯแก่วิสาหกิจในเครือหรือสาขาในต่างประเทศของสำนักงานฯ
2.ปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จัดเก็บจากสำนักงานฯ จากที่ต้องเสียภาษีจากกำไรสุทธิในอัตราร้อยละ 30 ให้คงเหลือร้อยละ 10 สำหรับรายได้ค่าสิทธิจากการวิจัยและพัฒนาที่สำนักงานฯ ได้รับจากวิสาหกิจในเครือหรือสาขาในต่างประเทศของสำนักงานฯ อันเนื่องมาจากผลการวิจัยและพัฒนาที่สำนักงานฯกระทำขึ้นในประเทศไทย ทั้งนี้โดยให้รวมถึงรายได้ค่าสิทธิที่สำนักงานฯได้รับจากผู้ผลิตหรือ ผู้ให้บริการอื่นที่ได้นำผลการวิจัยและพัฒนาของสำนักงานฯ ไปให้บริการแก่วิสาหกิจในเครือหรือสาขาในต่างประเทศของสำนักงานฯ ด้วย
3.ปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จัดเก็บจากสำนักงานฯ จากที่ต้องเสียจากกำไรสุทธิในอัตราร้อยละ 30 ให้คงเหลือร้อยละ 10 สำหรับดอกเบี้ยที่สำนักงานฯ ได้รับจากวิสาหกิจในเครือและหรือสาขาในต่างประเทศของสำนักงานฯ ทั้งนี้เฉพาะส่วนที่สำนักงานฯได้กู้มาเพื่อนำมาให้วิสาหกิจในเครือหรือสาขาในต่างประเทศของสำนักงานฯกู้ต่อ
4.ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับเงินปันผลที่สำนักงานฯ ได้รับจากวิสาหกิจในเครือทั้งในประเทศและต่างประเทศ
5.ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งได้รับเงินปันผลจากสำนักงานฯ เฉพาะที่จ่ายจากกำไรของกิจการของสำนักงานฯที่ได้รับลดอัตราภาษีนิติบุคคล
6.กำหนดให้สำนักงานฯมีสิทธิหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาสำหรับทรัพย์สินประเภทอาคารถาวร ที่สำนักงานฯ ซื้อหรือได้รับโอนกรรมสิทธิ์มา เพื่อใช้ในการประกอบกิจการของสำนักงานฯในอัตราร้อยละ 25 ของมูลค่าต้นทุนในวันที่ได้อาคารนั้นมา และส่วนที่เหลือสามารถทยอยหักภายในระยะเวลา 20 ปี

Q:  การเป็นสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจะต้องมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไข  อย่างไร ?
A:  สำนักงานฯ ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังนี้
1.สำนักงานฯ ต้องมีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป
2.สำนักงานฯ ต้องมีการให้บริการแก่วิสาหกิจในเครือในต่างประเทศหรือสาขาในต่างประเทศของสำนักงานฯอย่างน้อย 3 ประเทศ
3.สำนักงานฯ ต้องมีรายได้จากการให้บริการด้านการบริหาร ด้านเทคนิค และบริการสนับสนุนจากวิสาหกิจในเครือหรือสาขาของสำนักงานฯในต่างประเทศ และมีรายได้ค่าสิทธิจากการวิจัยและพัฒนาที่สำนักงานฯ ได้รับตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ที่จ่ายจากหรือในต่างประเทศรวมกันแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของรายได้ของสำนักงานฯ เว้นแต่ภายใน 3 รอบระยะเวลาบัญชีแรกนับแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่ จดแจ้งการเป็นสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค รายได้ตามที่กำหนดข้างต้นอาจไม่ถึงร้อยละ 50 ก็ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของรายได้ของสำนักงานฯ

ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยเกิดขึ้น ซึ่งไม่ใช่ความผิดของสำนักงานฯ หรือมีเหตุจำเป็นอย่างยิ่ง อธิบดีกรมสรรพากรอาจพิจารณาผ่อนผันเงื่อนไขด้านรายได้ให้ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ได้ แต่ให้ผ่อนผันได้เพียง 1 รอบระยะเวลาบัญชี ซึ่งเมื่อได้รับการผ่อนผันแล้ว สำนักงานฯ จะยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีข้างต้นต่อไป
4.สำนักงานฯ ต้องเข้ามาจดแจ้งขอได้รับสิทธิ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ภายในรอบระยะเวลาบัญชีที่ขอใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี

