เมนูปิด

Q1 : ภาษีการรับให้ คืออะไร

A1 : ภาษีการรับให้ หรือเรียกทั่วไปว่า ภาษีการให้ (Gift Tax) คือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่จัดเก็บจากทรัพย์สินที่ให้หรือรับแก่บุตร คู่สมรส ญาติ หรือบุคคลอื่น ก่อนผู้ให้เสียชีวิต ทั้งนี้ ภาษีการรับให้มีขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีการรับมรดก ป้องกันไม่ให้เกิดการหลีกเลี่ยงภาษีการรับมรดก

 

Q2 : ภาษีการรับให้ มีผลใช้บังคับเมื่อใด

A2 : มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นต้นไป ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 40) พ.ศ. 2558 และ (ฉบับที่ 43) พ.ศ. 2559

 

Q3 : ใครคือผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับให้

A3 : ผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับให้ มีดังนี้

          1. กรณีการให้อสังหาริมทรัพย์ กำหนดให้ผู้ที่โอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษี ได้แก่ บิดาและหรือมารดาผู้โอนกรรมสิทธิ์ให้บุตรชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม (มาตรา 42(26))

          2. กรณีการให้สังหาริมทรัพย์

                   - บุคคลธรรมดาผู้ได้รับเงินได้จากการอุปการะหรือจากการให้โดยเสน่หาจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส เฉพาะเงินได้ในส่วนที่เกินกว่า 20 ล้านบาทในแต่ละปีภาษี (มาตรา 42(27))

                   - บุคคลธรรมดาผู้ได้รับเงินได้จากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณีจากบุคคลอื่น ซึ่งมิใช่บุพการี ผู้สืบสันดาน คู่สมรส เฉพาะเงินได้ส่วนที่เกินกว่า 10 ล้านบาท ในแต่ละปีภาษี (มาตรา 42(28))

 

Q4 : ผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับให้ ต้องเสียภาษีในอัตราเท่าใด

A4 : ผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับให้ ต้องเสียภาษีในอัตราดังนี้

          1. กรณีการให้อสังหาริมทรัพย์ ผู้โอนเสียภาษีขณะที่มีการจดทะเบียนสิทธิหรือนิติกรรม ณ สำนักงานที่ดิน อัตราร้อยละ 5 ของมูลค่าทรัพย์สินที่ได้รับในส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท หรือนำไปรวมคำนวณกับเงินได้พึงประเมินอื่นก็ได้

          2. กรณีการให้สังหาริมทรัพย์ ผู้รับเสียภาษีอัตราร้อยละ 5 ของมูลค่าทรัพย์สินที่ได้รับในส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท หรือ 10 ล้านบาท หรือนำไปรวมคำนวณกับเงินได้พึงประเมินอื่นก็ได้

 

Q5 : การคำนวณภาษีการรับให้ ร้อยละ 5 มีวิธีคำนวณอย่างไร

A5 : การคำนวณภาษีการรับให้ กรณีการให้อสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ ต้องเสียภาษีอัตราร้อยละ 5 ของส่วนที่เกินกว่า 10 ล้านบาท หรือ 20 ล้านบาท (แล้วแต่กรณี) โดยวิธีการคำนวณ คือ

ส่วนที่เกิน 10 ล้านบาท หรือ 20 ล้านบาท × อัตราภาษี ร้อยละ 5 = ภาษีที่ต้องเสีย

ตัวอย่างที่ 1 บิดายกที่ดินให้บุตรชอบด้วยกฎหมาย ราคาประเมินของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ 22 ล้านบาท บิดาผู้ให้จะต้องเสียภาษี 100,000 บาท ซึ่งคำนวณจาก 2 ล้านบาท × ร้อยละ 5

ตัวอย่างที่ 2 งานแต่งงานของหลาน คุณป้าได้ให้เงิน 5 ล้านบาท และให้ทองมูลค่า 6 ล้านบาท หลานซึ่งเป็นผู้รับจะต้องเสียภาษี 50,000 บาท ซึ่งคำนวณจาก 1 ล้านบาท × ร้อยละ 5

 

Q6 : กรณีที่คำนวณภาษีการรับให้ในอัตราร้อยละ 5 แล้ว ต้องนำภาษีที่คำนวณได้มายื่นแบบ ภ.ง.ด.90 รวมกับเงินได้อื่นหรือไม่

A6 : ผู้เสียภาษีมีสิทธิเลือกเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 โดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณกับเงินได้อย่างอื่นในปีภาษีนั้น หรือเลือกนำไปรวมกับเงินได้อื่นเพื่อคำนวณภาษีตามปกติก็ได้

 

Q7 : กรณีที่ผู้เสียภาษีเลือกเสียภาษีโดยไม่นำไปรวมคำนวณกับเงินได้อย่างอื่นในปีภาษี ต้องยื่นแบบแสดงรายการอย่างไร

A7 : 1. กรณียื่นแบบกระดาษ ให้ระบุจำนวนเงินได้ จำนวนภาษี ในรายการ เงินได้จากการให้หรือการรับ (โดยเลือกเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของเงินได้เฉพาะส่วนที่ไม่ได้รับยกเว้นตามมาตรา42(26) (27) (28))

       2. กรณียื่นแบบออนไลน์ ผ่านระบบ E-Filing เลือก เงินได้จากการให้หรือการรับ (มาตรา 40(8)) ระบุเงินได้พึงประเมิน ภาษีหัก ณ ที่จ่าย (เฉพาะกรณีโอนกรรมสิทธิ์/สิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์) และทำเครื่องหมายหน้าข้อความ O ต้องการเสียภาษีโดยไม่รวม

 

Q8 : ผู้ให้ซึ่งเป็นบุพการี หมายถึง บุคคลใดบ้าง

A8 : บุพการี หมายถึง บิดามารดา ปู่ย่า ตายาย ทวด

 

Q9 : ผู้ให้ซึ่งเป็นผู้สืบสันดาน หมายถึง บุคคลใดบ้าง

A9 : ผู้สืบสันดาน หมายถึง บุตร (รวมบุตรบุญธรรม/บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว) หลาน เหลน

 

Q10 : ผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับให้ ต้องยื่นแบบฯ ภายในเมื่อใด

A10 : ภาษีการรับให้ถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 ผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับให้ ต้องนำเงินได้ที่เกิดในระหว่างเดือนมกราคม ถึง เดือนมิถุนายน ยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 ภายในเดือนกันยายนของปีภาษี และนำรายได้ระหว่างเดือนมกราคม ถึง เดือนธันวาคม ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ภายในเดือนมกราคม ถึง เดือนมีนาคม ของปีถัดจากปีภาษี และหากยื่นแบบฯ ผ่านอินเทอร์เน็ตได้รับขยายเวลาออกไปอีก 8 วัน          

ตารางสรุปภาษีการรับให้ (Gift Tax)

Visit counter For Websites

 

ปรับปรุงล่าสุด: 03-04-2024