เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่2094/2553 
กรมสรรพากรโจทก์
บริษัท สยามร่วมพิพัฒน์ จำกัด โดยนางพัชรา นิธิวาสิน ผู้ชำระบัญชี ที่ 1จำเลย
นางพัชรา นิธิวาสิน ที่2
เรื่อง หน้าที่และความรับผิดของผู้ชำระบัญชี
กฎหมายที่เกี่ยวข้องประมวลรัษฎากร มาตรา 27 ตรี 72
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1269

จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการค้าอสังหาริมทรัพย์ ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2544 จำเลยที่ 1 ขายที่ดินให้บริษัทฯ ในราคา 32,526,400.- บาท และได้ยื่นแบบแสดงรายการ ภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) แสดงยอดรายได้จำนวนดังกล่าว ต่อมาเจ้าพนักงานของโจทก์ตรวจพบว่า ที่ดินดังกล่าวมีราคาประเมินของกรมที่ดิน 54,196,000.- บาท จำเลยที่ 1 ยื่นรายได้ต่ำไปจำนวน 27,134,706.- บาท จึงแจ้งให้ยื่นรายการปรับปรุงรายได้และกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีให้ถูกต้อง จำเลยที่ 1 เพิกเฉยและจดทะเบียนเลิกบริษัท โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระบัญชี และได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2546 ซึ่งในขณะจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี จำเลยที่ 1 มีสินทรัพย์คงเหลือ 685,240.02 บาท โดยเป็นเงินสดจำนวน 298,568.25 บาท ภาษีหัก ณ ที่จ่าย จากการที่จำเลยที่ 1 ได้รับเงินค่าเวนคืนที่ดินจากกรมโยธาธิการและจากค่าดอกเบี้ยของบริษัทเงินทุนฯจำนวน 386,671.77 บาท จำเลยที่ 2 ผู้ชำระบัญชียื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) เพิ่มเติมระบุว่ามีกำไรสุทธิต้องคำนวณภาษี 17,511,017.88 บาท และชำระภาษีค้างบางส่วนจำนวน 60,000.- บาท คงเหลือภาษีที่ต้องชำระ 4,651,375.- บาท และเงินเพิ่ม 1,272,071.- บาท
ประเด็นปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ว่าจำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่โดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือไม่ ศาลเห็นว่า นอกจากจำเลยที่ 2 จะเป็นผู้ชำระบัญชีแล้ว จำเลยที่ 2 ยังเป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 2 ย่อมรู้กิจการของบริษัทจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ยื่นรายการปรับปรุงรายได้และกำไรสุทธิ แม้มิใช่หนังสือแจ้งการประเมินให้ชำระภาษี แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามราคาประเมินของกรมที่ดินมูลค่า 54,196,000.- บาท จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีต้องใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ชำระบัญชี ข้ออ้างของจำเลยที่ 2 ที่ว่าไม่มีการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินจึงฟังไม่ขึ้นการที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีโดยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 72 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งบัญญัติให้ผู้ชำระบัญชีและผู้จัดการมีหน้าที่ร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานประเมินทราบการเลิกของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นภายใน 15 วัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานรับจดทะเบียนเลิก ถือว่าจำเลยที่ 2 ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
และประเด็นปัญหาว่าจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์หรือไม่เพียงใด เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติได้ว่าสินทรัพย์คงเหลือในขณะจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีในงบดุลนั้นเป็นเงินสดอยู่เพียง 298,568.25 บาท และภาษีหัก ณ ที่จ่าย จำนวน 386,671.77 บาท ซึ่งจำเลยที่ 2 นำสืบว่า เป็นเครดิตภาษี เนื่องจากจำเลยที่ 1 ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เมื่อปี 2542 ถึง 2543 โจทก์มิได้โต้แย้งให้เห็นเป็นอื่น ภาษีที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่าย กฎหมายให้ถือเป็นเครดิตของผู้เสียภาษีในการคำนวณภาษี และในการขอคืน ผู้เสียภาษีต้องขอคืนภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนดไว้ หรือภายในระยะเวลาอื่น ๆ ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ขอคืนหรือขอเครดิตภาษีดังกล่าว และโจทก์มิได้โต้แย้งว่ามิใช่เป็นเครดิตภาษีของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีไม่สามารถแจกจำหน่ายสินทรัพย์ ที่เป็นเครดิตภาษีดังกล่าวให้แก่เจ้าหนี้ได้ ดังนั้น จะถือว่าจำเลยที่ 2 ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์หาได้ไม่ ส่วนเงินสดจำนวน 298,568.25 บาท นั้น นายวุฒิชัย ตะรุวรรณซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่จำเลยที่ 1 ได้นำเงินจำนวนดังกล่าวคืนให้แก่โจทก์ จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ใช้หนี้แก่โจทก์แล้ว เมื่อจำเลยที่ 2 ได้จัดการใช้หนี้เงินและจำหน่ายสินทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เท่าที่เหลืออยู่ให้แก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด

 

ปรับปรุงล่าสุด: 13-02-2021