เมนูปิด

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร

เกี่ยวกับภาษีเงินได้(ฉบับที่ 65)

เรื่อง    กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย

 

---------------------------------------------

 

                อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 3(4) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 300) พ.ศ. 2539 อธิบดีกรมสรรพากรโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยดังต่อไปนี้

 

                ข้อ 1  บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจำนวนเท่ากับภาษีเงินได้ที่ได้เสียไปในต่างประเทศแต่ไม่เกินจำนวนที่กำหนด ต้องเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เสียภาษีจากกำไรสุทธิซึ่งคำนวณได้จากรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชี หักด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร

 

                ข้อ 2  ภาษีเงินได้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยได้เสียไปในต่างประเทศ ที่มีสิทธินำไปหักจากภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต้องเสียในประเทศไทย ต้องเป็นดังนี้

                           (1) ภาษีเงินได้ที่คำนวณจากกำไรสุทธิหรือจากรายได้ก่อนหักรายจ่ายใดๆ เมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีในต่างประเทศ และได้มีการชำระภาษีดังกล่าวไปแล้วในต่างประเทศ

                           (2) ภาษีเงินได้ที่คำนวณจากเงินได้ที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และได้มีการชำระภาษีดังกล่าวไปแล้วในต่างประเทศ

 

                ข้อ 3   การคำนวณหาจำนวนภาษีที่ต้องเสียตามกฎหมายไทยส่วนที่คำนวณจากเงินได้จากการประกอบกิจการในต่างประเทศแต่ละประเทศ หรือจากเงินได้ที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศแต่ละประเทศ ให้คำนวณแยกเป็นรายประเทศตามหลักเกณฑ์ ดังนี้

                           (1) กรณีมีเงินได้จากการประกอบกิจการในต่างประเทศ ให้นำรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในต่างประเทศ หักด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ทวิ และ 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ได้เท่าใด ให้คูณด้วยอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องเสีย ผลลัพธ์ที่ได้ให้ถือเป็นจำนวนภาษีที่ต้องเสียในประเทศไทยส่วนที่คำนวณจากเงินได้จากการประกอบกิจการในต่างประเทศ

                           (2) กรณีมีเงินได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ให้นำเงินได้ดังกล่าวคูณด้วยอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องเสีย ผลลัพธ์ที่ได้ให้ถือเป็นจำนวนภาษีที่ต้องเสียในประเทศไทยส่วนที่คำนวณจากเงินได้ที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ

 

                ข้อ 4   กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยมีทั้งเงินได้จากการประกอบกิจการในต่างประเทศและเงินได้ที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ จากประเทศเดียวกัน การคำนวณหาจำนวนภาษีที่ต้องเสียในประเทศไทยส่วนที่คำนวณจากเงินได้จากการประกอบกิจการในต่างประเทศหรือจากเงินได้ที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ให้คำนวณตามหลักเกณฑ์ในข้อ 3 (1) เว้นแต่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยได้เสียภาษีจากเงินได้ที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศตามกฎหมายของประเทศนั้นแล้ว โดยไม่ต้องนำเงินได้ดังกล่าวไปรวมคำนวณเสียภาษีเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีในประเทศนั้นอีก ให้นำเงินได้ที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศดังกล่าวไปคำนวณตามหลักเกณฑ์ในข้อ 3 (2)

 

                ข้อ 5  จำนวนภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จะได้รับยกเว้นต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังนี้

                           (1) กรณีจำนวนภาษีที่เสียไปในต่างประเทศ เนื่องจากการประกอบกิจการในต่างประเทศ หรือจากเงินได้ที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศตามข้อ 2 มีจำนวนน้อยกว่าภาษีที่คำนวณได้ตามข้อ 3 (1) หรือ (2) แล้วแต่กรณี ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยดังกล่าวได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เป็นจำนวนเท่ากับภาษีที่ได้เสียไปในต่างประเทศแต่ละประเทศทั้งจำนวน

