เลขที่หนังสือ | : กค 0811/16116 |
วันที่ | : 26 พฤศจิกายน 2540 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการนำทรัพย์สินของใช้ส่วนตัวมาขายในราคาถูก |
ข้อกฎหมาย | : ประเด็นปัญหา |
ข้อหารือ | : บริษัทฯ ได้จัดโครงการตลาดนัดคนเคยรวย เพื่อช่วยเหลือบุคคลให้นำทรัพย์สินของใช้ส่วนตัวมาขายในราคาถูก หรือบริษัทฯ อื่นนำสินค้าค้างสต็อกหรือเครื่องใช้สำนักงานมาขายเลหลัง ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจมาขายและซื้อเป็นจำนวนมากโดยบริษัทฯ มิได้คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น แต่ได้ประโยชน์ในการส่งเสริมการขายรถเบนซ์ใหม่ ซึ่งการขายสินค้าดังกล่าวผู้ขายจะต้องมีภาระภาษีอย่างไร |
แนววินิจฉัย | : 1. ภาษีเงินได้ 1.1 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีผู้ขายเป็นบุคคลธรรมดา 1.1.1 การขายทรัพย์สินสิ่งของใช้ส่วนตัวที่เป็นสังหาริมทรัพย์ที่มิใช่ เรือกำปั่นเรือที่มีระวางตั้งแต่หกตันขึ้นไป เรือกลไฟ หรือเรือยนต์ที่มีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป หรือแพ การขายดังกล่าวเข้าลักษณะเป็น "การขายสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร" ผู้มีเงินได้ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตามมาตรา 42(9) แห่งประมวลรัษฎากร 1.1.2 การขายสินค้าที่ไม่เข้าลักษณะตามข้อ 1.1.1 หรือการขายเรือกำปั่นเรือที่มีระวางตั้งแต่หกตันขึ้นไป เรือกลไฟ หรือเรือยนต์ที่มีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป หรือแพ เงินได้จากการขายดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้มีเงินได้ต้องนำเงินได้ดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตามมาตรา 56 และมาตรา 56 ทวิแห่งประมวลรัษฎากร แล้วแต่กรณี โดยมีสิทธิเลือกหักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควร หรือหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 80 ทั้งนี้ ตามมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 8(25) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2502 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 131) พ.ศ.2526 1.1.3 การขายที่ดินหรือที่ดินพร้อมอาคาร เงินได้จากการขายที่ดินหรือที่ดินพร้อมอาคาร เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ดังนี้ ก. หากเป็นเงินได้ที่ได้รับจากการขายอสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดกหรืออสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร ซึ่งได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่ง ตามมาตรา 50(5) และมาตรา 52 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อถึงกำหนดยื่นรายการ ผู้มีเงินได้มีสิทธิจะเลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยไม่ต้องนำเงินได้ดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้ประเภทอื่นก็ได้ ตามมาตรา 48(4) แห่งประมวลรัษฎากร ข. หากเป็นเงินได้ที่ได้รับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไรซึ่งได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่ง ตามมาตรา 50(5)(ข) และมาตรา 52 แห่งประมวลรัษฎากรแล้วเมื่อถึงกำหนดเวลายื่นรายการ ผู้มีเงินได้ต้องนำเงินได้ดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้ประเภทอื่นตามมาตรา 48(4) แห่งประมวลรัษฎากร เว้นแต่การขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ ที่ได้กระทำภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น ตามมาตรา 3(6)แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 ซึ่งได้ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(5)แห่งประมวลรัษฎากร และได้เสียภาษีธุรกิจเฉพาะไว้แล้ว เมื่อถึงกำหนดยื่นรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้นั้นมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 247) พ.