Q:  วิสาหกิจในเครือ หมายถึง ?
A:  ในการพิจารณาว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดจะถือเป็นวิสาหกิจในเครือของสำนักงานฯ ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีนี้นั้น กรมสรรพากรได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาความสัมพันธ์จำแนกเป็น 2 หลักเกณฑ์ ดังนี้
1.หลักเกณฑ์การถือครองหุ้น หากสำนักงานฯ และบริษัทมีการถือครองหุ้นในลักษณะต่อไปนี้จะถือว่าเป็นวิสาหกิจในเครือ

(1)  กรณีสำนักงานฯ มีการถือหุ้นในบริษัทฯหนึ่ง ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของทุนทั้งหมด หรือ

(2)  กรณีบริษัทฯ หนึ่งมีการถือครองหุ้นในสำนักงานฯ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของทุนทั้งหมด หรือ

(3)  กรณีบริษัทฯหนึ่งมีการถือครองหุ้นในสำนักงานฯ และมีการถือครองหุ้นในอีกบริษัทหนึ่งไม่น้อยกว่าร้อยละ 25
      ของทุน กรณีนี้ให้ถือว่าสำนักงานฯ และบริษัทฯที่ถูกถือครองหุ้นอีกบริษัทฯหนึ่งเป็นวิสาหกิจในเครือ เช่น

ในกรณีนี้ถือว่า บริษัท B และสำนักงานฯ เป็นวิสาหกิจในเครือ หรือ
2.หลักเกณฑ์อำนาจในการควบคุมจัดการ การจะถือว่าบริษัทฯ ใดๆ เป็นวิสาหกิจในเครือต้องเป็นไปตามเงื่อนไขดังนี้

(1)  กรณีบริษัทฯหนึ่ง มีอำนาจในการควบคุมจัดการ รวมทั้งกำกับดูแลการดำเนินงานและการบริหารงาน
      ของสำนักงานฯ

(2)  กรณีสำนักงานฯ มีอำนาจในการควบคุมจัดการบริษัทฯหนึ่ง

(3)  บริษัทหนึ่งมีอำนาจในการควบคุมจัดการสำนักงานฯ และมีอำนาจในการควบคุมจัดการในอีกบริษัทหนึ่ง
       ในกรณีนี้ให้ถือว่าสำนักงานฯ และบริษัทที่อยู่ภายใต้อำนาจควบคุมอีกบริษัทหนึ่งเป็นวิสาหกิจในเครือ
      ทั้งนี้ "อำนาจในการควบคุม" หมายความตามหลักเกณฑ์ในมาตรฐานทางบัญชีที่เป็นที่ยอมรับทั่วไป

Q:  ลักษณะการให้บริการที่สำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีมีอะไรบ้าง ?
A:  ลักษณะการให้บริการที่สำนักงานฯ ให้แก่วิสาหกิจในเครือหรือสาขาของสำนักงานฯแล้วได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ได้แก่
        การบริการด้านการบริหาร หรือด้านเทคนิค หรือการให้บริการสนับสนุน

        การให้บริการสนับสนุน หมายความถึงการให้บริการ ดังต่อไปนี้

        1.  การบริหารงานทั่วไป การวางแผนทางธุรกิจ และการประสานงานทางธุรกิจ

        2.  การจัดหาวัตถุดิบและชิ้นส่วน

        3.  การวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์

        4.  การสนับสนุนด้านเทคนิค

        5.  การส่งเสริมด้านการตลาด และการขาย

        6.  การบริหารด้านงานบุคคลและการฝึกอบรมในภูมิภาค

        7.  การให้คำปรึกษาด้านการเงิน

        8.  การวิเคราะห์และวิจัยด้านเศรษฐกิจและการลงทุน

        9.  การจัดการและควบคุมสินเชื่อ

        10.   การให้บริการสนับสนุนอื่นๆ ตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

Q:  บริษัทใดบ้างที่สามารถประกอบกิจการเป็นสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค ?
A:  บริษัทที่สามารถประกอบกิจการเป็นสำนักงานฯ ได้แก่
1.บริษัทที่จดทะเบียนภายใต้กฎหมายไทย ซึ่งดำเนินธุรกิจโดยทั่วไปอยู่แล้ว และมีความประสงค์จะดำเนินการในลักษณะเป็นสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค
2.บริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นใหม่ภายใต้กฎหมายไทยเพื่อดำเนินการในลักษณะเป็นสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคเป็นการเฉพาะ

