เมนูปิด

คำสั่งกรมสรรพากร

ที่ ป. 85/2542

เรื่อง      การคำนวณฐานภาษีสำหรับการนำเข้าและการขายยาสูบตามประเภทและชนิดที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรีตามมาตรา 79/5 แห่งประมวลรัษฎากร และการจัดทำใบกำกับภาษี กรณีการขายยาสูบตามมาตรา 86/5(2) แห่งประมวลรัษฎากร

 

---------------------------------------------

 

                เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการตรวจและแนะนำผู้ประกอบการจดทะเบียน กรณีการคำนวณฐานภาษีสำหรับการนำเข้าและการขายยาสูบตามประเภทและชนิดที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี ตามมาตรา 79/5 แห่งประมวลรัษฎากรและการจัดทำใบกำกับภาษีกรณีการขายยาสูบ ตามมาตรา 86/5(2) แห่งประมวลรัษฎากรกรมสรรพากรจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

 

                ข้อ 1  การนำเข้ายาสูบจากต่างประเทศตามกฎหมายว่าด้วยยาสูบ ไม่ว่าจะนำเข้าโดยผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือบุคคลอื่น ต้องคำนวณฐานภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 79/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่ มูลค่าของยาสูบนำเข้าโดยให้ใช้ราคา ซี.ไอ.เอฟ. บวกด้วย อากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิตตามที่กำหนดในมาตรา 77/1(19) ค่าธรรมเนียมพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ภาษีและค่าธรรมเนียมอื่นตามที่จะได้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา

                        กรณีการนำเข้าตามวรรคหนึ่ง ถ้าผู้นำเข้าได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนหรือตามกฎหมายอื่น ให้นำอากรขาเข้าซึ่งได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนดังกล่าว มารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีด้วย

                        คำว่า “ กฎหมายอื่น ” ตามวรรคสอง หมายความถึงกฎหมายอื่นที่ไม่ใช่กฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร

 

                ข้อ 2  กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ขายยาสูบที่นำเข้าจากต่างประเทศให้แก่ผู้ซื้อ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนที่นำเข้ายาสูบเอง หรือซื้อจากผู้นำเข้า หรือผู้ขายทุกทอด จะต้องคำนวณฐานภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังต่อไปนี้

                        (1) กรณียาสูบที่นำเข้าจากต่างประเทศ เป็นบุหรี่ซิกาแรตที่กรมสรรพสามิตได้กำหนดราคายาสูบไว้ตามความในมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 ให้คำนวณมูลค่าของบุหรี่ซิกาแรตโดยการหักจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มออกจากจำนวนเต็มของราคาขายปลีกของบุหรี่ซิกาแรต ซึ่งจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มให้คำนวณตามอัตราภาษีมูลค่า-เพิ่มที่รวมอยู่ในจำนวนเต็มของราคาขายปลีก ตามมาตรา 79/5(2) แห่งประมวลรัษฎากร

                              กรณียาสูบตามวรรคหนึ่ง เป็นบุหรี่ซิกาแรตที่กรมสรรพสามิตได้กำหนดราคายาสูบสำหรับการขายในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครและในจังหวัดอื่นนอกจากเขตกรุงเทพมหานครแตกต่างกัน ให้คำนวณมูลค่าของบุหรี่ซิกาแรตและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายบุหรี่ซิกาแรต ตามหลักเกณฑ์ในวรรคหนึ่ง

                              ตัวอย่าง ราคาขายปลีกบุหรี่ซิกาแรตในกรุงเทพมหานครซองละ 43.00 บาท อัตราภาษีร้อยละ 7.0 เป็นภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 2.81 บาท (43 x7)107 และเป็นมูลค่าของบุหรี่ซิกาแรตจำนวน 40.19 บาท (43.00 - 2.81)

