เมนูปิด

เลขที่ข่าว  ปชส.     29/2550

วันที่แถลงข่าว      27  สิงหาคม  2550

เรื่อง  กรมสรรพากร เร่งตรวจสอบและเอาผิดกับผู้ทุจริตหลีกเลี่ยงภาษีอากร หรือขอคืนภาษีเป็นเท็จ

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------                 ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา กรมสรรพากรได้ดำเนินการอย่างเฉียบขาดกับบุคคลและนิติบุคคลที่กระทำความผิดทางภาษีทั้งทางแพ่งฯ และทางอาญาจนมีผลสำเร็จ และสามารถเรียกคืนความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายและรักษาความเป็นธรรมทางภาษีให้ดียิ่งขึ้น ใน 3 กรณีสำคัญ ดังนี้


                 1.  ความผิดกรณีใบกำกับภาษีปลอม กรมฯ ได้ตรวจสอบและดำเนินคดีกับผู้ออกใบกำกับภาษีโดยมิชอบจำนวน 3 กลุ่ม ที่สร้างความเสียหายแก่ระบบภาษีเป็นมูลค่าสินค้าทั้งสิ้น 1,396.88 ล้านบาท รวมมูลค่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่เรียกเก็บได้ 292.45 ล้านบาท


                 2.  ความผิดจากการขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นเท็จ จากการแจ้งข้อมูลการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และ รายการค่าลดหย่อนไม่ถูกต้องตรงตามความจริง ตรวจสอบและดำเนินการได้กับผู้เสียภาษีจำนวน 1,877 ราย รวมมูลค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เรียกเก็บได้ 11.95 ล้านบาท


                 3.  ความผิดจากผู้ค้ายาเสพติด ซึ่งเป็นการปฏิบัติการตามโครงการ “รวมพลังไทย ขจัดภัยยาเสพติด ร่วมเทิดไท้องค์ราชัน ในระหว่างเดือนธันวาคม 2549 – กรกฎาคม 2550 สามารถตรวจสอบและดำเนินการกับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดจำนวน 12 ราย รวมมูลค่าภาษีจำนวน 72.85 ล้านบาท

                 นอกจากนี้ กรมฯ ยังตรวจสอบพบพฤติกรรมขอคืนภาษีเป็นเท็จ และเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีในวิธีการต่างๆ มากขึ้น จนเป็นที่น่าสังเกต เช่น


                 -  การเจตนาและจงใจสร้างข้อมูลการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ประเภทเงินเดือนหรือดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร โดยการปลอมแปลงเอกสารหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายของบริษัท/ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล/ ธนาคาร เพื่อยื่นขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นเท็จ


                    ความผิดในฐานนี้ ถือเป็นความผิดอาญา เป็นการฉ้อโกงเงินภาษีอากรรัฐ ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเป็นการแจ้งความเท็จ ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


                 -  การสร้างตัวเลขรายจ่าย เช่น ค่านายหน้า ค่าจ้างทำของให้กับบุคคลธรรมดาหรือคณะบุคคลที่จัดตั้งขึ้นหลายๆ คณะ โดยไม่มีการจ่ายจริง เพื่อนำรายจ่ายดังกล่าวไปเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ขณะเดียวกันก็ออกหลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่ายเท็จให้กับบุคคลธรรมดาหรือคณะบุคคลเพื่อขอคืนภาษีอีกต่อหนึ่ง


                   ความผิดในฐานนี้ นอกจากต้องรับผิดทางแพ่ง โดยชำระภาษี พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแล้ว ยังถือเป็นความผิดอาญา ฐานเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากร ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 ถึง 200,000 บาท ด้วย

นายศานิต ร่างน้อย อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวว่า “ได้ให้ทุกหน่วยงานเร่งตรวจสอบพฤติกรรมผิดปกติเหล่านั้นโดยดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด พร้อมทั้งให้ติดตามรูปแบบการหลีกเลี่ยงภาษีใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้เสียภาษีที่ถูกต้องต่อไป ”

 

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 01-10-2019