เมนูปิด

กฎกระทรวง

ฉบับที่ 240 (พ.ศ. 2545)

ออกตามความในประมวลรัษฎากร

ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร

 

---------------------------------------------

 

                อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2513 และมาตรา 42(17) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

 

                ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (61) ของข้อ 2 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 239 (พ.ศ. 2545) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร

 

                “(61) เงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัยในปีภาษีสำหรับการประกันชีวิตของผู้มีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงเฉพาะส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 40,000 บาท เฉพาะในกรณีที่กรมธรรม์ประกันชีวิตมีกำหนดเวลาตั้งแต่สิบปีขึ้นไป และการประกันชีวิตนั้นได้เอาประกัน ไว้กับผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในราชอาณาจักร ทั้งนี้ สำหรับเบี้ยประกันภัยที่ได้จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2545 เป็นต้นไป และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนด”

 

ให้ไว้ ณ วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2545

 

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

 

___________________________________________________________________

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา 47(1)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้ผู้มีเงินได้หักลดหย่อนเบี้ยประกันภัยที่ผู้มีเงินได้จ่ายไปในปีภาษีสำหรับการประกันชีวิตของผู้มีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท ดังนั้น เพื่อให้ผู้มีเงินได้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีมากขึ้น และเพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจประกันชีวิตขยายตัวเพิ่มขึ้น สมควร กำหนดให้ผู้มีเงินได้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 50,000 บาท โดยกำหนดให้เงินได้เท่าจำนวนที่จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัยในปีภาษีสำหรับการประกันชีวิตของผู้มีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง เฉพาะในส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 40,000 บาท เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

 

(ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 119 ตอนที่ 95 ก วันที่ 27 กันยายน 2545)

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022