เมนูปิด

 

เลขที่ข่าว   ปชส.13/2545

วันที่แถลงข่าว   28 ธันวาคม 2544

เรื่อง   มาตรการเพิ่มเติมในการให้หักค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

 

          ในปี พ.ศ. 2545 กรมสรรพากรได้มีการกำหนดมาตรการ การให้หักค่าลดหย่อนในการคำนวณภาษีบุคคลธรรมดาเพิ่มเติมจากปีที่ผ่านมา โดยแต่เดิมในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นอกจากผู้มีเงินได้จะสามารถหักค่าใช้จ่าย รวมถึงค่าลดหย่อนในลักษณะต่าง ๆ ก่อนมีการคำนวณตามอัตราภาษี การหักค่าลดหย่อนส่วนตัว คู่สมรส บุตร ค่าเบี้ยประกันชีวิต ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย เงินสมทบที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนประกันสังคม เป็นต้น

 

          นายสาธิต รังคสิริ ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี ในฐานะโฆษกกรมสรรพากรได้เปิดเผยว่า " ในปี พ.ศ. 2545 นี้ กรมสรรพากรได้มีการกำหนดมาตรการเพิ่มเติมในการให้หักค่าลดหย่อนภาษี รวมถึงการผ่อนปรนหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการหักค่าลดหย่อนภาษีบางรายการ เพื่อเป็นการลดภาระภาษีให้กับผู้มีเงินได้โดยทั่วไป ดังนี้

          1. กำหนดให้ข้าราชการที่มีการกู้ยืมเงินจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) มาเพื่อซื้อหรือเช่าซื้ออาคารที่อยู่อาศัย สามารถนำดอกเบี้ยเงินกู้ยืม มาหักเป็นค่าลดหย่อนในการคำนวณภาษีได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท

          2. ผ่อนปรนเงื่อนไข ให้ผู้มีเงินได้ที่มีการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมในการซื้ออาคารที่อยู่อาศัยในหลังใดก็ได้ ไม่ว่าจะมีอาคารที่อยู่อาศัยเดิมแล้วหรือไม่ก็ตาม สามารถนำเงินดอกเบี้ยที่จ่ายไปมาหักเป็นค่าลดหย่อนในการคำนวณภาษีได้เท่าที่จ่ายจริง แต่เมื่อรวมทุกหลังแล้วจะต้องไม่เกิน 50,000 บาท

         3. กำหนดให้ผู้มีเงินได้ที่มีการซื้ออาคารที่อยู่อาศัย สามารถนำเงินดาวน์ที่จ่ายไป มาหักเป็นค่าลดหย่อนพิเศษเพิ่มเติมจากค่าลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมฯ ได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง ดังนี้

          - หักได้ไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับกรณีทั่วไป

          - หักได้ไม่เกิน 200,000 บาท กรณีนำเงินของตนเองมาซื้อ แต่จะใช้สิทธิได้เพียงปีละกึ่งหนึ่ง

ทั้งนี้การได้รับสิทธินี้จะต้องเป็นการทำสัญญาซื้อขาย และมีการจ่ายเงินดาวน์รวมถึงการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธในช่วงตั้งแต่ วันที่ 7 กันยายน 2544 ถึงวันที่ 6 กันยายน 2545

         4. กำหนดให้ผู้มีเงินได้ ที่มุ่งจะมีการออมในระยะยาว โดยการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund : RMF) สามารถนำเงินที่จ่ายในการซื้อหน่วยลงทุนมาหักเป็นค่าลดหย่อนในการคำนวณภาษีได้ แต่ทั้งนี้เมื่อรวมกับเงินสมทบที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และ กบข. แล้ว จะต้องไม่เกิน 300,000 บาท "

                       

          มาตรการให้หักค่าลดหย่อนในการคำนวณภาษีเพิ่มเติมจากปี พ.ศ. 2545 นี้นับว่าจะมีส่วนช่วยลดภาระภาษีให้กับผู้มีเงินได้ค่อนข้างมาก ดังนั้นจึงขอให้ผู้ที่มีสิทธิได้รับการลดหย่อนภาษีได้รับทราบถึงมาตรการดังกล่าวข้างต้น

 

ปรับปรุงล่าสุด: 01-10-2019