                              ตัวอย่าง ราคาขายปลีกบุหรี่ซิกาแรตในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานครซองละ 44.00 บาท อัตราภาษีร้อยละ 7.0 เป็นภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 2.88 บาท(44 x7) และเป็นมูลค่าของบุหรี่ซิกาแรตจำนวน 41.12 บาท (44.00 - 2.88)

                        (2) กรณียาสูบที่นำเข้าจากต่างประเทศนอกจาก (1) ให้คำนวณมูลค่าของยาสูบตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่ มูลค่าทั้งหมดที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับหรือพึงได้รับจากการขายยาสูบ รวมทั้งภาษีสรรพสามิตตามที่กำหนดในมาตรา 77/1(19) ถ้ามี ด้วย

 

                ข้อ 3  ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามข้อ 2 จะต้องจัดทำใบกำกับภาษีดังต่อไปนี้

                        (1) กรณียาสูบที่นำเข้าจากต่างประเทศ เป็นบุหรี่ซิกาแรตที่กรมสรรพสามิตได้กำหนดราคายาสูบไว้ตามความในมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/5(2) แห่งประมวลรัษฎากร

                              ใบกำกับภาษีตามวรรคหนึ่งต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้

                              (ก) คำว่า “ ใบกำกับภาษี ” ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด

                              (ข) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี และในกรณีที่ตัวแทนเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา 86 วรรคสี่ หรือมาตรา 86/2 แห่งประมวลรัษฎากรให้ระบุชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของตัวแทนนั้นด้วย

                              (ค) ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้า

                              (ง) หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่ม ถ้ามี

                              (จ) ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้า ซึ่งระบุเป็นภาษาอังกฤษได้

                              (ฉ) ราคาขายปลีกหักด้วยจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งคำนวณตามอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่รวมอยู่ในจำนวนเต็มของราคาขายปลีก

                              (ช) จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าตาม (ฉ) โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้าตาม (ฉ) ให้ชัดแจ้ง

                              (ซ) วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี

                        (2) กรณียาสูบที่นำเข้าจากต่างประเทศนอกจาก (1) ผู้ประกอบ-การจดทะเบียนต้องจัดทำใบกำกับภาษีที่มีรายการตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร

                              ใบกำกับภาษีตามวรรคหนึ่งต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้

                              (ก) คำว่า “ ใบกำกับภาษี ” ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด

                              (ข) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบ-การจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี และในกรณีที่ตัวแทนเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา 86 วรรคสี่ หรือมาตรา 86/2 แห่งประมวลรัษฎากรให้ระบุชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของตัวแทนนั้นด้วย

                              (ค) ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้า

                              (ง) หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่ม ถ้ามี

                              (จ) ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้า ซึ่งระบุเป็นภาษาอังกฤษได้

                              (ฉ) จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้า โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้าให้ชัดแจ้ง

                              (ช) วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี

                              ผู้ประกอบการจดทะเบียนตาม (1) และ (2) ต้องเก็บสำเนาใบกำกับภาษีเพื่อเป็นหลักฐานการลงรายงานภาษีขาย

 

                ข้อ 4  กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนตามข้อ 2 ขายยาสูบในลักษณะขายปลีก คือ เป็นการขายสินค้าที่ผู้ขายทราบโดยชัดแจ้งว่าเป็นการขายให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง และได้ขายในปริมาณซึ่งตามปกติวิสัยของผู้บริโภคนั้นจะนำสินค้าไปบริโภคโดยมิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะนำไปขายต่อไป ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสิทธิออกใบกำกับภาษีอย่างย่อตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร ดังต่อไปนี้

                        (1) กรณียาสูบที่นำเข้าจากต่างประเทศ เป็นบุหรี่ซิกาแรตที่กรมสรรพสามิตได้กำหนดราคายาสูบไว้ตามความในมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องจัดทำใบกำกับภาษีที่มีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้

                              (ก) คำว่า “ ใบกำกับภาษีอย่างย่อ ” ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด

