เมนูปิด

เลขที่หนังสือ :   กค 0702/1112
วันที่ :   21 กุมภาพันธ์ 2567
เรื่อง :   การควบรวมบริษัทตามมาตรา 1238 (2) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ข้อกฎหมาย :   มาตรา 73 มาตรา 74 (1) (ข) และ (ค) มาตรา 77/1 (8) (ฉ) มาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร มาตรา 5 สัตตรส มาตรา 5 โสฬส มาตรา 6 (31) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 และมาตรา 1238 (2) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ข้อหารือ :   1. บริษัท ก. มีแนวทางที่จะดำเนินการควบรวมบริษัทเข้ากับบริษัทอื่น ๆ ในกลุ่มบริษัทที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย บริษัท ก. จะใช้วิธีการควบรวมบริษัท โดยบริษัท ก. ยังคงมีสภาพเป็นนิติบุคคล และบริษัทอื่นที่ควบรวมกันจะหมดสภาพจากการเป็นนิติบุคคลภายหลังจากการควบรวมบริษัทดังกล่าว อันเป็นไปตามวิธีการควบรวมบริษัทจำกัดตามมาตรา 1238 (2) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขใหม่ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2565 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป
    2. เนื่องจากการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้มีการเพิ่มลักษณะการควบรวมบริษัทอีกรูปแบบหนึ่งคือ การควบรวมกันโดยบริษัทหนึ่งบริษัทใดยังคงมีสภาพเป็นนิติบุคคลและบริษัทอื่น ที่ควบรวมกันหมดสภาพจากการเป็นนิติบุคคล การเพิ่มเติมรูปแบบการควบรวมบริษัทดังกล่าวบัญญัติไว้ในมาตรา 1238 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่นเดียวกับการควบรวมกันโดยเป็นบริษัทขึ้นใหม่ และบริษัทที่มาควบรวมกันต่างหมดสภาพการเป็นนิติบุคคล นอกจากนี้ วัตถุประสงค์ในการควบรวมบริษัท ทั้งสองลักษณะยังไม่มีความแตกต่างกัน คือเป็นการรวมกิจการของบริษัทตั้งแต่สองบริษัทขึ้นไปเข้าด้วยกัน จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น บริษัท ก. ขอหารือว่า การควบรวมกันโดยบริษัทหนึ่งบริษัทใดยังคงมีสภาพ เป็นนิติบุคคล และบริษัทอื่นที่ควบรวมกันหมดสภาพจากการเป็นนิติบุคคลยังคงมีผลทางภาษีเช่นเดียวกับ การควบรวมกันโดยเป็นบริษัทขึ้นใหม่หรือไม่ และมีภาระภาษีหรือไม่
แนววินิจฉัย :   1. บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับการควบเข้ากันของบริษัทมหาชนจำกัด หรือบริษัทจำกัดมีกำหนดไว้ตามมาตรา 73 และมาตรา 74 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งกรณีการควบรวมกันโดยเป็นบริษัทขึ้นใหม่ตามมาตรา 1238 (1) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นั้น บทบัญญัติ ตามมาตรา 73 แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดว่าเพื่อประโยชน์ในการคำนวณภาษีให้ถือว่าแต่ละบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งควบเข้ากันนั้นได้เลิกกัน และให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใหม่อันได้ควบเข้ากันมีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษีแทนแต่ละบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งให้ถือว่าเลิกกัน ส่วนการควบรวมบริษัทจำกัดตามมาตรา 1238 (2) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยบริษัทหนึ่งบริษัทใดยังคงมีสภาพนิติบุคคล และบริษัทอื่นที่ควบรวมกันหมดสภาพจากการเป็นนิติบุคคล ซึ่งไม่มีการจดทะเบียนตั้งขึ้นเป็นนิติบุคคลใหม่นั้น ไม่เข้าลักษณะการควบเข้ากันของบริษัทจำกัดตามมาตรา 73 แห่งประมวลรัษฎากร แต่เข้าลักษณะเป็นการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันตามมาตรา 74 (1) (ค) แห่งประมวลรัษฎากร โดยบริษัท ที่หมดสภาพจากการเป็นนิติบุคคลเป็นผู้โอนกิจการ และบริษัทที่ยังคงมีสภาพนิติบุคคลเป็นผู้รับโอนกิจการ
    2. กรณีการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันจะมีภาระภาษีดังนี้
        2.1 ภาษีเงินได้นิติบุคคล
            การคำนวณกำไรหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับกรณีการโอนกิจการระหว่างบริษัทด้วยกัน โดยบริษัทผู้โอนกิจการได้จดทะเบียนเลิกและมีการชำระบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชี ที่โอนกิจการนั้นตามมาตรา 74 (1) (ค) แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้ตีราคาทรัพย์สินตามราคาตลาด ในวันที่จดทะเบียนเลิก และกำหนดให้นำความตามมาตรา 74 (1) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร มาใช้บังคับ โดยอนุโลม ซึ่งมาตรา 74 (1) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดไม่ให้ถือว่าราคาทรัพย์สินที่ตีตามราคาตลาดในวันที่จดทะเบียนเลิกเป็นรายได้หรือรายจ่ายในการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิของบริษัทเดิมที่ได้โอนกิจการไป ส่วนบริษัทที่ได้รับโอนกิจการนั้น ให้ถือราคาทรัพย์สินที่ได้รับโอนมาตามราคาที่ปรากฏในบัญชีของบริษัทเดิม ในวันที่รับโอนกิจการเพื่อประโยชน์ในการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิจนกว่าจะมีการจำหน่ายทรัพย์สินนั้นไปทรัพย์สินรายการใดมีสิทธิหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาก็ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเดิมใช้อยู่เพียงเท่าที่ระยะเวลาและมูลค่าต้นทุนที่เหลืออยู่สำหรับทรัพย์สินนั้นเท่านั้น และห้ามมิให้นำผลขาดทุนสุทธิ ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเดิมมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ
            สำหรับในส่วนของผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะมีสิทธิได้รับยกเว้น ภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 5 สัตตรส แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 สำหรับผลประโยชน์ที่ได้รับจากการที่ผู้ประกอบกิจการซึ่งเป็นบริษัทโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน โดยโอนหุ้นเพื่อแลกกับหุ้นในบริษัทผู้รับโอนกิจการทั้งหมด ทั้งนี้ เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุน โดยไม่รวมกำไรและเงินที่กันไว้จากกำไรที่เกิดขึ้นก่อนการโอนกิจการแต่อย่างใด และการโอนหุ้นนั้นได้กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกันกับการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน และการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันต้องเป็นไปตามประกาศ อธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการควบเข้ากัน หรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันของบริษัทมหาชนจำกัด หรือบริษัทจำกัดเพื่อยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2555
        2.2 ภาษีมูลค่าเพิ่ม
            กรณีการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน สินค้าคงเหลือและหรือทรัพย์สินที่ผู้ประกอบการมีไว้ ในการประกอบกิจการ ณ วันเลิกประกอบกิจการ ไม่เข้าลักษณะเป็นการขายตามมาตรา 77/1 (8) (ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ บริษัทผู้รับโอนกิจการต้องอยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร
        2.3 ภาษีธุรกิจเฉพาะ
            กรณีการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน โดยบริษัทผู้โอนกิจการจดทะเบียนเลิกและมีการชำระบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีที่โอนกิจการนั้น จะได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการ เฉพาะการโอนอสังหาริมทรัพย์อันเนื่องมาจากการที่ ผู้ประกอบกิจการ ซึ่งเป็นบริษัทจำกัดโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันตามมาตรา 5 โสฬส แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500
        2.4 อากรแสตมป์
            กรณีการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน โดยบริษัทผู้โอนกิจการจดทะเบียนเลิกและมีการชำระบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีที่โอนกิจการนั้น จะได้รับยกเว้นอากรแสตมป์ตามมาตรา 6 (31) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500

 

ปรับปรุงล่าสุด: 18-03-2024