เมนูปิด

จังหวัดปราจีนบุรี

 



 

จังหวัดปราจีนบุรี

 

 

 

 

คำขวัญ ศรีมหาโพธิ์คู่บ้าน ไผ่ตงหวานคู่เมือง ผลไม้ลือเลื่อง เขตเมืองทวาราวดี

 

 


ประวัติความเป็นมา

 

     

ปราจีนบุรีก่อนอยุธยา

ปราจีนบุรี หรือ เมืองปราจีนบุรี ในสมัยก่อนอยุธยา เริ่มตั้งแต่การตั้งถิ่นฐานของกลุ่มคนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย แล้วพัฒนามาเป็นกลุ่มบ้านเมืองในสมัยประวัติศาสตร์ จนเข้าสู่สมัยสุโขทัย ซึ่งไม่ ปรากฎหลักฐานทางเอกสาร แต่ได้พบเครื่องถ้วยจีนที่มีอายุตรงกับสมัยราชวงศ์ซ้อง จึงเชื่อว่าในสมัยสุโขทัยบริเวณพื้นที่ในเขตจังหวัดปราจีนบุรี ยังคงมีผู้คนบางส่วนอาศัยอยู่สืบเนื่องกันมา

 

ชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย

ในเขตจังหวัดปราจีนบุรีปรากฎการตั้งถิ่นฐานของชุมชนสมัยโบราณเมื่อประมาณ 2,000 – 2,500 ปี มาแล้ว ซึ่งตรงกับสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายถึงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ (Proto-history) ที่แหล่งโบราณคดีบ้านกระทุ่มแพ้ว ตำบลกระทุ่มแพ้ว อำเภอบ้านสร้าง บ้านหนองอ้อ ตำบลดงพระราม อำเภอเมือง และบ้นดงชัยมัน ตำบลประจันตคาม อำเภอประจันตคาม

โบราณคดีที่พบ ได้แก่ ลูกปัดแก้วแบบอินโด – แปซิฟิก สีต่าง ๆ ลูกปัดหินคาร์เนเลียน หินอะเกตและหินควอตซ์ เครื่องมือเหล็ก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการติดต่อสัมพันธ์กับชุมชนโบราณใกล้เคียงและอินเดีย โดยเฉพาะที่บ้านดงชัยมันได้พบชิ้นส่วนกลองมโหระทึกซึ่งเป็นโบราณวัตถุในวัฒนธรรมดงซอน เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมซึ่งพบทางตอนใต้ของจีน และในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งประเทศไทย

บริเวณที่ตั้งเมืองโบราณศรีมโหสถ ต.โคกปีบ อ.ศรีมโหสถ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นชุมชนมาก่อนพุทธศตวรรษที่ 11 ในชุมชนบริเวณดังกล่าวรวมตัวกันเป็นกลุ่มเกษตรกรเป็นกลุ่มหมู่บ้านเกษตรกรรม มีการติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนกับวัฒนธรรมภายนอกแต่ยังไม่มีการสร้างเมืองที่มีคันดิน คูน้ำล้อมรอบชุมชน ในระยะนี้อาจมีความสัมพันะกับอาณาจักรฟูนัน และมีการแลกเปลี่ยนค้าขายกับนักเดินเรือจากต่างประเทศ หลักฐานที่พบแสดงอิทธิพลวัฒนธรรมฟูมันและอิทธิพลวัฒนธรรมอินเดียแบบอมราวดี หลักฐานสำคัญที่พบ ได้แก่ ภาพสลักนูนต่ำและประติมากรรมบางชิ้นที่พบในบริเวณนี้คือภาพมกรหรือเหราบางตัวที่ขอบโบราณสถานสระแก้วมีลักษณะคล้ายมกรในศิลปะอินเดียแบบคุปตะ ส่วนประติมากรรมบางชิ้น ได้แก่ พระพุทธรูปที่พบในบ่อน้ำหน้าอาคารรอยพระบาทคู่ และจากการค้นพบเครื่องมือหินขัดทำให้พออนุมานได้ว่าชุมชนดังกล่าวน่าจะมีความสัมพันะกับชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ที่พบตามแนวชายฝั่งทะเลเดิม บริเวณลุ่มน้ำบางปะกงแถบจังหวัดชลบุรี ซึ่งเริ่มมีถิ่นฐานเมื่อประมาณ 5,000 – 1,400 ปี มาแล้ว

