เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: 0702/6494
วันที่: 20 สิงหาคม 2561
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้จากการประกอบวิชาชีพพยาบาล
ข้อกฎหมาย : มาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ            1. นางสาว ส. ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ชั้นหนึ่ง ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ. 2528 และพระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2540 และสอบผ่านเป็นพยาบาลผู้เชี่ยวชาญการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมปี 2551 จากสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย
           2 นางสาว ส. ได้ทำสัญญาพยาบาลวิชาชีพเฉพาะทาง (สัญญาฯ) กับบริษัท ร.จำกัด ซึ่งได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาลรักษาโรคไต โดยมีข้อตกลงสรุปได้ดังนี้
                2.1 นางสาว ส. ตกลงทำงานให้บริษัทฯ ในตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพเฉพาะด้านโรคไต (พยาบาลวิชาชีพไตเทียม) เป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2559 โดยได้รับค่าตอบแทนตามผลสำเร็จของงานตามอัตราความยากง่ายของผู้ป่วยแต่ละรายด้วยความรู้ความชำนาญ
                2.2 บริษัทฯ ตกลงจ่ายค่าตอบแทนตามผลสำเร็จของงาน โดยจะชำระค่าตอบแทนการทำงานภายในวันที่ 10 ของเดือน
                2.3 นางสาว ส. ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานดังนี้
                (1) เป็นพยาบาลวิชาชีพที่มีความเชี่ยวชาญด้านไตเทียม โดยผ่านการอบรมหลักสูตรเฉพาะทางไตเทียม 4 เดือน หรือสอบผ่านผู้เชี่ยวชาญด้านไตเทียม
                (2) ดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องมือไตเทียมแบบองค์รวม โดยได้รับค่าตอบแทนในการดูแลผู้ป่วยแต่ละรายแตกต่างกันตามลักษณะอาการและความยากง่ายของผู้ป่วยแต่ละรายจนสิ้นสุดการฟอกเลือดในแต่ครั้ง และงานอื่นที่บริษัทฯ หรือตัวแทนได้มอบหมาย
           3. เมื่อปี 2558 นางสาว ส. ได้รับเงินค่าตอบแทนตามสัญญาฯ จากบริษัทฯ เป็นค่าประกอบวิชาชีพพยาบาล (รายละเอียดปรากฏตามหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย)
           4. นางสาว ส. ขอหารือว่า เงินค่าตอบแทนที่นางสาว ส. ได้รับซึ่งมีจำนวนไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับความยากง่ายของวิชาชีพพยาบาลนั้น เข้าลักษณะเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย            กรณีพยาบาลมีเงินได้จากการไปปฏิบัติงานในสถานพยาบาลเอกชนและได้รับค่าตอบแทนเป็นรายเดือนซึ่งไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับเวลาปฏิบัติงานนั้น หากเป็นไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้ ย่อมถือว่าเงินได้ที่พยาบาลได้รับดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งได้แก่
           1. เป็นบุคคลซึ่งได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต
                - เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบัน ในสาขาการพยาบาล สาขาการผดุงครรภ์หรือสาขาการพยาบาลและผดุงครรภ์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2479 หรือ
                - เป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ โดยได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ การพยาบาลวิชาชีพการผดุงครรภ์ หรือวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์จากสภาการพยาบาลตามพระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ. 2528 และ
           2. ปฏิบัติงานตามวิชาชีพ "การพยาบาล" หรือ "การผดุงครรภ์" ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ. 2528 (ไม่รวมถึงพยาบาลที่ปฏิบัติงานในลักษณะงานธุรการ) ดังนี้
           "การพยาบาล" หมายความว่า การกระทำในการช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยเพื่อบรรเทาอาการของโรค และการลุกลามของโรค การประเมินภาวะสุขภาพ การส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพอนามัย และการป้องกันโรค รวมทั้งการช่วยเหลือแพทย์ และการกระทำตามคำสั่งในการรักษาโรคของแพทย์ ทั้งนี้ โดยอาศัยหลักวิทยาศาสตร์และศิลปะการพยาบาล
           "การผดุงครรภ์" หมายความว่า การตรวจ การแนะนำ การส่งเสริมสุขภาพ และการปฏิบัติต่อหญิงมีครรภ์ การป้องกันความผิดปกติในระยะตั้งครรภ์และระยะคลอด การทำคลอด การดูแลและส่งเสริมสุขภาพมารดาและทารกในระยะหลังคลอด รวมทั้งการช่วยเหลือแพทย์และการกระทำตามคำสั่งในการรักษาโรคของแพทย์ ทั้งนี้ โดยอาศัยหลักวิทยาศาสตร์และศิลปะการผดุงครรภ์ และ
           3. ได้รับค่าตอบแทนซึ่งคำนวณจากผลการปฏิบัติงาน โดยขึ้นอยู่กับความยากง่ายของงานที่ทำการรักษาผู้ที่มารับการรักษา
           ดังนั้น กรณีตามข้อเท็จจริง นางสาว ส. ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ. 2528 ตกลงทำงานให้บริษัทฯ ในตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพเฉพาะด้านโรคไต (พยาบาลวิชาชีพไตเทียม) โดยบริษัทฯ ตกลงจ่ายค่าตอบแทนให้แก่นางสาว ส.ตามผลสำเร็จของงานตามอัตราความยากง่ายของผู้ป่วยแต่ละรายด้วยความรู้ความชำนาญของนางสาวส.นั้น เงินได้ที่นางสาว ส. ได้รับจากบริษัทฯ จึงเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 81/40775

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020