                           (2) กรณีจำนวนภาษีที่เสียไปในต่างประเทศ เนื่องจากการประกอบกิจการในต่างประเทศ หรือจากเงินได้ที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศตามข้อ 2 มีจำนวนมากกว่าภาษีที่คำนวณได้ตามข้อ 3 (1) หรือ (2) แล้วแต่กรณี ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยดังกล่าวได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เป็นจำนวนเท่ากับภาษีที่คำนวณได้ตามข้อ 3 (1) หรือ (2) แล้วแต่กรณี

 

                ข้อ 6  เงินตรา ทรัพย์สิน หนี้สินที่ได้จากการประกอบกิจการในต่างประเทศ ซึ่งมีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศ ให้คำนวณค่าหรือราคาเป็นเงินตราไทย ตามบทบัญญัติมาตรา 65 ทวิ (5) แห่งประมวลรัษฎากร

 

                ข้อ 7  ภาษีที่เสียไปในต่างประเทศตามข้อ 2 เป็นเงินตราต่างประเทศ ให้คำนวณค่าหรือราคาเป็นเงินตราไทยตามราคาตลาดในวันที่ได้มีการชำระภาษีดังกล่าวนั้น

 

                ข้อ 8  กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ประกอบกิจการในต่างประเทศโดยมีรอบระยะเวลาบัญชีไม่ตรงกันกับรอบระยะเวลาบัญชีที่ใช้ในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย การคำนวณหาจำนวนภาษีที่ต้องเสียตามกฎหมายไทยส่วนที่คำนวณจากเงินได้จากการประกอบกิจการในต่างประเทศตามหลักเกณฑ์ในข้อ 3 (1)ให้ใช้รายได้และรายจ่ายที่เกิดขึ้นในต่างประเทศในช่วงระยะเวลาที่ตรงกันกับรอบระยะเวลาบัญชีที่ใช้ในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย

                           สำหรับภาษีเงินได้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยได้เสียไปเมื่อสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีในต่างประเทศ ที่จะนำมายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทยได้นั้นต้องเป็นดังนี้

                           (1) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิในต่างประเทศ ต้องเฉลี่ยภาษีที่ได้เสียไปในต่างประเทศตามส่วนของกำไรที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาที่ตรงกันกับรอบระยะเวลาบัญชีที่ใช้ในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย

                           (2) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายในต่างประเทศ ต้องเฉลี่ยภาษีที่ได้เสียไปในต่างประเทศตามส่วนของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาที่ตรงกันกับรอบระยะเวลาบัญชีที่ใช้ในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย

 

                ข้อ 9  กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ได้ชำระภาษีเงินได้ในต่างประเทศหลังจากที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 68 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวยื่นแบบแสดงรายการดังกล่าวนั้นใหม่เพื่อปรับปรุงให้ถูกต้องด้วย

 

                ข้อ 10  บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 300) พ.ศ. 2539 ในรอบระยะเวลาบัญชีใดแล้ว ให้ถือปฏิบัติเช่นนั้นในรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว

 

                ข้อ 11  เอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการเสียภาษีเงินได้ในต่างประเทศที่หน่วยงานจัดเก็บภาษีในต่างประเทศรับรอง ต้องมีคำแปลเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ และต้องใช้เลขไทยหรืออารบิค รวมทั้งต้องมีรายการอย่างน้อย ดังนี้

                             (1) ชื่อผู้มีเงินได้

                             (2) รายการเงินได้

                             (3) จำนวนภาษีที่ได้เสียไปแล้วในต่างประเทศ

 

                ข้อ 12  ในกรณีที่มีปัญหาในการปฏิบัติ ให้อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจวินิจฉัยและคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมสรรพากรให้ถือเป็นหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตามประกาศนี้ด้วย

 

                ข้อ 13  ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2539 เป็นต้นไป

 

ประกาศ ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539

 

ร้อยเอกสุชาติ เชาว์วิศิษฐ

อธิบดีกรมสรรพากร

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022