เมนูปิด

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร 

 

เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 162)

เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ  เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันสุขภาพบิดามารดาของผู้มีเงินได้ รวมทั้งบิดามารดาของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้

 

_______________

 

                       อาศัยอำนาจตามความในข้อ 2 (76) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 263 (พ.ศ. 2549) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันสุขภาพบิดามารดาของผู้มีเงินได้ รวมทั้งบิดามารดาของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ ดังต่อไปนี้

                            ข้อ 1  การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันสุขภาพ ให้แก่บริษัทประกันชีวิตหรือบริษัทประกันวินาศภัยที่ประกอบกิจการในราชอาณาจักร เพื่อเอาประกันภัยสำหรับบิดามารดาของผู้มีเงินได้ รวมทั้งบิดามารดาของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ ตามจำนวนเบี้ยประกันภัยที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินหนึ่งหมื่นห้าพันบาท ในปีภาษีนั้น ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

                                    (1) ต้องเป็นการทำประกันสุขภาพให้กับบิดามารดาของผู้มีเงินได้ รวมทั้งบิดามารดาของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ ซึ่งบิดาหรือมารดาดังกล่าวแต่ละคนมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ขอยกเว้นภาษีเงินได้ไม่เกินสามหมื่นบาท

                                    (2) ผู้มีเงินได้หรือสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้จะต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดามารดาที่ผู้มีเงินได้ใช้สิทธิขอยกเว้นภาษีเงินได้จากการทำประกันสุขภาพสำหรับบิดามารดาดังกล่าว

                                    (3) ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้กรณีการทำประกันสุขภาพสำหรับบิดามารดาดังกล่าวตลอดปีภาษี ไม่ว่ากรณีที่จะได้รับยกเว้นภาษีนั้นจะมีอยู่ตลอดปีภาษีหรือไม่
                                    (4) กรณีผู้มีเงินได้หลายคนร่วมกันทำประกันสุขภาพสำหรับบิดามารดาดังกล่าว ให้ผู้มีเงินได้ทุกคนได้รับยกเว้นภาษีเงินได้โดยเฉลี่ยเบี้ยประกันภัยที่ผู้มีเงินได้ร่วมกันจ่ายจริงแต่ไม่เกินหนึ่งหมื่นห้าพันบาท ตามส่วนจำนวนผู้มีเงินได้

                                    (5) กรณีสามีหรือภริยามีเงินได้ฝ่ายเดียว ให้สามีหรือภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามจำนวนเบี้ยประกันภัยที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินหนึ่งหมื่นห้าพันบาท

                                     (6) กรณีสามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้

                                          (ก) ถ้าต่างฝ่ายต่างยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินที่ตนได้รับในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วตามวรรคหนึ่งของมาตรา 57 ฉ แห่งประมวลรัษฎากร ให้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินหนึ่งหมื่นห้าพันบาท

                                          (ข) ถ้าต่างฝ่ายต่างยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินเฉพาะส่วนที่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยไม่ถือเป็นเงินได้ของอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 57 ฉ แห่งประมวลรัษฎากร ให้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินหนึ่งหมื่นห้าพันบาท

                                          (ค) ถ้าสามีภริยาตกลงยื่นรายการและเสียภาษีรวมกัน โดยถือเอาเงินได้พึงประเมินของตนเป็นเงินได้ของสามีหรือภริยาอีกฝ่ายหนึ่งตามวรรคสามของมาตรา 57 ฉ แห่งประมวลรัษฎากร ให้ผู้มีเงินได้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง เฉพาะส่วนที่ไม่เกินหนึ่งหมื่นห้าพันบาท และได้รับยกเว้นภาษีส่วนของสามีหรือภริยาได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินหนึ่งหมื่นห้าพันบาท”

     (แก้ไขโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 234)ฯ ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 เป็นต้นไป)

                                     (7) กรณีผู้มีเงินได้มิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เฉพาะการทำประกันภัยสำหรับบิดามารดาที่อยู่ในประเทศไทย

                            ข้อ 2   การประกันสุขภาพตามข้อ 1 ให้หมายถึง

                                     (1) การประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลอันเกิดจากการเจ็บป่วยและการบาดเจ็บ การชดเชยการทุพพลภาพและการสูญเสียอวัยวะ เนื่องจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ

                                     (2) การประกันภัยอุบัติเหตุเฉพาะที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะ และการแตกหักของกระดูก

                                     (3) การประกันภัยโรคร้ายแรง (Critical Illnesses)

                                     (4) การประกันภัยการดูแลระยะยาว (Long Term Care)

                             "ข้อ 3  ผู้มีเงินได้ต้องแจ้งความประสงค์ที่จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ต่อบริษัทประกันชีวิตหรือบริษัทประกันวินาศภัยที่ได้เอาประกันไว้ ทั้งนี้ สำหรับการใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตั้งแต่ปีภาษี 2563 เป็นต้นไป

                               สำหรับในปีภาษี 2562 การใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ ผู้มีเงินได้ต้องมีใบเสร็จรับเงินหรือหนังสือรับรองจากบริษัทประกันชีวิตหรือบริษัทประกันวินาศภัย ซึ่งต้องมีข้อความอย่างน้อยดังต่อไปนี้

                                     (1) ชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวประชาชนของผู้เอาประกันภัย

                                     (2) ชื่อ และนามสกุลของผู้จ่ายเบี้ยประกันภัย (ทุกคน)

                                     (3) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้รับประกันภัย

                                     (4) จำนวนเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันสุขภาพตามข้อ 2

                                     (5) จำนวนเงินที่มีสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้”

     (แก้ไขโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 360)ฯ ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปี พ.ศ. 2562 ที่จะต้องยื่นรายการใน พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป)

                                  “ข้อ 3/1  บริษัทประกันชีวิตหรือบริษัทประกันวินาศภัยที่ได้รับแจ้งความประสงค์ตามข้อ 3 วรรคหนึ่ง ต้องส่งข้อมูลของผู้เอาประกันต่อกองเทคโนโลยีสารสนเทศ กรมสรรพากร โดยจัดทำขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามรูปแบบและนำส่งตามวิธีการที่กำหนดบนเว็บไซต์ของกรมสรรพากร www.rd.go.th

                                   การแจ้งและการส่งข้อมูลตามวรรคหนึ่ง ให้แจ้งภายในวันที่ 7 มกราคมของปีถัดไป เว้นแต่อธิบดีจะกำหนดเป็นอย่างอื่น”

(แก้ไขโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 360)ฯ ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปี พ.ศ. 2562 ที่จะต้องยื่นรายการใน พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป)

                                   “กรณีบริษัทประกันชีวิตหรือบริษัทประกันวินาศภัยได้แจ้งและส่งข้อมูลตามวรรคสองแล้ว แต่มีความประสงค์จะขอแก้ไข ยกเลิก หรือเพิ่มเติมข้อมูลดังกล่าวนั้น ให้บริษัทประกันชีวิตหรือบริษัทประกันวินาศภัยแจ้งและส่งข้อมูลผ่านระบบรับข้อมูลเบี้ยประกันภัยเกินกำหนดเวลาบนเว็บไซต์ของกรมสรรพากร www.rd.go.th

(แก้ไขโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 384)ฯ ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปี พ.ศ. 2563 ที่จะต้องยื่นรายการใน พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป)

                             ข้อ 4  การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามประกาศนี้ ให้ผู้มีเงินได้นำเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ไปคำนวณหักจากเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อได้หักค่าใช้จ่ายตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว

                             ข้อ 5   ในกรณีมีปัญหาในทางปฏิบัติ ให้อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจวินิจฉัยและคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมสรรพากรให้ถือเป็นหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดตามประกาศนี้ด้วย

                             ข้อ 6 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2549 เป็นต้นไป


   

                                                                              ประกาศ  ณ  วันที่ 26 ธันวาคม  พ.ศ. 2549

 

                                                                                                พิชาติ  เกษเรือง

                                                                                             (นายพิชาติ  เกษเรือง)

                                                                                         รองอธิบดี  รักษาราชการแทน

                                                                                               อธิบดีกรมสรรพากร

                                                                   

 

ปรับปรุงล่าสุด: 08-05-2023