สรุปได้ว่าการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์เริ่มแรกในเขตจังหวัดปราจีนบุรี เป็นสังคมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ที่มีเทคโนโลยีค่อนข้างสูงในการดำรงชีวิตคือการรู้จักใช้เครื่องมือเหล็กและการรู้จักใช้วิธีกักเก็บน้ำ ต่อมาสภาพสังคมและเศรษฐกิจมีความสลับซับซ้อนมากขึ้นจนเข้าสู่พุทธศตวรรษที่ 6-10 ได้รับวัฒนธรรมภายนอกและเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ พัฒนาเป็นชุมชนหรือเมืองที่รู้จักกันในชื่อว่า กลุ่มวัฒนธรรมทวารวดี มีอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-19

การเกิดบ้านเมืองในสมัยประวัติศาสตร์ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12-19 แบ่งจังหวัดปราจีนบุรีออกเป็น 2 ช่วง คือ

ช่วงแรกมีความเจริญรุ่งเรืองและพัฒนาการเป็นบ้านเมืองร่วมสมัยกับกลุ่มบ้านเมืองทวารวดีในบริเวณภาคกลางของประเทศมีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12-16 และช่วงที่ 2 เป็นการอยู่สืบเนื่องต่อจากช่วงแรกแต่สภาพสังคม การเมือง การปกครองได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เชื่อว่าช่วงเวลาดังกล่าวนี้ได้รับวัฒนธรรมเขมรโบราณเข้ามา มีการผสมผสานกับวัฒนธรรมทวารวดีที่เคยรุ่งเรืองมาก่อน

 

ปราจีนบุรีสมัยอยุธยา – ธนบุรี

 

สมัยอยุธยา

ในสมัยอยุธยาปรากฎชื่อเมืองปราจีนบุรีเป็นครั้งแรก ซึ่งคำว่า “ปราจีนบุรี” เป็นคำสมาสเกิดจากคำว่า “ปราจีน” กับคำว่า “บุรี” คำว่า “ปราจีน” หรือ “ปาจีน” หมายความว่าทิศตะวันออก ส่วนคำว่า “บุรี” หมายความว่า “เมือง” รวมแล้วคำว่า “ปราจีนบุรี” หมายถึงเมืองตะวันออก การเขียนชื่อเมืองปราจีนบุรีแตกต่างกันไป เช่น ปราจินบุรี ปราจิณบุรี และปาจีนบุรี แต่ความหมายน่าจะหมายถึงเมืองทางตะวันออกของราชอาณาจักรไทย

ปราจีนบุรีในฐานะหัวเมืองชั้นใน ต้นทิศตะวันออกสันนิษฐานพบว่าในสมัยอยุธยาตอนต้นก่อนการปฏิรูปการปกครองในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. 1991-2031) เมืองปราจีนมีฐานะเป็นเมืองเล็ก ๆ ที่อยู่ใกล้ราชธานีคือกรุงศรีอยุธยา โดยทางกรุงศรีอยุธยาจะส่งขุนนางมาปกครองโดยให้ขึ้นตรงต่อเมืองหลวง และหลังจากการปฏิรูปการปกครองในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแล้ว การปกครองหัวเมืองก็เปลี่ยนไปจากเดิมคือสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แบ่งเป็นหัวเมืองชั้นใน หัวเมืองชั้นนอนก และหัวเมืองประเทศราชและแบ่งหัวเมืองออกเป็นชั้น เอก โท ตรี และจัตวา ทรงลดฐานะหัวเมืองชั้นในคือเมืองลูกหลวงและเมืองหลานหลวงลงมาเป็นเมืองจัตวาภายใต้การปกครองของราชธานี โดยทางราชธานีจะส่งขุนนางมาปกครองและขึ้นตรงต่อเมืองหลวง และขุนนางที่ปกครองหัวเมืองชั้นในเรียกว่า “ผู้รั้ง” เขตที่จัดเป็นหัวเมืองชั้นในมีอาณาบริเวณดังนี้ ทิศเหนือจดเมืองชัยนาท ทิศตะวันออกจดเมืองปราจีน ทิศตะวันตกจดสุพรรณบุรี ทิศใต้จดเมืองกุยบุรี

