เลขที่หนังสือ | : กค 0811/1778 |
วันที่ | : 27 กุมภาพันธ์ 2544 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการขอคืนเงินค่าปรับอาญา |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 35 |
ข้อหารือ | : ห้างฯ ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.51) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2542 ในวันที่ 30 สิงหาคม 2542 ต่อมาเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2543 ห้างฯ ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 เพิ่มเติม ครั้งที่ 1 แต่เจ้าหน้าที่สำคัญผิดว่า ห้างฯ มิได้ยื่น ภ.ง.ด.51 ภายในกำหนดเวลา เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 17 แห่งประมวลรัษฎากร มีความผิดตามมาตรา 35 แห่ง ประมวลรัษฎากร จึงดำเนินการเปรียบเทียบตามมาตรา 3 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร เป็นเงิน 2,000 บาท ซึ่งห้างฯ ยินยอมชำระค่าปรับโดยมิได้โต้แย้งแต่อย่างใด ต่อมาเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2543 ห้างฯ ได้ยื่นร้องขอคืนเงินภาษีอากร (ค.10) โดยอ้างว่า ได้นำส่งภาษีไว้ผิดหรือซ้ำ จังหวัดฯ เห็นว่า การ เปรียบเทียบปรับดังกล่าว หากผู้ต้องหายินยอมชำระค่าปรับแล้วผู้ต้องหามิต้องถูกดำเนินคดีในความผิดนั้น และความผิดดังกล่าวเป็นอันเลิกกันและเป็นอันเสร็จเด็ดขาดตามมาตรา 37 และมาตรา 38 แห่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา รวมทั้งกรณีดังกล่าวมิได้เป็นการขอคืนตามมาตรา 27 ตรี แห่ง ประมวลรัษฎากร อีกทั้งไม่มีระเบียบใดให้คืนได้จึงไม่อาจพิจารณาให้คืนตามคำร้องได้ สำนักงาน สรรพากรภาคฯ มีความเห็นว่า การที่เจ้าหน้าที่สำคัญผิดว่า ห้างฯ มิได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ภายใน กำหนดเวลา และได้ดำเนินการเปรียบเทียบโดยกำหนดค่าปรับแก่ห้างฯ ซึ่งห้างฯ ได้ยินยอมชำระค่าปรับ โดยมิได้โต้แย้งใด ๆ นั้น เงินค่าปรับอาญาดังกล่าว เป็นทรัพย์ที่กรมสรรพากรได้มาโดยปราศจากมูลอัน จะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้ห้างฯ ต้องเสียเปรียบ ถือเป็นลาภมิควรได้ตามมาตรา 406 แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อห้างฯ ได้ยื่นคำร้องขอคืนเงินค่าปรับอาญากรณีดังกล่าว กรมสรรพากรจึงต้องคืนเงินค่าปรับอาญาจำนวนดังกล่าวแก่ห้างฯ ตามระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการ คืนเงินภาษีอากร พ.ศ. 2539 |
แนววินิจฉัย | : ห้างฯ ได้ชำระค่าปรับอาญาตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากเจ้าหน้าที่ สำคัญผิดว่า ห้างฯ ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 เกินกำหนดเวลา แต่ห้างฯ ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 เพิ่มเติมจาก ฉบับแรก ที่ได้ยื่นภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด การยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 เพิ่มเติมดังกล่าว จึงไม่อยู่ใน บังคับต้องชำระค่าปรับอาญาแต่อย่างใด การที่เจ้าหน้าที่เปรียบเทียบปรับและเรียกเก็บค่าปรับอาญาจาก ห้างฯ ไปแล้ว ถือเป็นลาภมิควรได้ตามมาตรา 406 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น เมื่อ ห้างฯ ได้ยื่นคำร้อง ค.10 ขอคืนเงินค่าปรับอาญากรณีดังกล่าว กรมสรรพากรจึงต้องคืนเงินค่าปรับอาญา นั้นให้แก่ห้างฯ |
เลขตู้ | : 64/30219 |