เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/2735
วันที่: 17 ธันวาคม 2552
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจ่ายเงินตามสัญญาเช่ารถยนต์และสัญญาการ ให้บริการพนักงานขับรถยนต์ ข้อหารือ สำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่
ข้อกฎหมาย: คำสั่งกรมสรรพากร ท.ป.4/2528ฯ
ข้อหารือ          บริษัทฯ ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายรถยนต์นั่งและรถบรรทุก ได้ทำสัญญาเช่ารถยนต์ และสัญญาการให้บริการ พนักงานขับรถ กับบริษัท พ. ผู้ให้เช่าและผู้ให้บริการพนักงานขับรถ รายเดียวกัน แยกทำสัญญาเป็น 2 ฉบับ โดยมีข้อเท็จจริง สรุปได้ดังนี้
          1. บริษัทฯ ได้ทำสัญญาเช่ารถยนต์ กับ บริษัท พ. ซึ่งเป็นนิติบุคคลจดทะเบียนตามกฎหมายไทย มีทุนจดทะเบียน ชำระแล้วจำนวน 984 ล้านบาท และเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ ทำสัญญาเช่ารถยนต์ มีกำหนดระยะ เวลา 3 ปี กำหนดชำระค่าเช่าเป็นรายเดือน ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ทำสัญญาเช่ารถยนต์หนึ่งฉบับต่อรถยนต์หนึ่งคัน โดยได้ระบุ หมายเลขทะเบียนรถไว้ในแต่ละสัญญา
          2. บริษัท พ. ได้ทำสัญญาการให้บริการพนักงานขับรถยนต์กับบริษัทฯ อีกฉบับหนึ่งแยกต่างหากจากสัญญาเช่ารถยนต์ โดยมิได้ระบุว่าพนักงานแต่ละคนต้องขับรถคันที่เช่ามาคันใดคันหนึ่งเป็นประจำ โดยจะทำสัญญาเป็นรายปี ปีละ 1 สัญญา กำหนด ชำระค่าบริการ และค่าบริการเพิ่มเติม (กรณีพนักงานขับรถปฏิบัติงานนอกเวลาทำการปกติหรือเดินทางไปต่างจังหวัด) เป็นรายเดือน เนื่องจากวัตถุประสงค์และกำหนดระยะเวลาของสัญญาเช่ารถยนต์และสัญญาให้บริการพนักงานขับรถยนต์แตกต่างกัน บริษัทฯ ขอหารือว่า ความเข้าใจดังต่อไปนี้ ถูกต้องหรือไม่
          1. สัญญาเช่ารถยนต์ดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการให้เช่าแบบลิสซิ่ง ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ตามข้อ 6 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หัก ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าเช่ารถยนต์ จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
          2. สัญญาการให้บริการพนักงานขับรถยนต์ดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นสัญญาให้บริการเมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าบริการดังกล่าว จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ 8(2) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
          3. บริษัทฯ มีสิทธินำค่าบริการตามสัญญาการให้บริการพนักงานขับรถยนต์มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อ เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยรายจ่าย ที่ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ (ฉบับที่ 315) พ.ศ. 2540
แนววินิจฉัย          บริษัท พ. ประกอบกิจการให้เช่ารถยนต์ และให้บริการพนักงานขับรถยนต์แยกต่างหากจากกัน เช่น ผู้เช่าอาจทำสัญญา เช่ารถยนต์ โดยไม่ทำสัญญาใช้บริการพนักงานขับรถยนต์ก็ได้ หรือผู้เช่าอาจทำสัญญาใช้บริการพนักงานขับรถยนต์ โดยไม่ทำสัญญาเช่ารถยนต์ก็ได้ และในกรณีที่บริษัทฯ ทำสัญญาเช่ารถยนต์และสัญญาการให้บริการพนักงานขับรถยนต์กับบริษัท พัฒนาไทยฯ คู่สัญญามีเจตนาที่แยกสัญญาทั้งสองฉบับออกจากกันอย่างชัดเจนโดยราคาค่าบริการตามสัญญาทั้งสองฉบับเป็นไปตามราคาตลาด กรณีดังกล่าวคู่สัญญามีสิทธิที่จะทำสัญญาแยกต่างหากจากกันได้ตามหลักความศักดิ์สิทธิ์ของการแสดงเจตนา และกรณีตามข้อเท็จจริง ข้างต้นพิจารณาได้ดังนี้
          1. บริษัทฯ ทำสัญญาเช่ารถยนต์และสัญญาการให้บริการพนักงานขับรถยนต์แยกต่างหากจากกันถือว่า
               1.1 สัญญาเช่ารถยนต์ เข้าลักษณะเป็นการให้เช่าทรัพย์สินตามมาตรา 537 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เงินค่าเช่าเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (5)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้จ่ายค่าเช่ามีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 5.0 ทั้งนี้ ตามข้อ 6 (2) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
               1.2 สัญญาให้บริการพนักงานขับรถยนต์ เข้าลักษณะเป็นสัญญาการให้บริการ เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าบริการดังกล่าว จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ 12/1 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
          2. กรณีบริษัทฯ ทำสัญญาให้เช่าทรัพย์สิน ซึ่งถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (5)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้จ่าย ค่าเช่ามีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 5.0 ทั้งนี้ ตามข้อ 6 (2) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
          3. บริษัทฯ มีสิทธินำค่าเช่ารถยนต์ตามสัญญามาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตาม ที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินคันละสามหมื่นหกพันบาทต่อเดือน ตามมาตรา 65 ตรี (20) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4 (2) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 315) พ.ศ. 2540 เนื่องจากการตราพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ที่จะมุ่งถึงราคา ค่าเช่าทรัพย์สินเป็นสำคัญ และมีสิทธินำค่าบริการพนักงานขับรถยนต์มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ นิติบุคคลได้ทั้งจำนวน
เลขตู้: 72/37049

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020