เลขที่หนังสือ | : กค 0811/7748 |
วันที่ | : 6 สิงหาคม 2544 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีกลุ่มบริษัทต่างประเทศทำสัญญาในโครงการระบบบริหารจัดการการจ่ายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 39, อนุสัญญาภาษีซ้อนระหว่างประเทศไทยกับประเทศแคนาดา,มาตรา 76 ทวิ, มาตรา 69 ทวิ |
ข้อหารือ | : บริษัทฯ หารือเกี่ยวกับภาระภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีที่ P and G ทำสัญญาในโครงการพัฒนา ระบบบริหารจัดการการจ่ายไฟฟ้า (Distribution Automation and Reliability Improvement Project) สรุปข้อเท็จจริงได้ ดังนี้ 1. P and G ประกอบด้วยบริษัท P และบริษัท G ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศแคนาดา และไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย 2. Consortium ได้เข้าทำสัญญา (สัญญาเลขที่ DDC.1-4/2000) เพื่อปรับปรุงระบบ บริหารจัดการการจ่ายไฟฟ้า (Distribution Automation and Reliability Improvement Project) (สัญญาฯ) กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (การไฟฟ้าฯ) ซึ่งในโครงการดังกล่าว ประกอบด้วย งาน 4 ส่วน ดังต่อไปนี้ 2.1 ส่วนที่ 1 ได้แก่ ระบบคอมพิวเตอร์ที่ทำหน้าที่บริหารจัดการการจ่ายไฟฟ้า (The Distribution Management System (DMS) Computer Systems) สำหรับศูนย์ควบคุม จำนวน 6 แห่ง ซึ่งจะทำให้การไฟฟ้าฯ สามารถติดตามและควบคุมระบบการจ่ายไฟฟ้าจากระยะไกล 2.2 ส่วนที่ 2 ได้แก่ อุปกรณ์ภาคสนาม (The Field Devices) ซึ่งทำให้ระบบ บริหารจัดการการจ่ายไฟฟ้าสามารถติดตามและควบคุมอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ได้ติดตั้งไว้ที่สถานีไฟฟ้าย่อย และ ที่วงจรที่มีแรงดันไฟฟ้าระดับกลาง 2.3 ส่วนที่ 3 ได้แก่ อุปกรณ์การสื่อสารระบบความถี่ยูเอชเอฟ (The UHF Communication equipment) ซึ่งจะจัดให้มีระบบการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ภาคสนามกับศูนย์ควบคุม 2.4 ส่วนที่ 4 ได้แก่ การออกแบบในรายละเอียดและการก่อสร้างอาคารศูนย์ ควบคุมแห่งใหม่จำนวน 6 แห่ง 3. ตาม Consortium Agreement ระหว่างบริษัททั้งสอง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาฯ ได้กำหนดแบ่งแยกงานและค่าตอบแทนของบริษัททั้งสองไว้อย่างชัดเจน ดังนี้ 3.1 ในส่วนของบริษัท P บริษัท P มีหน้าที่รับผิดชอบงานในส่วนที่ 1 ของสัญญาฯ ซึ่งได้แก่ การ ออกแบบ จัดหา ติดตั้งและทดสอบระบบคอมพิวเตอร์ที่ทำหน้าที่บริหารจัดการการจ่ายไฟฟ้า โดยในการ ดำเนินงานในส่วนที่ 1 ดังกล่าว บริษัท P จะไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย แต่อย่างใด และบริษัท P จะได้รับค่าตอบแทน ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้ - ส่วนที่เป็นเงินตราต่างประเทศ จำนวน 39,336,972.66 เหรียญ แคนาดา สำหรับการจัดหาอุปกรณ์จากต่างประเทศ - ส่วนที่เป็นเงินตราไทย จำนวน 47,881,128.00 บาท สำหรับการ จัดหาอุปกรณ์ในประเทศไทย (578,690.00 บาท) การขนส่งภายในประเทศ (1,350,439.00 บาท) และการติดตั้งระบบในประเทศ (45,951,999.00 บาท) 3.2 ในส่วนของบริษัท G บริษัท G มีหน้าที่รับผิดชอบงานในส่วนที่ 2 ซึ่งได้แก่ การออกแบบ จัดหา ติดตั้งและทดสอบอุปกรณ์ภาคสนาม ส่วนที่ 3 ซึ่งได้แก่การจัดหาอุปกรณ์การสื่อสาร และส่วนที่ 4 ซึ่งได้แก่ การออกแบบและก่อสร้างอาคารศูนย์ควบคุม 6 แห่ง