เมนูปิด

คำชี้แจงกรมสรรพากร
เรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการหักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิต
--------------------------------

      ตามที่ได้มีการออกกฎหมายเพื่อเพิ่มค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตจากเดิมที่หักลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท เพิ่มเป็นไม่เกิน 50,000 บาท ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 240 (พ.ศ.2545) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 112) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการ เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันชีวิตของผู้มีเงินได้ตามข้อ 2(61) แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2545 สำหรับเบี้ยประกันชีวิตที่ได้จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2545 นั้น

      เพื่อให้การหักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตตามกฎหมายดังกล่าวในครั้งนี้เป็นที่เข้าใจโดยทั่วกัน กรมสรรพากรจึงขอชี้แจง ดังนี้

      1.  ผู้มีเงินได้ซึ่งจ่ายเบี้ยประกันชีวิตที่จะได้รับสิทธินำเบี้ยประกันชีวิตมาหักลดหย่อนภาษีได้ จะต้องเป็นการประกันชีวิตตามเงื่อนไขดังนี้

            (1)  กรมธรรม์ประกันชีวิตต้องมีกำหนดเวลาตั้งแต่สิบปีขึ้นไป และชำระเบี้ยประกันตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และ

            (2)  การประกันชีวิตนั้นได้เอาประกันชีวิตไว้กับผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในราชอาณาจักร

      2.  กรณีผู้มีเงินได้ซึ่งจ่ายเบี้ยประกันชีวิตเป็นคนโสด ผู้มีเงินได้นั้นมีสิทธินำเบี้ยประกันชีวิตมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท

      3.  กรณีผู้มีเงินได้ซึ่งจ่ายเบี้ยประกันชีวิตมีคู่สมรส และผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นสามีหรือภริยามีเงินได้ฝ่ายเดียว ให้หักลดหย่อนภาษีได้ดังนี้

            (1)  กรณีความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษี และคู่สมรสของผู้มีเงินได้มีการประกันชีวิตด้วย ผู้มีเงินได้มีสิทธินำเบี้ยประกันชีวิตของตนเองมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 50,000 บาท และมีสิทธินำเบี้ยประกันชีวิตของคู่สมรสมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท ตามมาตรา 47(1)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร

            (2)  กรณีความเป็นสามีภริยามิได้มีอยู่ตลอดปีภาษี และคู่สมรสของผู้มีเงินได้มีการประกันชีวิตด้วย ผู้มีเงินได้มีสิทธินำเบี้ยประกันชีวิตของตนเองมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 50,000 บาท แต่ไม่มีสิทธินำเบี้ยประกันชีวิตของคู่สมรสมาหักลดหย่อนภาษีได้

      4.  กรณีผู้มีเงินได้ซึ่งจ่ายเบี้ยประกันชีวิตมีคู่สมรส โดยต่างฝ่ายต่างมีเงินได้และมีการจ่ายเบี้ยประกันชีวิต ผู้มีเงินได้และคู่สมรสต่างฝ่ายต่างมีสิทธินำเบี้ยประกันชีวิตมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 50,000 บาท ทั้งนี้ สำหรับเบี้ยประกันชีวิตส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 40,000 บาท ให้ต่างฝ่ายต่างนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกินเงินได้พึงประเมินของแต่ละฝ่ายหลังจากหักค่าใช้จ่ายตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว

      5.  ในการคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีผู้จ่ายได้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) และหรือมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ผู้มีเงินได้ซึ่งต้องคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้จ่ายสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตของผู้มีเงินได้ที่ต้องจ่ายในปีภาษีซึ่งได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีได้เท่าจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท มาคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายได้ และเนื่องจากกฎหมายฉบับนี้มีผลใช้บังคับสำหรับเบี้ยประกันชีวิตที่จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2545 เป็นต้นไป แต่ประกาศใช้บังคับในวันที่ 27 กันยายน 2545 จึงมีผลทำให้การคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายสำหรับเงินได้ที่ผู้มีเงินได้ที่มีการจ่ายเบี้ยประกันชีวิตในปีภาษี 2545 ซึ่งต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตั้งแต่เดือนตุลาคม 2545 เปลี่ยนแปลงไป ผู้จ่ายเงินได้จึงมีสิทธิปรับปรุงการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เพื่อมิให้เป็นภาระของผู้มีเงินได้ในการขอคืนภาษีเงินได้สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับในปี 2545 ดังนี้

            (1)  กรณีที่ได้มีการปรับปรุงการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2545ให้ผู้จ่ายเงินได้คำนวณภาษีที่ผู้มีเงินได้พึงต้องเสียในปี 2545 ที่มีการหักลดหย่อนภาษีสำหรับเบี้ยประกันชีวิตตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายใหม่ แล้วหักด้วยภาษีที่นำส่งแล้วในช่วง 9 เดือน คือเดือนมกราคม 2545 ถึงเดือนกันยายน 2545 จำนวนภาษีที่เหลือให้เฉลี่ยและนำส่งเป็นเวลา 3 เดือนที่เหลือของปี 2545

            (2)  กรณีที่ได้มีการปรับปรุงการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน2545 ให้ผู้จ่ายเงินได้คำนวณภาษีที่ผู้มีเงินได้พึงต้องเสียในปี 2545 ที่มีการหักลดหย่อนภาษีสำหรับเบี้ยประกันชีวิตตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายใหม่ แล้วหักด้วยภาษีที่นำส่งแล้วในช่วง 10 เดือน คือเดือนมกราคม 2545 ถึงเดือนตุลาคม 2545 จำนวนภาษีที่เหลือให้เฉลี่ยและนำส่งเป็นเวลา 2 เดือนที่เหลือของปี 2545

      จึงขอชี้แจงมาเพื่อให้ทราบโดยทั่วกัน

กรมสรรพากร
19 พฤศจิกายน 2545

หน้าจอหลักบริการสารสรรพากร : : หน้าจอหลัก พ.ย. 45 : : หน้าก่อน

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 02-12-2002