เมนูปิด

กฎกระทรวง

ฉบับที่ 265 (พ.ศ. 2551)

ออกตามความในประมวลรัษฎากร

ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร

-----------------------------

   

                         

                อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2513 และมาตรา 42(17) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 และมาตรา 41 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

 

                    ข้อ 1 ให้ยกเลิกความใน (55) ของข้อ 2 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 246 (พ.ศ. 2547) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

 

                               “(55) เงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในอัตราไม่เกินร้อยละสิบห้าของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกินสามแสนบาทสำหรับปีภาษีนั้น โดยผู้มีเงินได้ต้องถือหน่วยลงทุนดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับตั้งแต่วันซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรกและไถ่ถอนหน่วยลงทุนนั้นเมื่อผู้มีเงินได้มีอายุไม่ต่ำกว่าห้าสิบห้าปีบริบูรณ์ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด

 

                               ในกรณีที่ผู้มีเงินได้จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการด้วย เงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่งเมื่อรวมกับเงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการต้องไม่เกินสามแสนบาท

 

                               ในกรณีที่ผู้มีเงินได้ถือหน่วยลงทุนไม่ครบห้าปีนับตั้งแต่วันซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรกหรือไถ่ถอนหน่วยลงทุนก่อนที่ผู้มีเงินได้มีอายุครบห้าสิบห้าปีบริบูรณ์ ให้ผู้มีเงินได้นั้นหมดสิทธิได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่ง และต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีตามวรรคหนึ่งมาแล้วด้วย ”

 

                           ข้อ 2 ให้ยกเลิกความใน (65) ของข้อ 2 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 246 (พ.ศ. 2547) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                                  

                                   “(65) เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เฉพาะกรณีที่ผู้มีเงินได้ถือหน่วยลงทุนดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับตั้งแต่วันซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด”   

                        

                    ข้อ 3  ความใน (55) ของข้อ 2 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 246 (พ.ศ. 2547) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ให้ยังคงใช้บังคับต่อไป เฉพาะการจัดเก็บภาษีสำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ก่อนวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2551

 

 ให้ไว้ ณ วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2551

 

   ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

 

---------------------------------------------------------------------------------------------------------

 

หมายเหตุ :-เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นทางเลือกในการออมเงินระยะยาวของประชาชน และกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ได้ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ผู้มีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ และเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ผู้มีเงินได้ได้รับจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ แต่โดยที่หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการยกเว้นภาษีเงินได้ดังกล่าวยังไม่เพียงพอต่อการส่งเสริมให้เกิดการออมระยะยาว ดังนั้น สมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการยกเว้นภาษีเงินได้ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022