เมนูปิด

          1. เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2560 นาย อ. ได้ซื้อที่ดินที่มีชื่อ บริษัท ส. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ จากการขายทอดตลาดของกรมบังคับคดีตามคำสั่งศาล จำนวนเงิน 82,190,000 บาท โดยนาย อ. ได้ชำระค่าซื้อที่ดินกับกรมบังคับคดี พร้อมทั้งชำระค่าอากรแสตมป์ จำนวนเงิน 410,950 บาท และได้ทำนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าว ณ สำนักงานที่ดิน ชำระค่าธรรมเนียมการโอน จำนวน 2,284,390 บาท ภาษีเงินได้นิติบุคคล จำนวน 1,142,195 บาท ภาษีธุรกิจเฉพาะ จำนวน 3,426,585 บาท รายได้ส่วนท้องถิ่น จำนวน 342,658 บาท


          2.นาย อ. เห็นว่า การเก็บอากรแสตมป์ และภาษีธุรกิจเฉพาะดังกล่าวเป็นการซ้ำซ้อนระหว่างสองหน่วยงาน คือ เสียค่าอากรแสตมป์ จำนวน 410,950 บาท ตามการขายทอดตลาดของกรมบังคับคดี และต้องเสียค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ จำนวน 3,426,585 บาท ของกรมที่ดิน ซึ่งเมื่อชำระค่าภาษีธุรกิจเฉพาะแล้วไม่ควรต้องชำระค่าอากรแสตมป์อีก

          1.การขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่มีชื่อบริษัท ส. ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ และเป็นที่ดินที่มีไว้ในการประกอบกิจการ เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/2 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4 (5) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) โดยใบรับสำหรับจำนวนเงินที่ผู้รับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียอากรแสตมป์ ตามลักษณะแห่งตราสาร 28. ใบรับ แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์


          2.ดังนั้น เมื่อนาย อ. เป็นผู้ชำระค่าอากรแสตมป์ตามข้อสัญญาท้ายประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีฯ ซึ่งได้กำหนดให้ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาด เป็นผู้มีหน้าที่เสียค่าธรรมเนียมการโอน ภาษีอากรต่าง ๆ และค่าอากรตามประมวลรัษฎากร นาย อ. จึงมีสิทธิขอคืนเงินค่าอากรแสตมป์ที่ได้เสียไปโดยไม่มีหน้าที่ต้องเสีย

เลขที่หนังสือ: 0702/6060 วันที่: 10 กันยายน 2562 เรื่อง: อากรแสตมป์ กรณีการขอคืนเงินค่าอากรแสตมป์จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี ข้อกฎหมาย : มาตรา 91/2 แห่งประมวลรัษฎากร มาตรา 4 (5) พระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 342 ข้อหารือแนววินิจฉัยเลขตู้: 82/40882

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020