                              (ข) ชื่อ หรือชื่อย่อ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี

                              (ค) หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่ม ถ้ามี

                              (ง) ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้า ซึ่งระบุเป็นภาษาอังกฤษได้

                              (จ) ราคาขายปลีกหักด้วยจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งคำนวณตามอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่รวมอยู่ในจำนวนเต็มของราคาขายปลีก

                              (ฉ) ราคาสินค้า โดยต้องมีข้อความระบุชัดเจนว่าได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว

                              กรณีราคาสินค้าซึ่งรวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้วตาม (ฉ) มีจำนวนน้อยกว่ามูลค่าหรือราคาของสินค้าที่คำนวณตาม (จ) ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องรับผิดเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามจำนวนที่คำนวณตาม (จ)

                              (ช) วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี

                        (2) กรณียาสูบที่นำเข้าจากต่างประเทศนอกจาก (1) ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องจัดทำใบกำกับภาษีที่มีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้

                              (ก) คำว่า “ ใบกำกับภาษีอย่างย่อ ” ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด

                              (ข) ชื่อ หรือชื่อย่อ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี

                              (ค) หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่ม ถ้ามี

                              (ง) ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้า ซึ่งระบุเป็นภาษาอังกฤษได้

                              (จ) ราคาสินค้า โดยต้องมีข้อความระบุชัดเจนว่าได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว

                              (ฉ) วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี

                              ผู้ประกอบการจดทะเบียนตาม (1) และ (2) ต้องเก็บสำเนาใบกำกับภาษีเพื่อเป็นหลักฐานการลงรายงานภาษีขาย

 

                ข้อ 5  ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามข้อ 1 และข้อ 2 เมื่อมีการนำเข้ายาสูบ หรือซื้อและขายยาสูบ จะต้องลงรายการมูลค่าของสินค้าและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มในรายงานภาษีขายตามมาตรา 87(1) และรายงานภาษีซื้อตามมาตรา 87(2) แห่งประมวลรัษฎากร ดังต่อไปนี้

                        (1) ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามข้อ 1 ซึ่งนำเข้ายาสูบ จะต้องลงรายการมูลค่าของยาสูบและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มในรายงานภาษีซื้อ ตามหลักฐานใบเสร็จรับเงินของกรมศุลกากร

                        (2) ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามข้อ 2 ซึ่งขายยาสูบ โดยจัดทำใบกำกับภาษีตามข้อ 3 และข้อ 4 จะต้องลงรายงานภาษีขายและรายงานภาษีซื้อ ดังต่อไปนี้

                              (ก) การขายยาสูบตามข้อ 2(1) ให้ลงรายการมูลค่าของบุหรี่ซิกาแรตโดยการหักจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มออกจากจำนวนเต็มของราคาขายปลีกของบุหรี่ซิกาแรต และลงรายการจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณตามอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่รวมอยู่ในจำนวนเต็มของราคาขายปลีก

                              ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ซื้อยาสูบตามข้อ 2(1) ลงรายการมูลค่าของบุหรี่ซิกาแรต และจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม ในรายงานภาษีซื้อตามหลักเกณฑ์ในวรรคหนึ่ง

                              ตัวอย่าง ราคาขายปลีกบุหรี่ซิกาแรตซองละ 43.00 บาท แต่ราคาขายจริง 41.00 บาท อัตราภาษีร้อยละ 7.0 ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องคำนวณ ภาษีมูลค่าเพิ่มจากราคา 43.00 บาท เป็นภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 2.81 บาท (43 x7) และเป็นมูลค่าของบุหรี่ซิกาแรตจำนวน 40.19 บาท (43.00 - 2.81) ให้ลงรายการมูลค่าสินค้าจำนวน 40.19 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 2.81 บาท

                              (ข) การขายยาสูบตามข้อ 2(2) ให้ลงรายการมูลค่าของยาสูบตามจำนวนที่ได้รับจริงจากการขายยาสูบ และลงรายการจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของยาสูบที่ได้รับจริง

