เมนูปิด
          การทดสอบผู้สอบบัญชีภาษีอากรที่ผ่าน ๆ มา คณะกรรมการตรวจข้อสอบได้มีข้อสังเกตจากการตรวจข้อสอบที่ผู้เข้ารับการทดสอบสอบไม่ผ่าน ซึ่งสำนักมาตรฐานการสอบบัญชีภาษีอากรได้รวบรวมสรุปมาเพื่อเป็นข้อมูลให้แก่ผู้ที่จะเข้ารับการทดสอบและบุคคลทั่วไปที่สนใจใช้ในการเตรียมตัวสอบหรือปรับปรุงพัฒนาในการทดสอบเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรต่อไป
ข้อผิดพลาดพื้นฐานที่พบบ่อย
 ไม่ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติในการเข้ารับการทดสอบเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรตามแนบท้ายประกาศกรมสรรพากรเรื่อง การทดสอบความรู้ของผู้ขอเข้ารับการทดสอบเป็นจึงทำให้ไม่ได้รับการตรวจสมุดคำตอบ เช่น
  ผู้เข้ารับการทดสอบทำข้อสอบอัตนัยโดยไม่ใช้ปากกาหมึกสีตามที่กำหนดไว้ในข้อปฏิบัติฯ หรือใช้ดินสอ
  ผู้เข้ารับการทดสอบเขียนชื่อ นามสกุล เลขประจำตัวสอบและเลขประจำตัวประชาชนในสมุดคำตอบ 
 ลอกโจทย์มาโดยไม่มีคำตอบ
 ไม่เข้าใจคำถาม ตอบไม่ตรงประเด็นหรือไม่ตรงคำถาม ตอบคำถามแบบกำกวม ไม่ชัดเจน ตอบไม่ครบทุกประเด็นหรือตอบคำถามไม่แยกประเด็น ตอบแบบรวม ๆ เช่น
  โจทย์ถามเรื่องแนวการสอบบัญชี หรือวิธีการตรวจ แต่ไปตอบเรื่องการจัดทำกระดาษทำการ
  โจทย์ถามเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ไปตอบเรื่องภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นต้น
  ตอบคำถามวกไปวนมาไม่ระบุว่าตรวจเอกสารหรือหลักฐานอะไรแน่
  ตอบคำถามวกไปวนมา ไม่เข้าใจว่ากรณีไหนเป็นความผิดทางแพ่งและกรณีไหนเป็นความผิดทางอาญา 
 ตอบคำถามไม่ได้เนื่องจากไม่มีความรู้ความเข้าใจ หรือไม่ได้ศึกษาเกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชี เช่น ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชี คำสั่งกรมสรรพากรเกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชี คู่มือการปฏิบัติงานต่าง ๆ ของผู้สอบบัญชีภาษีอากร เป็นต้น
                             ตอบคำถามในลักษณะที่ท่องจำมา ไม่ว่าคำถามจะถามมาอย่างไรก็จะพยายามเขียนตอบตามที่ตนเองท่องจำมา
 เตรียมตัวสอบมาโดยการเก็งหรือติวข้อสอบมาสอบ เมื่อเข้ารับการทดสอบปรากฏว่า ข้อสอบไม่ตรงกับที่เก็งหรือติวมา ก็จะทำข้อสอบไม่ได้และจะตอบคำถามตามที่เก็งหรือติวมาเท่านั้น แต่ไม่ตรงกับประเด็นที่โจทย์ข้อสอบถาม
ข้อผิดพลาดที่พบในแต่ละวิชา เช่น
วิชาการบัญชี
 บันทึกบัญชีไม่ถูกต้องตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป เช่น
  ไม่เข้าใจหรือขาดทักษะในการบันทึกรายการบัญชี 5 หมวด ได้แก่ สินทรัพย์ หนี้สิน ทุน รายได้ ค่าใช้จ่าย 
  ไม่สามารถแยกรายการที่โจทย์ให้มาว่ารายการใดเป็นสินทรัพย์ หนี้สิน ค่าใช้จ่าย ตั๋วเงินรับ ตั๋วเงินจ่าย ลูกหนี้ เจ้าหนี้ เป็นต้น
  โจทย์ให้บันทึกบัญชีการขายเป็นเงินสด ผู้เข้ารับการทดสอบบันทึกบัญชี
                               เดบิต ขาย  
        เครดิต  เงินสดหรือ
                         เครดิต ขาย  
        เดบิต  เงินสด 
  โจทย์มีบัญชีค่าเช่าจ่ายล่วงหน้า ค่าเช่าให้ปรับปรุงออก ผู้เข้ารับการทดสอบบันทึกบัญชีเป็น
