เมนูปิด

การจัดเก็บภาษีอากรในสมัยกรุงสุโขทัย (พ.ศ. 1763 - พ.ศ. 1893)

ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ราชอาณาจักรสุโขทัยมีความเจริญรุ่งเรืองมาก เพราะพระองค์เป็นทั้งนักรบและนักปราชญ์ ทรงปกครองประเทศชาติได้เป็นปึกแผ่นและมีการขยายการค้าไปทั่วราชอาณาจักรและไปถึงต่างประเทศ จากความเจริญรุ่งเรืองและมีการประกอบการค้าทั้งในและนอกราชอาณาจักรในยุตสมัยราชอาณาจักรสุโขทัยดังที่กล่าวมาข้างต้นปรากฏในศิลาจารึกซึ่งแสดงหลักฐานว่า มีการจัดเก็บภาษีอากรมาตั้งแต่ก่อนยุคพ่อขุนรามคำแหง คือข้อความตอนหนึ่งที่ว่า

เมื่อชั่วพ่อขุนรามคำแหง   เมืองสุโขทัยนี้ดี

ในน้ำมีปลาในนามีข้าว   เจ้าเมืองบ่เอาจังกอบในไพร่ลู่ทาง

เพื่อนจองวัวไปค้า   ขี่ม้าไปขาย

ใครจักค้าช้างค้า   ใครจักค้าม้าค้า

จากข้อความที่ว่าแต่เดิมมีการจัดเก็บจังกอบ จำกอบ หรือจกอบนี้ เป็นค่าเดียวกัน เป็นภาษีชนิดหนึ่งที่เก็บจากผู้นำสัตว์และสิ่งของสินค้าไปเพื่อขายในที่ต่างๆ หรือหมายถึงภาษีที่เก็บจากสัตว์และสิ่งของที่นำเข้ามาจำหน่าย โดยวิธีเก็บจังกอบในสมัยนั้นจะเก็บในอัตรา 10 ชัก 1 และการเก็บนั้นมิได้เก็บเป็นตัวเงินเสมอไป คือเก็บเป็นสิ่งของแทนตัวเงินก็ได้แล้วแต่จะเก็บอย่างใดได้สะดวก เพราะในสมัยนั้นวัตถุที่ใช้แทนเงินตรายังไม่สมบูรณ์ ในยุคสมัยนั้น ในการจัดเก็บจังกอบ รัฐบาลจะตั้งเป็นสถานที่คอยดักเก็บในสถานที่ที่สะดวก เช่นถ้าเป็นทางบก ก็จะไปตั้งที่ปากทางหรือทางที่จะเข้าเมือง ถ้าเป็นทางน้ำ ก็จะตั้งใกล้ท่าแม่น้ำหรือเป็นทางร่วมสายน้ำ โดยสถานที่เก็บจังกอบ เรียกว่า ขนอน ทั้งนี้ขนอนจะเป็นที่คอยเก็บจังกอบสินค้าทั่วไป ไม่เฉพาะเพียงการนำเข้าและขนออกนอกราชอาณาจักรเท่านั้น เพราะมีทั้งขนอนบก ขนอนน้ำ ขนอนชั้นนอก ขนอนชั้นใน และ ขนอนตลาด เป็นต้น การจัดเก็บจังกอบเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยก่อนยุคสุโขทัย และได้ยกเว้นไม่เก็บจังกอบจากราษฎรเลยในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ในภายหลังจากสมัยพ่อขุนรามคำแหงไม่มีหลักฐานว่า ในยุคสุโขทัยได้มีการจัดเก็บจังกอบจากราษฎรอีกหรือไม่

ที่มา :: หนังสือที่ระลึกในการเปิดอาคารกรมสรรพากร 2 กันยายน 2540

 

ปรับปรุงล่าสุด: 01-07-2020