เมืองปราจีนบุรีหลังการปฏิรูปในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ จึงเป็นหัวเมืองจัตวาขึ้นกับราชธานี ตำแหน่งเจ้าเมืองหรือผู้รั้งมีบรรดาศักดิ์และราชทินนามที่ ออกพระอุไทยธานี

 

เมืองผ่านของเส้นทางเดินทัพไทย – กัมพูชา

จากลักษณะทำเลที่ตั้งของเมืองปราจีน เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ใกล้กับประเทศกัมพูชา เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดปราจีนบุรีในสมัยอยุธยาจึงเป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับสงครามระหว่างสองราชอาณาจักร โดยฝ่ายกัมพูชามักจะเป็นต้นเหตุซึ่งอาจเนื่องมาจากกัมพูชาเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาเป็นราชอาณาจักใหม่จึงไม่ยอมรับอำนาจมากนัก ต่อมาเมื่อกรุงศรีอยุธยามีความเป็นปึกแผ่นมั่นคงและขณะเดียวกันราชอาณาจักกัมพูชากลับเสื่อมโทรมภายในมากขึ้น กัมพูชาจึงยอมรับราชอาณาจักรอยุธยาในฐานเจ้าประเทศราช กษัตริย์ กัมพูชาต้องมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารหลายครั้ง

แต่อย่างไรก็ดี เมื่อกรุงศรีอยุธยามีศึกติดพันกับพม่าหรือมีความอ่อนแอภายใน กัมพูชาก็ถือโอกาสมากวาดต้อนผู้คนตามแนวชายแดนของราชอาณาจักรอยุธยาอย่างเมืองปราจีน สมเด็จพระนเรศวรมหาราชจึงทรงยกทัพไปตีกัมพูชาโดยใช้เส้นทางบก โดยยกทัพหลวงออกจากกรุงศรีอยุธยามาทางตะวันออก ผ่านพิหานแดง (วิหารแดง) บ้านนา เมืองนครนายก ด่านกบแจะ (ประจันตคาม) ด่านหนุมาน (กบินทร์บุรี) ด่านพระปรง (อ.เมืองสระแก้ว) ช่องตะโก ด่านพระจารึกหรือพระจฤต (อรัญประเทศ – ตาพระยา) ตำบลทำนบ อยู่ระหว่างเมืองอรัญประเทศและเมืองพระตะบอง ตำบลเพนียด เมืองประตะบอง เมืองโพธิสัตว์และเมืองละแวก

 

สมัยธนบุรี

ในสมัยธนบุรีได้กล่าวถึงเมืองปราจีนเพียงว่าเป็นเมืองที่อยู่ในเส้นทางเดินทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่ยกทัพจากกรุงศรีอยุธยาไปยังเมืองจันทบุรี กล่าวคือเมื่อ พ.ศ. 2509 ขณะที่กองทัพพม่าล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่นั้น สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเมื่อครั้งเป็นพระยากำแพงเพชรทรงเล็งเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาจะเป็นอันตราย จึงรวบรวมทหารไทย จีน ประมาณ 1,000 คนเศษ พร้อมด้วยอายุธออกไปตั้ง ณ วัดพิชัย พอฝนตกพระยากำแพงเพชรจึงนำกองทัพฝั่งกองทัพพม่าออกมาจากวัดพิชัยเดินทัพต่อไป โดยมีจุดหมายอยู่ที่เมืองจันทบุรี โดยเมืองปราจีนบุรีอยู่ในเส้นทางเดินทัพ ซึ่งตามพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับจันทนุมาศ (เจิม) ได้กล่าวไว้ว่า…เมื่อวันพุธขึ้นแปดค่ำ เดือนยี่ ยกกองทัพมาประทับที่ตำบลหนองไม้ซุงตามทางหลวงนครนายก ประทับรอนแรม 2 วันถึงบ้านนาเริ่ง ออกจากบ้านนาเริ่งวันหนึ่งถึงเมืองปราจีน ข้ามด่านกบและหยุดพักพลหุงอาหาร ณ ฟากตะวันออกแล้วยกข้ามไปจนึถงบ่าย 5 โมง…