ศ.2534 1.2 ภาษีเงินได้นิติบุคคล รายได้จากการขายสินค้าหรือทรัพย์สินของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามข้อเท็จจริงข้างต้น เข้าลักษณะเป็นรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าว ต้องนำรายได้นั้นมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร 2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม 2.1 กรณีบุคคลธรรมดา ได้ขายสินค้าที่เป็นทรัพย์สินสิ่งของใช้ส่วนตัว ตามข้อเท็จจริงข้างต้น หากการขายสินค้าดังกล่าวไม่ได้กระทำในทางธุรกิจหรือวิชาชีพ ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 และมาตรา 77/1(5) แห่งประมวลรัษฎากร 2.2 กรณีบุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้ขายสินค้าหรือเครื่องใช้สำนักงานตามข้อเท็จจริงดังกล่าว ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องนำมูลค่าที่ได้รับมาคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3แห่งประมวลรัษฎากร 3. ภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.1 กรณีบุคคลธรรมดา ได้ขายที่ดินหรือที่ดินพร้อมอาคารที่ได้กระทำภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น หรือที่ดินพร้อมอาคารที่ใช้เป็นสถานที่อยู่อาศัยอันเป็นแหล่งสำคัญโดยผู้ขายมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร์ และได้อาศัยเป็นเวลาน้อยกว่าหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ตามมาตรา 3(6) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 ผู้ขายมีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/2(6)แห่งประมวลรัษฎากร อนึ่ง กรณีการซื้อที่ดินหรือที่ดินพร้อมอาคารมาแล้วขายไป หากการขายดังกล่าวไม่เข้าลักษณะตามมาตรา 3(1)(2)(3)(4) หรือ (5) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 ที่ได้กระทำเกินกว่า 5 ปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น หรือการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยทางมรดก หรือการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เป็นสถานที่อยู่อาศัยอันเป็นแหล่งสำคัญ โดยผู้ขายมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร และได้อาศัยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น การขาย อสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว ไม่เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.2 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ได้ขายที่ดินหรือที่ดินพร้อมอาคาร ตามข้อเท็จจริงข้างต้น เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ใช้ในการประกอบกิจการ อันเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร ตามมาตรา 3(5) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้ขายมีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ในอัตราร้อยละ 3.0 ทั้งนี้ตามมาตรา 91/2(6) และมาตรา 91/6(3) แห่งประมวลรัษฎากร และภาษีท้องถิ่นอีกร้อยละ 10.0 ของภาษีธุรกิจเฉพาะ โดยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการ ได้รับยกเว้นไม่ต้องจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ ทั้งนี้ ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีธุรกิจเฉพาะ เรื่อง กำหนดกิจการที่ไม่ต้องจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ ลงวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2535 4. กรณี บริษัทฯ ได้จัดสถานที่ให้กับบุคคลทั่วไปในการขายสินค้า โดยจัดให้มีพื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อให้เป็นจุดสนใจของประชาชนในการซื้อสินค้าเหล่านั้น โดยบริษัทฯ ไม่ได้รับค่าตอบแทนจากบุคคลดังกล่าวแต่อย่างใด การจัดสถานที่เพื่อให้บุคคลได้ขายสินค้าดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการ "บริการ" ตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร โดยที่การให้บริการดังกล่าวบริษัทฯ จะไม่ได้รับค่าตอบแทน ทั้งนี้เนื่องจากสภาพการณ์ของเศรษฐกิจ และบริษัทฯ ประสงค์จะจัดให้เป็นศูนย์รวมขนาดใหญ่ในการซื้อขายสินค้าของบุคคลผู้ประสบภาวะทางเศรษฐกิจ ได้ซื้อขายสินค้าดังกล่าวในราคาถูก เพื่อให้มีรายได้มาบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของบุคคลเหล่านั้น และเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการขายสินค้าของบริษัทฯ การให้บริการดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการให้บริการ โดยไม่มีค่าตอบแทนโดยมีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินไม่มีอำนาจประเมินค่าตอบแทนตามราคาตลาดของการให้บริการนั้น เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร และเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 79/3(1) แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 60/26114 |