     เดบิต ค่าเช่าจ่าย 
         เครดิต  ค่าใข้จ่ายจ่ายล่วงหน้า
  ซึ่งที่ถูกต้องต้องบันทึกบัญชีเป็น
     เดบิต ค่าเช่า  
                  เครดิต  ค่าเช่าจ่ายล่วงหน้า
  การตอบข้อสอบเรื่องการบันทึกบัญชี ผู้เข้ารับการทดสอบควรตอบแบบ Single Entry ไม่ควรตอบแบบ Compound Entryเพราะการตอบข้อสอบแบบ Compound Entry ต้องมีการแยกรายละเอียดออกมาเพื่อพิจารณาว่าผู้เข้ารับการทดสอบเข้าใจคำตอบที่ตอบมาหรือไม่
 ขาดทักษะหรือความรู้ความเข้าใจในการจัดทำบัญชีต้นทุนหรือปรับปรุงรายการบัญชี
 คำนวณหาต้นทุนการผลิตไม่ได้ เช่น ให้คำนวณเรื่อง Job Costing แต่ผู้เข้ารับการทดสอบตอบเรื่อง Processing Costing หรือคำนวณต้นทุนการผลิตแต่นำค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารมาคำนวณ
 ให้คำนวณต้นทุนขาย สินค้าคงเหลือ การรับคืนสินค้าและการส่งคืนสินค้า ผู้เข้ารับการทดสอบไม่มีความรู้หรือความเข้าใจว่าจะรายการใดไปลบหรือบวกกับรายการใด เพื่อคำนวณต้นทุนต่อหน่วย เช่น ส่วนลดรับ ค่าขนส่งขาเข้า เป็นต้น
 คำนวณหากำไรขาดทุนไม่ได้หรือไม่ถูกต้อง คำนวณหาต้นทุนขายไม่ได้ เนื่องจากไม่สามารถแยกได้ว่ารายการใดที่เป็นสินทรัพย์และรายการใดที่เป็นค่าใช้จ่าย หรือกรณีให้จัดทำงบต้นทุนการผลิต ผู้เข้ารับการทดสอบจะทำไม่ได้ เพราะไม่มีความรู้ความเข้าใจในการคำนวณหาต้นทุนการผลิต หรือแยกรายการที่โจทย์ให้มาว่ารายการใดจะนำมาคำนวณต้นทุนการผลิตไม่ได้ และนำรายการค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการผลิตมาคำนวณต้นทุนขาย
 ให้จัดทำงบกำไรขาดทุน ผู้เข้ารับการทดสอบจะลอกข้อมูลทุกรายการจากโจทย์มาจัดทำเป็นงบกำไรขาดทุน
 ไม่เขียนรายละเอียดที่มาของตัวเลขในการคำนวณต่าง ๆ ทำให้ไม่ได้คะแนน
วิชาการสอบบัญชี
 ผู้เข้ารับการทดสอบขาดความรู้ความเข้าใจหรือประสบการณ์ในการปฏิบัติงานและการจัดทำรายงานการตรวจสอบและรับรองบัญชีของผู้สอบบัญชีภาษีอากร เช่น
  ให้เขียนรายงานการตรวจสอบและรับรองบัญชีของผู้สอบบัญชีภาษีอากร ผู้เข้ารับการทดสอบตอบไม่ได้หรือไม่ถูกต้อง มักใช้การเล่าเหตุการณ์มากกว่า โดยไม่เข้าใจว่าผิดมาตรฐานข้อใด อย่างไรและต้องเขียนข้อยกเว้นอย่างไรเข้าใจ 
  ให้จัดทำแนวการสอบบัญชีหรือวิธีการตรวจของแต่ละบัญชีที่โจทย์ถาม เช่น หนี้สิน เครื่องจักร ฯลฯ โดยคำถามระบุให้เขียนวิธีการตรวจสอบและวัตถุประสงค์ของการตรวจสอบ ผู้เข้ารับการทดสอบไม่เขียนวัตถุประสงค์การตรวจสอบในแต่ละประเด็นและการตอบคำถามเกี่ยวกับวิธีการตรวจสอบนั้น อธิบายเทคนิคหรือวิธีการตรวจสอบไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน หรือให้เขียนแนวการสอบบัญชีเครื่องจักร แต่ผู้เข้ารับการทดสอบตอบแต่เรื่องการตรวจสอบที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ หรือถามในเรื่องวิธีการตรวจสอบผู้เข้ารับการทดสอบจะตอบโดยให้นำไปเปรียบเทียบกับบัญชีแยกประเภท ซึ่งโดยปกติจะตรงกันอยู่แล้ว เพราะเป็นการดึงตัวเลขจากบัญชีแต่ไม่มีการตอบคำถามถึงวิธีการตรวจว่าจะต้องนำไปตรวจกับหลักฐานอะไร