                              ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ซื้อยาสูบตามข้อ 2(2) ลงรายการมูลค่าของยาสูบ และจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม ในรายงานภาษีซื้อตามหลักเกณฑ์ในวรรคหนึ่ง

 

                ข้อ 6  กรณีผู้ประกอบอุตสาหกรรมยาสูบที่เป็นองค์การของรัฐบาล ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนผลิตบุหรี่ซิกาแรตขาย ต้องคำนวณมูลค่าของบุหรี่ซิกาแรตโดยการหักจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มออกจากจำนวนเต็มของราคาขายปลีกของบุหรี่ซิกาแรต ซึ่งจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้คำนวณตามอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่รวมอยู่ในจำนวนเต็มของราคาขายปลีกตามมาตรา 79/5(2) แห่งประมวลรัษฎากร

                        กรณีกรมสรรพสามิตได้กำหนดราคาขายบุหรี่ซิกาแรต สำหรับการขายในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครและในจังหวัดอื่นนอกจากเขตกรุงเทพมหานครแตกต่างกัน ให้คำนวณมูลค่าของบุหรี่ซิกาแรตและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายบุหรี่ซิกาแรต ตามหลักเกณฑ์ในวรรคหนึ่ง

                        ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง ต้องจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/5(2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งมีรายการอย่างน้อยตามข้อ 3(1)

                        ถ้าผู้ประกอบการจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง ขายบุหรี่ซิกาแรตในลักษณะขายปลีกโดยตรงเช่นเดียวกับการขายสินค้าตามข้อ 4 ผู้ประกอบการจดทะเบียนดังกล่าวมีสิทธิออกใบกำกับภาษีอย่างย่อตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งมีรายการอย่างน้อยตามข้อ 4(1)

                        ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง จะต้องลงรายงานภาษีขายตามมาตรา 87(1) แห่งประมวลรัษฎากร ตามหลักเกณฑ์ในข้อ 5(2)(ก)

                        ตัวอย่าง ราคาขายปลีกบุหรี่ซิกาแรตซองละ 32 บาท อัตราภาษีร้อยละ 7.0 เป็นภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 2.09 บาท (32 x7) และเป็นมูลค่าของบุหรี่ซิกาแรตจำนวน 29.91 บาท ให้ลงรายการมูลค่าสินค้าจำนวน 29.91 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 2.09 บาท

                        ตัวอย่าง ราคาขายปลีกบุหรี่ซิกาแรตในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานครซองละ 33.00 บาท อัตราภาษีร้อยละ 7.0 เป็นภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 2.16 บาท (33 x7) และเป็นมูลค่าของบุหรี่ซิกาแรตจำนวน 30.84 บาท (33.00 - 2.16) ให้ลงรายการมูลค่าสินค้าจำนวน 30.84 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 2.16 บาท

 

                ข้อ 7   ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ซื้อบุหรี่ซิกาแรตและได้รับใบกำกับภาษีจากผู้ประกอบอุตสาหกรรมยาสูบที่เป็นองค์การของรัฐบาลตามข้อ 6 เมื่อขายบุหรี่ซิกาแรตไป ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(น) แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่ต้องจัดทำใบกำกับภาษีและไม่มีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้า

                        ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง ไม่มีสิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีที่ได้รับจากผู้ประกอบอุตสาหกรรมยาสูบที่เป็นองค์การของรัฐบาลตามข้อ 6 จึงไม่ต้องนำใบกำกับภาษีดังกล่าว ไปลงรายงานภาษีซื้อตามมาตรา 87(2) แห่งประมวลรัษฎากร

 

                ข้อ 8  บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หนังสือตอบข้อหารือหรือทางปฏิบัติใดที่ขัดหรือแย้งกับคำสั่งนี้ ให้เป็นอันยกเลิก

 

สั่ง ณ วันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2542

 

ร้อยเอก สุชาติ เชาว์วิศิษฐ

อธิบดีกรมสรรพากร

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022