โดยในการดำเนินงานตามสัญญาดังกล่าว บริษัท G จะดำเนินงานผ่านทางสถานประกอบการถาวรของบริษัท G ในประเทศไทยและบริษัท G จะได้ รับค่าตอบแทน ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้ - ส่วนที่เป็นเงินตราต่างประเทศ จำนวน 5,500.50 เหรียญแคนาดา 11,608,589.02 เหรียญสหรัฐ และ 9,070,915.20 ปอนด์ สำหรับการจัดหาอุปกรณ์จากต่างประเทศ - ส่วนที่เป็นเงินตราไทย จำนวน 795,120,211.00 บาท สำหรับ การจัดหา เครื่องจักรและอุปกรณ์ภายในประเทศไทย (201,726,869.00 บาท) การขนส่งภายใน ประเทศ (10,760,160.00 บาท) และการติดตั้งในประเทศ (582,633,182.00 บาท) ทั้งนี้ ในการดำเนินงานตามสัญญาฯ บริษัททั้งสองจะไม่มีการเข้าร่วมทุน กัน ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน แรงงาน หรือเทคโนโลยี และไม่มีการร่วมกันในผลกำไรหรือขาดทุนแต่ อย่างใด 4. บริษัทฯ ได้หารือว่า บริษัท P และบริษัท G จะมีภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลตามสัญญาฯ ใน ประเทศไทยหรือไม่ อย่างไร |
แนววินิจฉัย | : เนื่องจากตามสัญญาฯ ได้มีการแบ่งแยกงานและค่าตอบแทนของบริษัททั้งสองไว้อย่างชัดเจน และโดยที่บริษัททั้งสอง มิได้เข้าร่วมทุนกัน และมิได้ร่วมกันในผลกำไรหรือขาดทุนตามสัญญาฯ แต่อย่างใด ดังนั้น การเข้าร่วมกันทำสัญญาฯ ของบริษัททั้งสอง จึงไม่เข้าลักษณะเป็น กิจการร่วมค้า ตามบทนิยาม คำว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร และจึงมีผลให้บริษัท ทั้งสอง ต้องแยกกันเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในส่วนของตน ซึ่งแยกพิจารณาภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลของ แต่ละบริษัทได้ ดังนี้ (1) ในส่วนของบริษัท P เนื่องจากเงินได้จากการออกแบบ จัดหา ติดตั้ง และทดสอบระบบคอมพิวเตอร์ที่ทำหน้าที่ บริหารจัดการการจ่ายไฟฟ้าตามข้อเท็จจริงข้างต้น เข้าลักษณะเป็นกำไรจากธุรกิจ ดังนั้น หากบริษัท P มิได้ดำเนินงานดังกล่าวโดยผ่านทางสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย บริษัท P จะไม่มีหน้าที่ต้อง เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทยจากการดำเนินงานตามสัญญาฯ ทั้งนี้ ตามข้อ 7 วรรคหนึ่งแห่ง อนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศแคนาดาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน และมาตรา 3 แห่ง พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2505 ฉะนั้น เมื่อการไฟฟ้าฯ จ่ายค่าตอบแทนตามสัญญาฯ ให้กับ บริษัท P การไฟฟ้าฯ ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่ายแต่อย่างใด (2) ในส่วนของบริษัท G เนื่องจากเงินได้จากการดำเนินงานในส่วนที่ 2 ส่วนที่ 3 และส่วนที่ 4 ของสัญญาฯ เข้า ลักษณะเป็นกำไรจากธุรกิจ แต่โดยที่บริษัท G ดำเนินงานดังกล่าวโดยผ่านทางสถานประกอบการถาวรใน ประเทศไทย ดังนั้น บริษัท G จึงมีหน้าที่ต้องนำค่าตอบแทนตามสัญญาฯ มารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสีย ภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทยตามมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 7 วรรคหนึ่ง แห่ง อนุสัญญาดังกล่าว และเมื่อการไฟฟ้าฯ จ่ายค่าตอบแทนตามสัญญาฯ ให้กับบริษัท G การไฟฟ้าฯ มีหน้าที่หัก ภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 1 ตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 64/30754 |