เมนูปิด

ประกาศกรมสรรพากร

เรื่อง      หลักฐานการจ่ายเงินเข้ากองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ

 

---------------------------------------------

 

                ตามที่ได้มีประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 90) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็น ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ และการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ลงวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2544 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 93) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ และการถือหน่วย ลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ลงวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2544 กำหนดให้ผู้มีเงินได้ต้องมีหลักฐานจากกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่แสดงได้ว่ามีการจ่ายเงินเข้ากองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ กรมสรรพากรจึงกำหนดหลักฐานที่จะใช้ในการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ดังนี้

 

                ข้อ 1 หลักฐานที่ผู้มีเงินได้ที่ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ต้องใช้ เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ได้แก่ หนังสือรับรองการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพซึ่งมีข้อความ อย่างน้อยตามที่แนบท้ายประกาศนี้

                        ในกรณีผู้มีเงินได้ได้โอนการลงทุนในหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพหนึ่งทั้งหมดหรือบางส่วนไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพอื่น ต้องมีหลักฐานแสดงการโอน ได้แก่ หนังสือรับรองการโอนหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ซึ่งมีข้อความอย่างน้อย ตามที่แนบท้ายประกาศนี้ แนบพร้อมหนังสือรับรองการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพด้วย

                        การลงชื่อของผู้มีหน้าที่ออกหนังสือรับรองการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ และหนังสือรับรองการโอนหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพในหนังสือ รับรองตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง จะใช้วิธีประทับลายมือชื่อผู้มีหน้าที่ออกหนังสือรับรองดังกล่าว หรือจะพิมพ์ลายมือชื่อผู้มีหน้าที่ออกหนังสือรับรองดังกล่าวโดยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ได้มีการเก็บลายมือชื่อไว้ (SCAN) ก็ได้

 

                ข้อ 2 หนังสือรับรองการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ และหนังสือ รับรองการโอนหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามข้อ 1 ต้องจัดทำเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ หรือถ้าทำเป็นภาษาต่างประเทศอื่นต้องมีคำแปลภาษาไทยกำกับด้วย

 

ประกาศ ณ วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2545

 

ศุภรัตน์ ควัฒน์กุล

อธิบดีกรมสรรพากร

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022