Q:  บริษัทซึ่งดำเนินธุรกิจอยู่แล้ว และต้องการเป็นสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคเพื่อได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ต้องทำอย่างไร ?
A:  บริษัทที่มีความประสงค์จะดำเนินการเป็นสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค และต้องการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี จะต้องดำเนินการจดแจ้งต่อกรมสรรพากรเพื่อให้ได้รับสิทธิทางภาษี ทั้งนี้โดยให้จดแจ้งภายในรอบระยะเวลาบัญชีที่จะขอให้ได้รับสิทธิ

        สถานที่ในการขอจดแจ้งเพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ได้ที่ ศูนย์บริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ (LTO) กรมสรรพากร

        ในกรณีบริษัทที่จดทะเบียนภายใต้กฎหมายไทยที่ประสงค์จะเป็นสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค แต่บริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทต่างด้าวตามพ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 เมื่อบริษัทจะประกอบธุรกิจเป็นสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค บริษัทจะต้องจดทะเบียนแก้ไขวัตถุประสงค์ให้ครอบคลุมถึงลักษณะการให้บริการของสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคที่สำนักทะเบียนธุรกิจ และก่อนที่จะดำเนินงานให้บริการต้องยื่นคำขอและเอกสารประกอบคำขอที่สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว กรมทะเบียนการค้าหรือที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัด กรณีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดนั้นๆ แล้วแต่กรณี ซึ่งจะใช้เวลาในการพิจารณาคำขออนุญาตให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ยื่นคำขอ และเมื่อได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมทะเบียนการค้าโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวแล้วจึงจะประกอบธุรกิจได้

        ตาม พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 "คนต่างด้าว"หมายความว่า

        (1)  บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย

        (2)  นิติบุคคลซึ่งไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย

        (3)  นิติบุคคลซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทย และมีลักษณะดังต่อไปนี้

               (ก)  นิติบุคคลซึ่งมีหุ้นอันเป็นทุนตั้งแต่กึ่งหนึ่งของนิติบุคคลนั้นถือโดยบุคคลตาม (1) หรือ (2) หรือนิติบุคคลซึ่งมี
                      บุคคลตาม (1) หรือ (2) ลงทุนมีมูลค่าตั้งแต่กึ่งหนึ่งของทุนทั้งหมดในนิติบุคคลนั้น

               (ข)  ห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่จดทะเบียนซึ่งหุ้นส่วนผู้จัดการหรือผู้จัดการเป็นบุคคลตาม (1)

        (4)  นิติบุคคลซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทย ซึ่งมีหุ้นอันเป็นทุนตั้งแต่กึ่งหนึ่งของนิติบุคคลนั้นถือโดยบุคคลตาม (1)
                (2) หรือ (3) หรือนิติบุคคลซึ่งมีบุคคลตาม (1) (2) หรือ (3) ลงทุนมีมูลค่าตั้งแต่กึ่งหนึ่งของทุนทั้งหมดใน
                นิติบุคคลนั้น

        เพื่อประโยชน์แห่งคำนิยามนี้ให้ถือว่า หุ้นของบริษัทจำกัดที่มีในหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือเป็นหุ้นของคนต่างด้าว เว้นแต่จะได้มีกฎกระทรวงกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

Q:  บริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นใหม่เพื่อเป็นสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคต้องทำอย่างไร ?
A:  บริษัทที่ได้จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นใหม่กับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอจัดตั้งเป็นสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคแล้ว จะต้องขอเลขประจำตัวผู้เสียภาษี จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และขอจดแจ้งเพื่อได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคกับกรมสรรพากร

Q:   บริษัทต่างประเทศที่ต้องการเข้ามาจัดตั้งสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคและต้องการได้สิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษีด้วย ต้องดำเนินการอย่างไร ?
A:  หากบริษัทต่างประเทศที่จะเข้ามาจัดตั้งสำนักงานฯ ประสงค์จะขอรับการส่งเสริมการลงทุน ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนเพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์นอกเหนือจากที่กำหนดโดยกรมสรรพากร บริษัทควรจะยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนก่อน

        สิทธิประโยชน์อื่นที่จะได้รับจากการส่งเสริมการลงทุน คือ

        -  การถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน

        -  ไม่กำหนดสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติ

        -  การนำช่างฝีมือหรือผู้ชำนาญการเข้า

        -  การส่งออกเงินตราต่างประเทศ

        การยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน ผู้สนใจโปรดติดต่อ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

