เมนูปิด

เลขที่หนังสือ :   กค 0702/1403
วันที่ :   10 มีนาคม 2565
เรื่อง :   ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน
ข้อกฎหมาย :   มาตรา 74 (1) (ข) และ (ค) แห่งประมวลรัษฎากรและประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ ลงวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ.2555
ข้อหารือ :   1. บริษัทผู้รับโอนได้ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นโดยที่ประชุมได้มีมติให้บริษัทผู้รับโอนรับโอนกิจการทั้งหมด จากบริษัทผู้โอนเมื่อได้รับหนังสือแจ้งการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน(แบบ ค.อ.6)จากกรมสรรพากร เพื่อให้ได้รับยกเว้นรัษฎากร
    2. เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564 บริษัทผู้โอนได้จดทะเบียนเลิกบริษัทต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทและยื่นแบบคำขอแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.09) แจ้งโอนกิจการทั้งหมดให้บริษัทผู้รับโอนโดยระบุรายการแจ้งการโอนกิจการทั้งหมด วันที่ 20 สิงหาคม 2564 ส่วนบริษัทผู้รับโอนได้ยื่นแบบแจ้งรายชื่อผู้ถือหุ้นและแบบแจ้งการเป็นลูกหนี้ค่าภาษีอากรสำหรับการควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันของบริษัทมหาชนจำกัดและหรือบริษัทจำกัดตามแบบ ค.อ.1 – ค.อ.4 เพื่อขอรับสิทธิยกเว้นภาษีอากรจากการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันต่อสรรพากรพื้นที่
    3. เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 บริษัทผู้รับโอน ยื่นแบบ ภ.พ.09 รับโอนกิจการทั้งหมดจากบริษัทผู้โอนโดยระบุ รายการแจ้งการรับโอนกิจการทั้งหมด คือ วันที่ 20 สิงหาคม 2564
    4. วันที่ 19 สิงหาคม 2564 บริษัทผู้รับโอนได้นำส่งแบบแจ้งรายการทรัพย์สินที่โอนของบริษัทผู้โอนและบริษัทผู้รับโอน ซึ่งระบุรายการทรัพย์สินและมูลค่าตามบัญชี ได้แก่ ที่ดิน ส่วนปรับปรุงที่ดิน อาคารและสิ่งปลูกสร้าง และระบบไฟฟ้า ต่อสรรพากรพื้นที่
    5. เมื่อสรรพากรพื้นที่ได้ตรวจสอบหลักฐานขอรับสิทธิยกเว้นภาษีอากรจากการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน และมีหนังสือแจ้งการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน (แบบ ค.อ.6) ไปยังกรมที่ดินเพื่อใช้ประกอบการยกเว้นภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร ต่อมาสรรพากรพื้นที่ได้ทราบว่า การโอนกิจการทั้งหมดและเพิ่มทุนของบริษัทผู้รับโอนและบริษัทผู้โอนต้องจดทะเบียนนิติกรรมโอนอสังหาริมทรัพย์ให้เสร็จและให้บริษัทผู้รับโอนนำหลักฐานมาเพิ่มทุนแล้วบริษัทผู้โอนจึงจะจดทะเบียนเลิกกิจการต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท สรรพากรพื้นที่จึงได้มีหนังสือหนังสือขอยกเลิกหนังสือแจ้งการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันไปยังกรมที่ดิน
    6. สรรพากรพื้นที่ขอหารือ ดังนี้
        (1) กรณีการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน บริษัทผู้โอนต้องโอนกิจการและทรัพย์สินทั้งหมดก่อนจดทะเบียนเลิกบริษัทต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท ใช่หรือไม่
        (2) กรณีบริษัทผู้รับโอนได้รับโอนทรัพย์สินมาจากบริษัทผู้โอน ให้บริษัทผู้รับโอนหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตั้งแต่วันที่รับโอนทางบัญชี มิใช่วันที่จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมรับโอนกรรมสิทธิ์ใช่หรือไม่
แนววินิจฉัย:   1. กรณีการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันของบริษัทมหาชนจำกัด หรือบริษัทจำกัด โดยได้มีการจดทะเบียนเลิกบริษัทต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท ก่อนจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนอสังหาริมทรัพย์ตามข้อเท็จจริงนั้น การจดทะเบียนนิติกรรมโอนอสังหาริมทรัพย์จากบริษัทผู้โอน เป็นชื่อบริษัทผู้รับโอน เป็นเพียงการจัดการทางทะเบียนที่บริษัทผู้โอนจะต้องดำเนินการให้มีผลบริบูรณ์ตามกฎหมายตามมาตรา 1299 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น หากการโอนกิจการระหว่างบริษัทผู้โอนกับบริษัทผู้รับโอนเป็นการโอนกิจการทั้งหมด โดยบริษัทผู้โอนได้จดทะเบียนเลิกและมีการชำระบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีที่โอนกิจการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ ลงวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ.2555 การโอนกิจการนั้น ถือเป็นการโอนกิจการทั้งหมดที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร
    2. กรณีบริษัทผู้รับโอนได้รับโอนกิจการทั้งหมดจากบริษัทผู้โอน บริษัทผู้รับโอนต้องถือเอาราคาของทรัพย์สินนั้นตามราคาที่ปรากฏในบัญชีของบริษัทผู้โอนเดิมในวันที่รับโอนกิจการเพื่อประโยชน์ในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ จนกว่าจะได้มีการจำหน่ายทรัพย์สินนั้นไป และมีสิทธิหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและอัตราที่บริษัทผู้โอนใช้อยู่เพียงเท่า ที่ระยะเวลาและมูลค่าต้นทุนที่เหลืออยู่สำหรับทรัพย์สินนั้นเท่านั้นและห้ามมิให้บริษัทผู้รับโอนนำผลขาดทุนสุทธิของบริษัทผู้โอนมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิตามมาตรา 74 (1) (ข) และ (ค) แห่งประมวลรัษฎากร

 

ปรับปรุงล่าสุด: 24-04-2024