  ให้จัดทำกระดาษทำการลูกหนี้ สินค้าคงเหลือ เครื่องจักร ค่าใช้จ่ายโฆษณา ฯลฯ ผู้เข้ารับการทดสอบไม่เข้าใจความหมายของกระดาษทำการ จัดทำกระดาษทำการ ไม่ถูกต้อง หรือจัดทำกระดาษทำการโดยไม่มีลำดับขั้นตอน วิธีการและตอบแบบเรียงความ
   ไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของเครื่องหมายตรวจสอบ ประเภทและลักษณะของเครื่องหมายตรวจสอบในกระดาษทำการของผู้สอบบัญชีภาษีอากร
 ผู้เข้ารับการทดสอบตอบไม่ตรงคำถาม ไม่ตรงประเด็นหรือไม่ครบทุกประเด็น เช่น
  เนื้อหาสำคัญที่ควรมีในกระดาษทำการ ผู้เข้ารับการทดสอบจะตอบแต่ความครบถ้วน ถูกต้อง มีกรรมสิทธิ์แต่ไม่ตอบในเรื่องของสิ่งที่ต้องมี
  โจทย์ถาม 5 ประเด็น แต่ผู้เข้ารับการทดสอบตอบมาประเด็นเดียว
  ให้คำนวณต้นทุนเป็นเดือน ผู้เข้ารับการทดสอบคำนวณเป็นรายวันจึงเป็นการตอบในเรื่องที่โจทย์ไม่ได้ถามหรือสั่งให้ทำ
     โจทย์ถามวิธีการตรวจลูกหนี้ชำระเงินโดยการโอนผ่านธนาคาร แต่ห้างยังไม่บันทึกบัญชี ผู้เข้ารับการทดสอบจะตอบว่าตรวจเอกสารใบสำคัญรับเงินของลูกหนี้ ตรวจภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือถามเรื่องวิธีการตรวจให้ตรวจนับเงินสด
  โจทย์ถามประโยชน์ของแนวการสอบบัญชี (Audit Program) มีอะไรบ้าง ผู้เข้ารับการทดสอบจะตอบแต่ความครบถ้วน ความสมบูรณ์
    โจทย์เป็นกรณีศึกษา ผู้เข้ารับการทดสอบไม่เข้าใจปัญหาในแต่ละกรณีและจะตอบแบบรวมทุกกรณี ไม่แยกตอบเป็นประเด็นแต่ละกรณี
วิชาความรู้เกี่ยวกับประมวลรัษฎากรและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
 ตอบคำถามโดยไม่มีหลักกฎหมายและไม่เขียนหลักกฎหมาย
 วินิจฉัยปัญหาโดยลอกโจทย์มา ตอบโดยใช้จินตนาการ ความรู้สึก ไม่มีวินิจฉัยปัญหา ไม่มีสรุป
 ไม่เข้าใจในข้อกฎหมายหรือไม่แม่นในหลักกฎหมาย ถามอย่าง ตอบอย่าง ไม่สามารถวิเคราะห์ข้อเท็จจริงกับข้อกฎหมายมาผสมผสานแล้วสรุปเป็นคำตอบได้
 ข้อสอบเรื่องกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้เข้ารับการทดสอบต้องอ้างถึงกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แต่ไปอ้างประมวลรัษฎากร
 ข้อสอบเรื่องกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โจทย์ให้ชื่อมาให้ตอบแต่ผู้เข้ารับการทดสอบจะนำเอาชื่อมาตอบผิดสลับกันเป็นคนละคน
 ผู้เข้ารับการทดสอบตอบไม่ตรงคำถาม ไม่ตรงประเด็นที่ถาม ไม่เข้าใจคำถาม หรือตอบไม่ครบทุกประเด็น เช่น
  โจทย์ถามเกี่ยวกับเรื่องประมวลรัษฎากร แต่ผู้เข้ารับการทดสอบตอบเดบิต เครดิต หรือตอบแต่ในเรื่องเกี่ยวกับบัญชี แต่ไม่ตอบในเรื่องที่เกี่ยวกับภาษีที่โจทย์ถาม
  โจทย์ถามคำนิยามเรื่องเกี่ยวกับภาษี ผู้เข้ารับการทดสอบตอบไม่ได้ เนื่องจากไม่มีความรู้ ความเข้าใจ
  เขียนคำตอบวกไปวนมา ไม่เข้าใจว่ากรณีใดเป็นความผิดทางแพ่งและกรณีใดเป็นความผิดทางอาญา
  อ่านคำถามไม่ละเอียดทำให้ตอบคำถามไม่ครบทุกประเด็น โจทย์ให้ข้อเท็จจริงมาต้องวิเคราะห์ว่าข้อเท็จจริงที่ให้มานั้นมีภาระภาษีประเภทใดบ้าง ต้องตอบทุกประเภทภาษีแต่ผู้เข้ารับการทดสอบตอบเพียงประเภทภาษีเดียว
 ข้อสอบให้คำนวณ ผู้เข้ารับการทดสอบตอบผิดทั้งส่วนบนและส่วนล่างแต่คำตอบถูก หรือคำนวณผิดทั้งข้อแต่คำตอบถูก

 

ปรับปรุงล่าสุด: 07-01-2021