Q:  สำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคที่มีเงินได้ประเภทอื่นด้วย จะต้องคำนวณเสียภาษีเงินได้ นิติบุคคลอย่างไร ?
A:   ในกรณีที่สำนักงานฯ มีการทำธุรกรรมอื่น นอกจากธุรกรรมที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ในการคำนวณเสียภาษีเงินได้ สำนักงานฯ จะต้องคำนวณรายได้และรายจ่ายของธุรกรรมที่ได้รับสิทธิประโยชน์แยกออกจากธุรกรรมที่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ สำหรับรายจ่ายที่ไม่สามารถแยกได้ว่าเป็นของธุรกรรมที่ได้รับสิทธิประโยชน์หรือไม่ ให้เฉลี่ยรายจ่ายดังกล่าวตามรายได้ที่ได้รับ อย่างไรก็ดี หากสำนักงานฯ เห็นว่าการเฉลี่ยรายจ่ายตามรายได้ที่ได้รับไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง สำนักงานฯ สามารถขออนุมัติอธิบดีกรมสรรพากรเพื่อใช้วิธีการคำนวณรายจ่ายด้วยวิธีอื่นที่ถูกต้องและสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงกว่าได้

Q:  การกรอกและยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลของสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคทำอย่างไร ?
A:  สำนักงานฯ มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ภ.ง.ด. 50 และ 51 ตามปกติ อย่างไรก็ดี หากสำนักงานฯ มีรายได้ที่ต้องเสียภาษีในอัตราปกติร้อยละ 30 หรือมีรายได้ที่ได้รับการลดหรือยกเว้นภาษีตามพรบ.ส่งเสริมการลงทุน ให้สำนักงานฯ แยกกรอกแบบแสดงรายการออกเป็น 2 แบบ ดังนี้

              แบบที่ 1  ให้กรอกรายการที่ได้รับสิทธิประโยชน์เสียภาษีในอัตราร้อยละ 10 รวมถึงการยกเว้นภาษีภาษีสำหรับ
                             กิจการของสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค

              แบบที่ 2  ให้กรอกรายการที่ต้องเสียภาษีในอัตราปกติร้อยละ 30 และรายการที่ได้รับการลด หรือยกเว้นภาษีตาม
                             พรบ.ส่งเสริมการลงทุน

        ในส่วนของการจัดทำงบดุลและงบกำไรขาดทุนเพื่อนำส่งกรมสรรพากรนั้น ให้สำนักงานฯจัดทำงบดุลเพียง 1งบ และจัดทำงบกำไรขาดทุน 2 งบโดยแยกตามอัตราภาษี

        สำหรับการยื่นแบบแสดงรายการฯ สำนักงานฯสามารถยื่นแบบฯได้ที่สำนักงานสรรพากรเขต หรือสำนักงานสรรพากรอำเภอ ที่สำนักงานฯ ตั้งอยู่ โดยต้องยื่นทั้ง 2 แบบข้างต้นพร้อมกัน

Q:  สิทธิประโยชน์ของคนต่างด้าวที่ทำงานในสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคมีอะไรบ้าง ?
A:  สิทธิประโยชน์ทางภาษีของคนต่างด้าวที่ปฏิบัติงานในสำนักงานฯ มีดังนี้
1.คนต่างด้าวซึ่งได้รับเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานจากการทำงานประจำในสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคในประเทศไทย และยอมให้สำนักงานฯ หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้ที่ได้รับ ให้ได้รับสิทธิไม่ต้องนำเงินได้ดังกล่าวมารวมคำนวณภาษีตอนปลายปี

การให้สิทธิข้างต้นมีกำหนดระยะเวลาติดต่อกันไม่เกิน 4 ปี (แก้ไขเพิ่มเติมจากเดิม 2 ปี) นับแต่วันที่รับงานครั้งแรกในประเทศไทย ไม่ว่าในช่วงเวลาดังกล่าว คนต่างด้าวนั้นจะเดินทางออกจากประเทศไทยหรือไม่ก็ตาม

หากคนต่างด้าวซึ่งได้สิ้นสุดสัญญาการทำงานกับสำนักงานฯ ไปแล้ว และมีการทำสัญญาใหม่กับสำนักงานฯ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานฯ เดิมหรือสำนักงานฯ ใหม่ คนต่างด้าวที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ข้างต้น จะต้องเว้นระยะเวลาการทำงานกับสำนักงานฯ ไม่ว่าที่ใดในประเทศไทยเกินกว่า 365 วัน ก่อนที่จะเข้ามาปฏิบัติงานในสำนักงานฯ อีกครั้ง
2.สำหรับคนต่างด้าวที่ปฏิบัติงานในสำนักงานฯและถูกส่งไปทำงานในต่างประเทศ จะได้รับยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานดังกล่าว ทั้งนี้เงินได้นั้นจะต้องไม่นำมาหักเป็นรายจ่ายของสำนักงานฯและหรือวิสาหกิจในเครือฯในประเทศไทย ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม

Q:  คนต่างด้าวที่ได้รับสิทธิทางภาษีหมายถึง ?
A:   ในกรณีนี้ คนต่างด้าวหมายถึง บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย และทำงานในสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค

Q:  ขั้นตอนการขอวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน (Work permit) ของคนต่างด้าวที่ทำงานในสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคต้องทำอย่างไร ?
A:  สำนักงานฯ ที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุน อาจได้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวซึ่งเป็นช่างฝีมือหรือผู้ชำนาญการกับคู่สมรสและบุคคลซึ่งอยู่ในอุปการะเข้ามาทำงานในราชอาณาจักรได้ตามจำนวนและกำหนดเวลาตามสมควร

        ช่างฝีมือหรือผู้ชำนาญการดังกล่าว จะได้รับอนุญาตให้ทำงานเฉพาะในตำแหน่งหน้าที่ที่ได้รับความเห็นชอบตลอดระยะเวลาเท่าที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น

        ในการขออนุญาต มีขั้นตอนในการดำเนินการ 3 ขั้นตอน เพื่อขอประทับตราอยู่ต่อในประเทศและ ใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) พอสรุปได้ดังนี้

        ขั้นตอนที่ 1 :

        1.1  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้พิจารณาอนุมัติตำแหน่งหน้าที่ให้แก่คนต่างด้าว

        1.2  อนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามาปฏิบัติงานในตำแหน่งหน้าที่ที่ได้รับอนุมัติ

        ขั้นตอนที่ 2 :  สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง อนุมัติให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักร ตามตำแหน่ง หน้าที่และตามระยะเวลาที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด

        ขั้นตอนที่ 3 :  กรมการจัดหางาน อนุมัติออก ใบอนุญาตทำงานให้แก่คนต่างด้าวตามตำแหน่งหน้าที่และ ระยะเวลาที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด

        การดำเนินการทั้ง 3 ขั้นตอนดังกล่าวสามารถติดต่อขอรับบริการได้ที่

        -  หน่วยงานช่างฝีมือ หรือ Foreign Expert Service Unit (ในขั้นตอนที่ 1)

        -  ศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน (ในขั้นตอนที่ 2 และ 3)

        สำหรับสำนักงานฯ ที่ไม่ได้ขอรับส่งเสริมการลงทุน สำนักงานฯ สามารถยื่นขอใบอนุญาตการทำงาน (work permit)ให้กับคนต่างด้าว ได้ที่ส่วนใบอนุญาตทำงาน ศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน และดำเนินการขอวีซ่า ได้ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

Q:  คนต่างด้าวที่มีสัญญาการจ้างแรงงานกับสำนักงานปฏิบัติงานภูมิภาคเกินกว่า 4 ปี จะยังคงได้รับสิทธิประโยชน์หรือไม่ ?
A:  บุคคลดังกล่าวยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีใน 4 ปีแรกที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย สำหรับระยะเวลาที่เหลือ บุคคลนั้นจะต้องคำนวณเพื่อเสียภาษีตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่กำหนดไว้ในประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ดี หากบุคคลดังกล่าวมีการเว้นระยะการทำงานกับสำนักงานฯในประเทศไทยเกินกว่า 1 ปีหลังจากการทำงานครั้งแรก การกลับเข้ามาทำงานในภายหลังจะยังคงได้รับสิทธิต่อไปอีก 4 ปี ทั้งนี้ "ปี" ให้หมายถึง ปีปฏิทิน

Q:  คนต่างด้าวที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอย่างไร ?
A:  บุคคลดังกล่าวจะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยใช้แบบฯ ภ.ง.ด. 95 สำหรับเงินได้จากการจ้างแรงงานของสำนักงานฯ และเงินได้เฉพาะมาตรา 40(4) และ (8) ที่ได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้และไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นคืนไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ภ.ง.ด. 90 สำหรับเงินได้จากการจ้างแรงงาน และเงินได้พึงประเมินประเภทอื่นทั้งหมด หรือ ภ.ง.ด. 91 สำหรับเงินได้จากการจ้างแรงงาน แล้วแต่กรณี

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 17-03-2009