เมนูปิด

การยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทางไปรษณีย์

       สำหรับผู้มีเงินได้ที่มีภูมิลำเนาในกรุงเทพมหานคร สามารถยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทางไปรษณีย์ลงทะเบียนได้ ในการยื่นแบบทางไปรษณีย์ จะต้องยื่นแบบฯ และชำระภาษีภายในเวลาที่กฎหมายหนด ( แบบ ภ.ง.ด. 90 และแบบ ภ.ง.ด. 91 ให้ยื่นระหว่าง 1 มกราคม ถึง 31 มีนาคม ของปีถัดจากปีภาษี แบบ ภ.ง.ด. 94 ให้ยื่นระหว่าง 1 กรกฎาคม ถึง 30 กันยายน ของปีภาษี ) โดยกรมสรรพากรจะถือเอาวันที่ลงทะเบียนไปรษณีย์เป็นวันรับแบบและชำระภาษี (ไม่รวมกรณีขอผ่อนชำระ) โดยส่งไปยัง

กองคลัง กรมสรรพากร อาคารกรมสรรพากร ชั้น 6
เลขที่ 90 ซอยพหลโยธิน 7 ถนนพหลโยธิน
เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400

       1.  กรณีชำระเป็นธนาณัติหรือตั๋วแลกเงิน ให้ส่งธนาณัติหรือตั๋วแลกเงินเท่ากับจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระ (ห้ามหักค่าธรรมเนียมในการส่งธนาณัติหรือตั๋วแลกเงิน) ไปพร้อมกับการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยสั่งจ่าย "ผู้อำนวยการกองคลัง กรมสรรพากร" ปทฝ. กระทรวงการคลัง

       2.  กรณีชำระเป็นเช็ค

           2.1  ประเภทเช็คที่ชำระ จะต้องเป็นเช็คประเภทใดประเภทหนึ่งจาก 3 ประเภทดังนี้

                      1.  เช็คที่มีธนาคารค้ำประกัน (เช็คประเภท ข)

                     2.  เช็คที่ธนาคารเซ็นสั่งจ่าย (เช็คประเภท ค)

                     3. เช็คที่ผู้มีหน้าที่ชำระเงินภาษีอากรเป็นผู้เซ็นสั่งจ่ายและใช้ชำระโดยตรง (เช็คประเภท ง) สำหรับเช็คประเภท ง. มีข้อจำกัดในการใช้ กล่าวคือ

                                (ก)  กรณีใช้ชำระภาษีในกรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร (เฉพาะอำเภอเมืองสมุทรสาคร และอำเภอกระทุ่มแบน) จังหวัดนครปฐม (เฉพาะอำเภอสามพราน) และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (เฉพาะอำเภอบางปะอิน) ต้องเป็นเช็คของธนาคารที่ตั้งอยู่ในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งข้างต้นเท่านั้น

                               (ข)  กรณีใช้ชำระภาษีในจังหวัดอื่นนอกจาก (ก.) ให้ใช้ได้เฉพาะกรณีที่เปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารหรือสาขาธนาคารซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดท้องที่อันเป็นภูมิลำเนาเท่านั้น

           2.2  การสั่งจ่ายเช็ค เช็คที่สั่งจ่ายทุกกรณีต้องมีรายการครบถ้วนตามมาตรา 988 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ห้ามใช้เช็คลงวันที่ล่วงหน้า ห้ามเปลี่ยนมือ ห้ามใช้เช็คโอนสลักหลัง และต้องขีดคร่อม โดยให้ขีดคร่อมและสั่งจ่ายดังนี้

                     1.  เช็คประเภท ข. และ ค. ให้สั่งจ่าย "กระทรวงการคลัง" กับ ขีดฆ่าคำว่า "ผู้ถือ" และหรือ "ตามคำสั่ง" ออก

                     2.  เช็คประเภท ง. ให้สั่งจ่าย "กรมสรรพากร" กับขีดฆ่าคำว่า "ผู้ถือ"

หมายเหตุ : การชำระภาษีจะถือว่าสมบูรณ์ต่อเมื่อกรมสรรพากรได้รับเงินตามเช็คหรือธนาณัติหรือตั๋วแลกเงินครบถ้วนแล้ว

 

ปรับปรุงล่าสุด: 09-05-2016