เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/9067
วันที่: 17 กันยายน 2544
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการหักค่าใช้จ่ายผลขาดทุนจากเงินลงทุน ราย บริษัท ท.จำกัด
ข้อกฎหมาย: มาตรา 133 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483, มาตรา 1247 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์, มาตรา 65 ตรี (12) และ (13)
ข้อหารือ: สำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ ได้แจ้งผลการตอบข้อหารือของกรมสรรพากรให้บริษัท ท. จำกัด
ทราบแล้วว่า ผลเสียหายเนื่องจากการลงทุนของบริษัทฯ ในบริษัท น. จำกัด บริษัทฯ สามารถนำมาลง
เป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่บริษัท น. ได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี ไม่ต้องห้ามตามมาตรา
65 ตรี (12) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากร ต่อมาบริษัทฯ ได้ชี้แจงและแสดงหลักฐานเพิ่มเติมว่า
บริษัท น. ที่บริษัทฯ ได้ลงทุนไปนั้นประสบภาวะขาดทุนได้เลิกกิจการ และตกเป็นบุคคลล้มละลายตาม
คำพิพากษาของศาล เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2534 และ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ปิดคดีนี้แล้วตั้งแต่วันที่
25 พฤศจิกายน 2534 ซึ่งสำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ เห็นว่า เมื่อบริษัท น. ได้ถูกศาลพิพากษาให้
ล้มละลายและมีคำสั่งให้ปิดคดีในปี พ.ศ.2534 บริษัทฯ ย่อมนำผลขาดทุนจากเงินลงทุนมาถือเป็นรายจ่าย
ในปี พ.ศ.2534 ได้
สำนักงานสรรพากรภาค เห็นว่า บริษัทฯ สามารถนำผลเสียหายจากการลงทุนในบริษัท น.
มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ศาลได้มีคำสั่งปิดคดีในปี พ.ศ.2534
ได้
แนววินิจฉัย: เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัท น. ได้จดทะเบียนเลิกบริษัทและศาลแพ่งได้มี
คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด บริษัท น. มีผลให้อำนาจการจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินและหนี้สิน บริษัท น.ของ
ผู้ชำระบัญชีไปสู่การจัดการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483
เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ดำเนินการจนไม่มีทรัพย์สินของลูกหนี้ (จำเลย)จะให้แบ่งแก่เจ้าหนี้ในคดี
จนศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาให้บริษัท น. ล้มละลาย เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2534 และศาลแพ่งได้มีคำสั่ง
อนุญาตให้ปิดคดีนี้แล้วตามมาตรา 133 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ตั้งแต่ วันที่ 25
พฤศจิกายน 2534 การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินและ หนี้สินของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามกฎหมาย
ล้มละลายดังกล่าว จึงถือเป็นการชำระบัญชีบริษัทจำกัดซึ่งล้มละลายนั้นแล้ว ทั้งนี้ ตามมาตรา 1247 แห่ง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น หากบริษัทฯ ไม่ได้รับการคืนเงินตามมูลค่าหุ้นที่ลงทุนไป และ
บริษัทฯ มีหลักฐานที่เชื่อถือได้ เพื่อแสดงว่าบริษัทฯ ได้รับความเสียหายเนื่องจากการลงทุนของบริษัทฯ
จริง บริษัทฯ สามารถนำผลเสียหายนั้นมาลงเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่ศาลแพ่งมีคำสั่งอนุญาต
ให้ปิดคดีได้ ไม่เป็นการต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (12) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากร แต่หาก
ภายหลังบริษัทฯ ได้รับชำระเงินค่าหุ้นคืน ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนในรอบระยะเวลาบัญชีใด ก็ให้นำเงิน
ที่ได้รับชำระนั้นลงเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นด้วย
เลขตู้: 64/30922

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020