เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/พ./4974
วันที่: 21 พฤษภาคม 2547
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการขอเครดิตภาษีของสาขา
ข้อกฎหมาย: มาตรา 89, มาตรา 89/1, มาตรา 84/1(1)
ข้อหารือ: 1. บริษัท พ. ประกอบกิจการ ผลิตและรับจ้างผลิตภาชนะหรือหีบห่อใช้บรรจุสินค้าเพียง
ครั้งเดียวจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2537 สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่อำเภอเมืองฯ
จังหวัดสมุทรสาคร
2. เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2538 บริษัทฯ ยื่นแบบ ภ.พ.09 แจ้งเปลี่ยนแปลงที่ตั้ง
สถานประกอบการเป็นเลขที่ 48/2 – 3
3. วันที่ 21 พฤศจิกายน 2540 บริษัทฯ ยื่นแบบ ภ.พ.09 แจ้งเพิ่มสาขาที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 15
ธันวาคม 2540 ตั้งอยู่เลขที่ 48/4
4. วันที่ 31 กรกฎาคม 2541 บริษัทฯ ได้ขอยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มรวมกัน
(ภ.พ.02) ณ สำนักงานใหญ่และได้รับอนุมัติตั้งแต่เดือนภาษีกันยายน 2541 เป็นต้นไป
5. วันที่ 10 กรกฎาคม 2544 บริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.พ.09 เพิ่มสาขาที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1
สิงหาคม 2544 ตั้งอยู่เลขที่ 19
6. วันที่ 7 พฤศจิกายน 2544 บริษัทฯ ยื่นแบบ ภ.พ.09 แจ้งย้ายสำนักงานใหญ่ไปอยู่ที่ 19
7. บริษัทฯ ยื่นแบบ ภ.พ.30 สาขาที่ 2 ตั้งแต่เดือนภาษีสิงหาคม 2544 -ธันวาคม 2544
โดยไม่ปรากฏรายการพิเศษจากการประมวลผลด้วยเครื่องฯ จากการยื่นแบบฯ แต่อย่างใด เนื่องจาก
การบันทึกข้อมูลการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของบริษัทฯ ถูกปฏิเสธ และบริษัทฯ ได้ทำ
เรื่องขอคำปรึกษาและขอความเป็นธรรมเกี่ยวกับการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
จากการตรวจสอบการขออนุมัติยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มรวมกันของบริษัทฯ
พบว่าเครื่องประมวลผลไม่ปรากฏรายการปฏิเสธ การที่บริษัทฯ แยกยื่นแบบภ.พ.30 ของสาขาที่ 2
เนื่องจากบันทึกข้อมูลการยื่นแบบรวม ERROR ทำให้งานคืนภาษีไม่สามารถตรวจพบประเด็นความผิดพลาด
ดังกล่าวได้ และจากการตรวจสอบการยื่นแบบของบริษัทฯ ตั้งแต่เดือนภาษีมกราคม 2545 จนถึง
เดือนภาษีปัจจุบันพบว่า ถ้าบริษัทฯ สามารถนำเครดิตภาษีจำนวน 2,096,651.65 บาทมาใช้ใน
เดือนภาษีมกราคม 2545 ได้ เท่ากับบริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.พ.30 ถูกต้องแล้ว หากกรณีดังกล่าวบริษัทฯ
ไม่สามารถนำยอดเครดิตภาษีมาใช้ได้บริษัทฯ จะต้องชำระภาษีเพิ่มเติมตั้งแต่เดือนภาษีกรกฎาคม 2545
- ตุลาคม 2545
แนววินิจฉัย: 1. กรณีบริษัทฯ มีสาขาที่ 1 และได้รับอนุมัติให้ยื่นแบบ ภ.พ.30 รวมกัน ณ ที่ว่าการอำเภอ
ท้องที่ที่สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ตั้งแต่เดือนภาษีกันยายน 2541 และบริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.พ.09 เพิ่มสาขาที่
2 โดยเริ่มประกอบการในวันที่ 2 สิงหาคม 2544 ถือว่าสาขาที่ 2 ได้รับอนุมัติให้ยื่นแบบแสดงรายการ
ภาษีมูลค่าเพิ่มรวมกันไว้แล้วทันทีโดยไม่ต้องยื่นแบบ ภ.พ.02 อีกตามข้อ 27.4(2) แห่ง
ระเบียบกรมสรรพากรฯ ว่าด้วยการปฏิบัติงานกรรมวิธีแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม พ.ศ. 2539
ดังนั้น ยอดขาย ภาษีขาย ยอดซื้อ ภาษีซื้อ ของสาขาที่ 2 จะต้องนำไปรวมกับสำนักงานใหญ่และให้
สำนักงานใหญ่เป็นผู้มีหน้าที่ยื่นแบบ ภ.พ.30 การที่สาขาที่ 2 ของบริษัทฯ ยื่นแบบภ.พ.30 ต่างหากตั้งแต่
เดือนสิงหาคม 2544 ถึงเดือนธันวาคม 2544 โดยไม่ได้นำยอดขาย ภาษีขาย ยอดซื้อ ภาษีซื้อ ไปรวม
ยื่นแบบ ภ.พ.30 กับสำนักงานใหญ่ จึงถือว่าบริษัทฯ ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษี ณ
สำนักงานใหญ่ไม่ถูกต้อง บริษัทฯ ต้องยื่นแบบแสดงรายการ ภ.พ.30 เพิ่มเติมเพื่อปรับปรุงการคำนวณ
ภาษีมูลค่าเพิ่มของสำนักงานใหญ่ให้ถูกต้องพร้อมชำระเบี้ยปรับตามมาตรา 89(3) และ (4) และ
เงินเพิ่มตามมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร และหากการยื่นแบบแสดงรายการ ภ.พ.30 เพิ่มเติม
ของเดือนภาษีใด ปรากฏว่าบริษัทฯ มีสิทธิได้รับคืนภาษี บริษัทฯ มีสิทธิขอคืนภาษีโดยใช้แบบแสดงรายการ
ภาษี ภ.พ.30 เพิ่มเติมดังกล่าวเป็นคำร้องขอคืนภาษีได้ ภายใน 3 ปี นับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่น
แบบแสดงรายการภาษีสำหรับเดือนภาษีนั้นตามมาตรา 84/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร
2. กรณีที่บริษัทฯ ไม่ได้นำยอดขาย ภาษีขาย ยอดซื้อ ภาษีซื้อของสาขาที่ 2 มายื่น
แบบแสดงรายการภาษี ภ.พ.30 รวมกับสำนักงานใหญ่แต่ได้นำไปแยกยื่นแบบ ภ.พ.30 ของสาขาที่ 2
ต่างหาก ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2544 ถึงเดือนธันวาคม 2544 ซึ่งไม่ถูกต้องตามที่กล่าวใน 1. และ 2.
นั้น บริษัทฯ ไม่มีสิทธินำเครดิตภาษีของสาขาที่ 2 ที่ได้ยื่นแบบ ภ.พ.30 ต่างหากมาใช้เป็นเครดิตภาษี
ของสำนักงานใหญ่ได้
เลขตู้: 67/32963


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020