 

ปราจีนบุรีสมัยรัตนโกสินทร์

ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมืองปราจีนยังคงเป็นเมืองผ่านของเส้นทางเดินทัพระหว่างไทยกับกัมพูชา มีผู้คนอยู่อาศัยมากขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเมืองขึ้นหลายเมือง เช่น เมืองกบินทร์บุรี เมืองอรัญประเทศ เมืองวัฒนานคร เป็นต้น ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองบางขนากขึ้นส่งผลให้การติดต่อระหว่างเมืองปราจีนบุรีและเมืองพระนครสะดวกรวดเร็วขึ้น

ต่อมาในปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ได้มีพระราชดำริที่จะสร้างป้อมเมืองปราจีน แต่ได้ลงมือสร้างและแล้วเสร็จในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5)

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปราจีนเริ่มมีความสำคัญมากขึ้นตามลำดับ เพราะมีการค้นพบแหล่งทองคำที่เมืองกบินทร์บุรี มีการทำเหมืองทองคำ ต่อมาเมื่อปฏิรูปการปกครองจากระบบกินเมืองเป็นระบบเทศาภิบาล ได้ใช้เมืองปราจีนเป็นที่ว่าการมณฑลปราจีน ส่งผลให้เมืองปราจีนกลายเป็นศูนย์กลางความเจริญในภูมิภาคตะวันออก ครั้นเมื่อได้ย้ายที่ว่าการมณฑลปราจีนไปอยู่ที่เมืองฉะเชิงเทรา ทำให้เมืองปราจีนลดความสำคัญลง ประกอบกับเส้นทางคมนาคมเปลี่ยนไป คือมีการตัดเส้นทางรถไฟจากรุงเทพฯ ถึงเมืองฉะเชิงเทรามีคนจีนไปสร้างหลักแหล่งในฉะเชิงเทรามากขึ้น มีโรงงานน้ำตาล โรงสีข้าว อันส่งผลให้เมืองฉะเชิงเทรากลายเป็นศูนย์กลางความเจริญแทนเมืองปราจีนบุรี

หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ 2475 ได้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการบริหารแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2476 ให้มีตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัดแบบผู้ว่าราชการจังหวัด คณะกรมการจังหวัด และสภาจังหวัด ส่งผลให้มณฑลเทศาภิบาลปราจีนบุรีถูกยกเลิกไป เมืองปราจีนบุรีมีฐานะเป็นจังหวัดปราจีนบุรี

ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2485 รัฐบาลได้ออก “พระราชบัญญัติยุบและรวมการปกครอง บางจังหวัด พุทธศักราช 2485” ให้ยุบและรวมการปกครองจังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดนครนายก จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดนนทบุรี ในส่วนของจังหวัดนครนายกนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับจังหวัดปราจีนบุรีโดยกำหนดไว้ดังนี้

…มาตรา 4 ให้ยุบจังหวัดนครนายกและให้รวมท้องที่ของจังหวัดที่ยุบเข้าไว้ในการปกครองของจังหวัดปราจีนบุรี เว้นแต่ท้องที่อำเภอบ้านนาให้รวมเข้าไว้ในการปกครองของจังหวัดสระบุรี…

การรวมท้องที่บางส่วนของจังหวัดนครนายกไว้ในเขตการปกครองของจังหวัดปราจีนบุรีส่งผลให้จังหวัดปราจีนบุรีที่เดิมมีท้องที่กว้างขวางอยู่แล้ว ให้มีท้องที่กว้างขวางเพิ่มมากขึ้นเกินกำลังจังหวัดจะรับผิดชอบ ทำให้การติดต่อดูแลทุกข์สุขของประชาชนและการปกครองของราษฎรไม่เป็นผลดีเหมือนเมื่อนครนายกเป็นจังหวัดอยู่ กระทรวงมหาดไทยจึงได้เสนอร่างหลักการ “พระราชบัญญัติสถาปนาจังหวัดนครนายก พ.ศ. 2489” โดยได้สอบถามจังหวัดปราจีนบุรีและจังหวัดสระบุรี และในที่สุดรัฐบาลได้ออก “พระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรสาคาร และจังหวัดนครนายก พ.ศ. 2489” โดยระบุในพระราชบัญญัติว่า

