เมนูปิด

เลขที่หนังสือ :   กค 0702/3889
วันที่ :   23 มิถุนายน 2565
เรื่อง :   ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณียกที่ดินสินสมรสให้บุตร
ข้อกฎหมาย :   มาตรา 39 มาตรา 41 ทวิ มาตรา 42 (26) มาตรา 50 (6) มาตรา 52 มาตรา 56 มาตรา 57 ฉ แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ :   นาย ก. และนาง ข. ได้จดทะเบียนสมรสเมื่อปี พ.ศ. 2519 ต่อมา ได้ร่วมกันซื้อที่ดินรวม 3 แปลง และได้ยกที่ดินเฉพาะส่วนของตนทั้ง 3 แปลง ให้กับนางสาว ค. ซึ่งเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายปรากฏตามหนังสือสัญญาให้เฉพาะส่วนรวมสามโฉนด (ท.ด.14 ข) ในการทำสัญญาให้ที่ดินดังกล่าว ซึ่งนาย ก. และนาง ข. ผู้ให้ร่วม ได้ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและอากรแสตมป์ครบถ้วนแล้ว แต่ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น สำนักงานที่ดิน ได้แจ้งว่าได้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 42 (26) แห่งประมวลรัษฎากร เพียงจำนวนยี่สิบล้านบาท นาย ก. และนาง ข. ขอทราบว่า
    1. นาย ก. และนาง ข. ได้นำเงินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน โดยไม่อาจแยกได้ว่าส่วนไหนเป็นเงินส่วนตัวของนาย ก. และนาง ข. ที่แต่ละคนทำมาหาได้ภายหลังการสมรสมาซื้อที่ดินทั้ง 3 แปลงดังกล่าว ที่ดินทั้ง 3 แปลงย่อมเป็นสินสมรส ตามมาตรา 1474 (1) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่นาย ก. และนาง ข. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันและมีส่วนเท่ากัน ตามมาตรา 1375 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น ทรัพย์สินอันเป็นสินสมรสก็ถือว่าต่างฝ่ายมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมกันคนละกึ่งหนึ่งเช่นกัน ถูกต้องหรือไม่ อย่างไร
    2. เมื่อนาย ก. และนาง ข. ได้ยกที่ดินดังกล่าวให้แก่นางสาว ค. บุตรชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งการยกให้นั้น กรมสรรพากรถือว่าเป็นการขาย ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น ผู้ยกให้ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ จึงถือว่าเป็นผู้มีเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร โดยมีหน้าที่ต้องนำราคาอสังหาริมทรัพย์ตามราคาประเมินฯ มารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และถือว่านาย ก. และนาง ข. ต่างฝ่ายต่างมีเงินได้และแต่ละฝ่ายได้รับเงินได้พึงประเมินคนละส่วนเท่ากัน และสามารถแบ่งแยกได้อย่างชัดแจ้ง เพราะฉะนั้น นาย ก. และนาง ข. จึงต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการยกให้ที่ดินดังกล่าว ตามมาตรา 57 ฉ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร ถูกต้องหรือไม่
    3. เมื่อต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ละฝ่ายจึงมีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 42 (26) แห่งประมวลรัษฎากร ในส่วนที่ไม่เกินยี่สิบล้านบาท มิใช่ได้รับยกเว้นเพียงยี่สิบล้านบาท ตามการคำนวณของสำนักงานที่ดินฯ ถูกต้องหรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย:   1. กรณีนาย ก. และนางข. ได้จดทะเบียนสมรสเมื่อปี พ.ศ. 2519 เป็นสามีและภริยาชอบด้วยกฎหมาย ต่อมา ได้ร่วมกันซื้อที่ดิน รวมจำนวน 3 แปลง ที่ดินทั้ง 3 แปลงดังกล่าวจึงถือเป็นสินสมรส นาย ก. และนาง ข. ย่อมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันและมีส่วนเท่ากัน ตามมาตรา 1474 (1) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
    2. กรณีนาย ก. และนาง ข. ยกที่ดินซึ่งเป็นสินสมรสให้แก่นางสาว ค. บุตรชอบด้วยกฎหมาย กรณีดังกล่าวถือเป็นการขายตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร นาย ก. และนาง ข. ผู้โอนจึงถือเป็นผู้มีเงินได้ตามมาตรา 41 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร โดยถือว่านาย ก. และนาง ข. ได้รับเงินได้พึงประเมินคนละส่วนเท่ากันจากการร่วมกันขายที่ดินทั้ง 3 แปลง ซึ่งมิใช่เป็นกรณีที่มีเงินได้พึงประเมินที่มิอาจแยกได้อย่างชัดแจ้งจึงต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินจากการขายที่ดินดังกล่าวเป็นจำนวนคนละกึ่งหนึ่ง ตามมาตรา 56 และมาตรา 57 ฉ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร และกรณีการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมาย ผู้โอนได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เฉพาะเงินได้ในส่วนที่ไม่เกิน 20 ล้านบาทตลอดปีภาษีนั้น และให้ผู้โอนหักภาษีไว้ในอัตราร้อยละ 5 ของเงินได้ (ราคาประเมินฯ) เฉพาะส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท ดังนั้น นาย ก. และนาง ข. แต่ละฝ่ายมีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายในส่วนที่ไม่เกิน 20 ล้านบาท ตามมาตรา 42 (26) แห่งประมวลรัษฎากร โดยนาย ก. และนาง ข. ผู้โอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้ต้องหักภาษีเงินได้เพื่อนำส่งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในขณะที่มีการจดทะเบียนตามมาตรา 52 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตราร้อยละ 5 ของราคาประเมินฯ เฉพาะในส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท ตามมาตรา 50 (6) แห่งประมวลรัษฎากร

 

ปรับปรุงล่าสุด: 24-04-2024