เมนูปิด
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เกี่ยวกับภาษีเงินได้(ฉบับที่ 227)
เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักร ที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามประเภทออมทรัพย์



อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 42 (8) (ค) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 29) พ.ศ. 2534 และตามความในข้อ 2 (38 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎ กระทรวงฉบับที่ 200 (พ.ศ. 2538) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการ ยกเว้นรัษฎากร อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเพื่อการ ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักรที่ต้องจ่ายคืนเมื่อ ทวงถามประเภทออมทรัพย์ไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1  ให้ยกเลิกความในข้อ 6ของประกาศ อธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 55)เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักร ที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามประเภทออมทรัพย์ ลงวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2538 และให้ ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 6 ผู้มีเงินได้ที่ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากตามข้อ 2 ให้ถือตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
(1) ในกรณีที่สามีภริยาเป็นผู้ฝากเงินร่วมกัน และไม่อาจแยก ได้อย่างชัดแจ้งว่าเป็นเงินฝากของสามีหรือภริยาแต่ละฝ่ายจำนวนเท่าใดให้ถือว่าเงินได้ ดังกล่าวเป็นเงินได้ของสามีและภริยาฝ่ายละกึ่งหนึ่ง
(2) ในกรณีบิดาหรือมารดาเป็นผู้ฝากเงินเพื่อบุตรผู้เยาว์ ให้ถือว่าเงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้ของบุตรผู้เยาว์ บุตรผู้เยาว์ในวรรคหนึ่งให้หมายความ รวมถึงบุตรบุญธรรมที่เป็นผู้เยาว์ด้วยโดยอนุโลม
(3) กรณีห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลเป็น ผู้ฝากเงิน ให้ถือว่าเงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้ของห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคล ที่มิใช่นิติบุคคลนั้น”

ข้อ 2  ประกาศนี้ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินตั้งแต่ปีภาษี พ.ศ. 2555 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2556

สาธิต รังคสิริ
อธิบดีกรมสรรพากร

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022