…มาตรา 6 ให้แยกอำเภอนครนายก อำเภอองครักษ์ และอำเภอปากพลีออกจากการปกครองของจังหวัดปราจีนบุรี กับให้แยกอำเภอบ้านนาออกจากการปกครองของจังหวัดสระบุรี จัดตั้งเป็นจังหวัดขึ้นเรียกว่าจังหวัดนครนายก…

ต่อมา พ.ศ. 2536 ได้มีการแบ่งเขตพื้นที่การปกครองจังหวัดปราจีนบุรี โดยแยกพื้นที่อำเภอบางอำเภอไปอยู่ในเขตการปกครองของจังหวัดสระแก้ว ซึ่งตั้งขึ้นใหม่ตามพระราชบัญญัติตั้งจังหวัดสระแก้ว พ.ศ. 2536


 

อาณาเขตและการปกครอง

 

 

ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดนครราชสีมา ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดฉะเชิงเทรา ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดสระแก้ว ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดนครนายก

 

จังหวัดปราจีนบุรีแบ่งการปกครองออกเป็น 7 อำเภอ คือ

1.อำเภอเมือง

2.อำเภอบ้านสร้าง

3.อำเภอประจันตคาม

4.อำเภอศรีมโหสถ

5.อำเภอศรีมหาโพธิ

6.อำเภอกบินทร์บุรี

7.อำเภอนาดี

 


ที่ตั้ง ขนาด อาณาเขต

 

ที่ตั้ง ขนาด

จังหวัดปราจีนบุรีตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศไทย อยู่ระหว่างเส้นละติจูดที่ 13 องศา 39 ลิปดา ถึง 14 องศา 27 ลิปดาเหนือ และเส้นลองกิจูดที่ 101 องศา 09 ลิปดา และลองติจูดที่ 102 องศา 07 ลิปดาตะวันออก อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครดังนี้

ตามทางหลวงหมายเลข 33, 1 ปราจีนบุรี – นครนายก – หินกอง – รังสิต – กรุงเทพฯ เป็นระยะทาง 155 กิโลเมตร

ตามทางหลวงหมายเลข 305, 33 ปราจีนบุรี – นครนายก – องครักษ์ – กรุงเทพฯ เป็นระยะทาง 136 กิโลเมตร

ตามทางหลวงหมายเลข 319, 304 ปราจีนบุรี – ฉะเชิงเทรา – กรุงเทพฯ เป็นระยะทาง 158 กิโลเมตร

ทางหลวงหมายเลข 3841 ปราจีนบุรี – บ้านสร้าง – มีนบุรี – กรุงเทพฯ เป็นระยะทาง 100 กิโลเมตร

 

จังหวัดปราจีนบุรี มีพื้นที่ทั้งหมด 4,762.362 ตร.กม. หรือ 2,976,476 ไร่

 

อาณาเขต

ทิศเหนือ ติดต่อกับ จังหวัดนครนายก และจังหวัดนครราชสีมา

ทิศตะวันออก ติดต่อกับ จังหวัดสระแก้ว และจังหวัดนครราชสีมา

ทิศใต้ ติดต่อกับ จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดสระแก้ว

ทิศตะวันตก ติดต่อกับ จังหวัดนครนายก และจังหวัดฉะเชิงเทรา

 


ลักษณะภูมิอากาศและปริมาณน้ำฝน

 

ลักษณะภูมิอากาศ

จังหวัดปราจีนบุรีมีภูมิอากาศร้อนชื้นแถวศูนย์สูตร มีร้อนจัดในฤดูร้อน เนื่องจากได้รับอิทธิพล

จากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และฤดูหนาวจะมีอากาศค่อนข้างหนาวเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงระหว่างปี 2542-2546 จะอยู่ในช่วง 24.62 - 29.42 องศาเซลเซียส โดยมีอุณหภูมิต่ำสุด

เฉลี่ย 14.48 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดวัดได้ 12.2 องศาเซลเซียส เมื่อเดือนธันวาคม 2542 และอุณหภูมิ สูงสุด วัดได้ 39.9 องศาเซลเซียส เมื่อเดือนเมษายน 2545

สำหรับปี 2546 อุณหภูมิต่ำสุดวัดได้ 15.4 องศาเซลเซียส (เดือนธันวาคม) อุณหภูมิสูงสุดวัดได้

39.5 องศาเซลเซียส (เดือนพฤษภาคม)

 

ปริมาณน้ำฝน

ในช่วงระหว่างปี 2542-2546 จังหวัดปราจีนบุรีมีปริมาณน้ำฝน อยู่ในช่วง 1,325.3 – 2,298.8 ม.ม. มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,855.08 ม.ม./ปี และประมาณน้ำฝนเฉลี่ย 154.59 ม.ม./เดือน ฝนตกมากที่สุดในปี 2543 วัดได้ 2,298.8 ม.ม. และมีจำนวนวันที่มีฝนตกเท่ากับ 149 วัน และปริมาณฝนตกน้อยที่สุดในปี 2544 วัดได้ 1,325.3 ม.ม. จำนวนวันที่มีฝนตก

จำนวน 132 วัน

สำหรับปี 2546 มีประมาณน้ำฝน 1,837.7 ม.ม. จำนวนวันที่ฝนตก 123 วัน


 

ขนบทำเนียม ประเพณี วัฒนธรรมและการละเล่นพื้นเมืองจังหวัด

 

จังหวัดปราจีนบุรี มีขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม และการละเล่นพื้นเมืองที่สำคัญ ที่นิยมปฏิบัติสืบทอดกันมา แต่โบราณจนถึงปัจจุบัน คือ

1. งานเทศกาลมาฆปูรมีศรีปราจีน งานนี้จัดขึ้นที่วัดสระมรกต ในบริเวณโบราณสถานสระมรกต อำเภอศรีมโหสถ เป็นระยะเวลา 3 วัน ซึ่งตรงกับวันมาฆบูชาของทุกปี ในงานกิจกรรมหลักคือ การเข้าค่ายพุทธศาสน์และปลูกจิต สำนึกทางศาสนาและวัฒนธรรมของนักเรียน นักศึกษา ระดับมัธยมศึกษาขึ้นไป การประชุมพระภิกษุและพระสังฆาธิการ ในจังหวัด การปฏิบัติธรรมของพระสงฆ์ อุบาสก อุบาสิกา กิจกรรมการเวียนเทียนรอบรอยพระพุทธบาทคู่

2. งานประเพณีการแข่งเรือยาว จัดเป็นงานประจำมาตั้งแต่ พ.ศ. 2528 โดยจัดที่แม่น้ำบางปะกง หรือแม่น้ำปราจีนบุรี บริเวณสะพานณรงค์ดำริ ถึงหน้าวัดหลวงปรีชากูล อำเภอเมืองปราจีนบุรี แต่เดิมมีการแข่งขันเรือเพียง 2 ประเภท คือ ประเภทใบพาย 2 ด้าน ซึ่งมี 15-19 ฝีพาย และแบบ 35 ฝีพาย ต่อมาเมื่อปี 2538 มีการแข่งขัน 4 ประเภท คือ แบบ 15-19 ฝีพาย, แบบ 30 ฝีพาย, แบบ40 ฝีพาย, และแบบ 55 ฝีพาย ผู้ชนะการแข่งขันจะได้รับถ้วยพระราชทาน จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งการแข่งขันได้รับความสนใจจากจังหวัดต่าง ๆ ทั้งภาคเหนืออีสาน และกลาง ได้ส่งเรือมาร่วมแข่งขันกับทางจังหวัดปราจีนบุรี ปกติงานนี้จัดในช่วงเดือนกันยายน หรือเดือนตุลาคม ของทุกปี แล้วแต่ความสูงของระดับน้ำ

3. งานวันเกษตร และของดีเมืองปราจีน จัดที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด ในช่วงเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน ของทุกปี นอกจากเกษตรกรจะนำผลผลิตมาจำหน่ายแล้ว ยังมีกิจกรรมการประกวดต่าง ๆ เช่น การประกวดคุณภาพผลไม้ ผลไม้ที่ใหญ่ที่สุด เช่น ขนุนผลใหญ่ที่สุด ทุเรียนผลใหญ่ที่สุด กระท้อนผลใหญ่ที่สุด ผักยาวที่สุด เช่น บวบ ถั่วฝักยาว ในงานนี้ยังมีขบวนแห่รถที่ประดับตกแต่งด้วยผลิตผลทางการเกษตร และในบางปียังมีการประกวดธิดาเกษตรด้วย

4. งานประเพณีการทำบุญบั้งไฟ งานนี้จัดขึ้นที่วัดต้นโพธิ์ อำเภอศรีมโหสถ ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ซึ่งจัดมา ได้ประมาณ 50 ปีมาแล้วผู้ที่ริเริ่มในการจัด คือ พระครูวิมลโพธิเขต (จำปา ธมมกาโม) เจ้าคณะตำบลโคกปีบ กิจกรรมของงาน ได้แก่ การประกวดจุดบั้งไฟที่ขึ้นนานที่สุด มีการรำเซิ้งบั้งไฟเพื่อขอฝน การประกวดขบวนรำเซิ้ง ซึ่งจะมีคณะกรรมการจากหมู่บ้านต่าง ๆ ในจังหวัดและต่างจังหวัด เช่น สระแก้ว ยโสธร เป็นต้น

5. งานประเพณีลอยกระทง จัดกิจกรรมการลอยกระทงในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปี มาตั้งแต่โบราณการ จนถือเป็นประเพณีสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน การจัดงานประเพณีลอยกระทงของจังหวัดปราจีนบุรี จัดที่ท่าน้ำหน้าที่ว่า การอำเภอเมืองปราจีนบุรี กิจกรรมต่าง ๆ ในงาน ได้แก่ การประกวดกระทงประเภทสวยงามและประเภทความคิด และยังมีการแสดงบนเวทีของหน่วยงานและสถานศึกษาต่าง ๆ


การเดินทาง

 

ทางรถยนต์

จากกรุงเทพฯ สามารถใช้เส้นทางได้หลายเส้นทาง ได้แก่

1. จากกรุงเทพฯ สามารถใช้เส้นทางสายถนนพหลโยธิน พอถึงรังสิตให้ชิดซ้ายโดยใช้สะพานวงแหวนข้ามมาลงที่เส้นทางหลวงหมายเลข 305 เลียบคลองรังสิตผ่านอำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก แล้วให้เข้าเส้นทางหลวงหมายเลข 33 เส้นนครนายก-ปราจีนบุรี พอถึงแยกขวาที่สามแยกหนองชะอมประมาณกิโลเมตรที่ 155 ให้ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 319 ก็จะถึงตัวจังหวัดปราจีนบุรี

2. จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 ไปจนถึงอำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พอถึงประมาณกิโลเมตรที่ 90 ให้เลี้ยวขวาโดยใช้เส้นทางหมายเลข 33 ผ่านอำเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี และจังหวัดนครนายกไปจนถึงประมาณกิโลเมตรที่ 155 ให้แยกขวาที่สามแยกบ้านหนองชะอม เส้นทางหลวงหมายเลข 319 ก็จะถึงตัวเมืองปราจีนบุรี

3. จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมาย 304 ผ่านจังหวัดฉะเชิงเทรา อำเภอพนมสารคาม แล้วให้เข้าเส้นทางหลวงหมายเลข 319 ผ่านอำเภอศรีมโหสถ ก็จะถึงตัวเมืองปราจีนบุรี

 

ทางรถโดยสารประจำทาง

บริษัท ขนส่ง จำกัด มีบริการรถโดยสารประจำทาง ออกจากสถานีขนส่งหมอชิต ถนนกำแพงเพชร 2 ทุกวัน วันละหลายเที่ยว ทั้งรถโดยสารธรรมดา และรถโดยสารปรับอากาศ ติดต่อสอบถาม รายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 936-1972, 936-2841, 936-2852

 

ทางรถไฟ

การรถไฟแห่งประเทศไทย มีบริการขบวนรถไฟสายกรุงเทพฯ-ปราจีนบุรี ออกจากสถานีรถไฟหัวลำโพงทุกวัน ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ หน่วยบริการเดินทาง โทร. 223-7010, 223-7020

ระยะทางจากอำเภอเมืองปราจีนบุรีไปยังอำเภอต่าง ๆ

อำเภอบ้านสร้าง 20 กิโลเมตร

อำเภอศรีมโหสถ 20 กิโลเมตร

อำเภอศรีมหาโพธิ 21 กิโลเมตร

อำเภอประจันตคาม 30 กิโลเมตร

อำเภอกบินทร์บุรี 60 กิโลเมตร

อำเภอนาดี 78 กิโลเมตร

ระยะทางจากจังหวัดปราจีนบุรีไปยังจังหวัดใกล้เคียง

นครนายก 29 กิโลเมตร

ฉะเชิงเทรา 76 กิโลเมตร

สระแก้ว 98 กิโลเมตร

ระยอง 186 กิโลเมตร

นครราชสีมา 194 กิโลเมตร

จันทบุรี 245 กิโลเมตร

นอกจากนั้นที่บริเวณสี่แยกเนินหอมมีรถโดยสารประจำทาง หรือจะเช่ารถไปยังแก่งหินเพิง หรือน้ำตกต่าง ๆ และสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ได้


 

สัญลักษณ์

 

ตราประจำจังหวัดปราจีนบุรี

 

เป็นรูปต้นโพธิ์ศรีมหาโพธิ ปลูกไว้ที่ตำบลโคกปีบ อำเภอศรีมโหสถ เป็นสัญลักษณ์ทางด้านพุทธศาสนาที่เชิดหน้าชูตาของจังหวัดปราจีนบุรี เพราะเชื่อกันว่าเป็นต้นโพธิ์ที่สมณฑูตจากอินเดีย ซึ่งมาเผยแพร่พระศาสนา เมื่อราว พ.ศ. 500 ได้นำพันธุ์มาจากพระศรีมหาโพธิ์ พุทธคยา ประเทศอินเดีย เป็นต้นโพธิ์ที่พระพุทธเจ้าประทับบำเพ็ญธรรมจนสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้นโพธิ์ศรีมหาโพธินี้เป็นที่นับถือบูชากราบไหว้ของราษฎรในท้องที่และต่างท้องที่ และมีการจัดงานนมัสการเป็นประจำทุกปี

 

ธงประจำจังหวัด

 

ขนาดพื้นธง กว้าง 1.50 ม. ยาว 2.25 ม. ลักษณะพื้นธง ตอนต้นมีพื้นสีแดง ซึ่งกำหนดเป็นสีประจำภาค 2 กว้างยาวด้านละ 1.50 ม. มีรูปต้นโพธิ์อยู่ในกรอบวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 85 ซม.

 

ดอกไม้ประจำจังหวัดปราจีนบุรี 

 

ดอกปีป
ชื่อสามัญ Cork Tree
ชื่อวิทยาศาสตร์ Millingtonia hortensis Linn. F.
วงศ์ BIGNONIACEAE
ชื่ออื่น กาซะลอง กาดสะลอง (ภาคเหนือ), เต็กตองโพ่ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), ปีบ (ภาคกลาง)
ลักษณะทั่วไป เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ลำต้นสูงประมาณ 10–20 เมตร เปลือกลำต้นสีเทา ขรุขระ ใบออกเป็นช่อ ลักษณะใบกลมรี ขอบใบเรียบ โคนใบมนใต้ใบเห็นเส้นใบชัดเจน ดอกออกเป็นช่อ ตั้งตรงลักษณะเป็นท่อยาวประมาณ 2–3 นิ้ว สีขาวปนเหลืองขนาด 2 เซนติเมตร ปลายกลีบดอกเป็นแฉก 5 แฉก ตรงกลางดอกมีเกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมืยติดอยู่ด้านในใกล้ปากท่อ ผลมีลักษณะเป็นฝักแบน ภายในมีเมล็ดลักษณะแบน
การขยายพันธุ์ โดยการเพาะเมล็ด และการปักชำ
สภาพที่เหมาะสม ดินร่วนซุย แสงแดดจัด หรือกลางแจ้ง
ถิ่นกำเนิด ไทย, พม่า

ปรับปรุงล่าสุด: 07-06-2021